“End - of - Waste” จุดจบกากอุตสาหกรรม จุดเริ่มต้นวัสดุ - วัตถุดิบเศรษฐกิจหมุนเวียน
“ของเสีย” จากกระบวนการผลิตเมื่อก่อนคือ ขยะที่ต้องนำไปทิ้ง ต่อมาต้องทิ้งขยะไม่ให้สร้างมลพิษ และปัจจุบัน ของเสียเดียวกันนี้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ทั้งในรูปวัตถุดิบใหม่ วัสดุใหม่สำหรับการผลิต หรือแม้แต่พลังงานได้ นั่นคือ แนวคิด End - of - Waste
จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่าในงานสัมมนา แนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจ หมุนเวียนผ่านแนวคิด End - of - Waste ในการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม จัดโดย องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ ว่า
นโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2566 คือ MIND “ใช้หัว และใจ” ในการผลักดันให้ผู้ประกอบการเกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจอย่างสมดุล และยั่งยืน
โดยมีเป้าหมายมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน และภายใต้ความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดการพัฒนานำกากของเสียอุตสาหกรรมไปเพิ่มมูลค่า และพัฒนาต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์และสนับสนุน End - of - Waste หรือการสิ้นสุดของการเป็นของเสียในประเทศไทย เพื่อเกิดใหม่เป็นวัสดุที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานเฉพาะ มีตลาดหรือความต้องการใช้ การใช้งานเป็นไปตามกฎหมาย ที่มีคุณสมบัติทางเทคนิคตามข้อกำหนดไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัยหรือสิ่งแวดล้อมโดยรวม
สำหรับการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่ากากของเสียอุตสาหกรรมให้เป็นวัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อการสิ้นสุดการเป็นของเสีย (End of Waste) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดย ส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากร ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามด้วย END of waste criteria คำนวณค่าการปลดปล่อย คาร์บอนหรือ CO2 และศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน โดยในโครงการนำร่องได้คัดเลือกของเสียที่มีศักยภาพ เช่น ขี้เถ้าแกลบ แม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ รวมถึงปูนพลาสเตอร์ที่ไม่ใช้แล้ว ยิปซัมสังเคราะห์ และอาหาร เช่น ก้างปลาทูน่า
คาร์เมลา เซนเทโน องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) กล่าวว่า การส่งเสริมการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน และสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นอันตราย จากภาคอุตสาหกรรม และชุมชนเมือง ด้วยการประยุกต์ใช้หลักการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรม และชุมชน เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และสารเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1.3 ล้านตันคาร์บอน ,ลดการทิ้งสาร Persistent organic pollutant (POPs) คือ สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน หรือเรียกง่ายๆ ว่าสารพ็อพ ได้ถึง 620 ตัน ซึ่งระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน มีการใช้วัตถุดิบ 65 พันล้านตันต่อปี (22 กก./คน/วัน) และกลายเป็นของเสียได้ 2.12 พันล้านตันทุกปี ในจำนวนี้มีเพียง 7% เท่านั้นที่จะนํากลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้
“การขับเคลื่อนกระบวนการจัดการของเสีย จึงมีความสำคัญต่อการค้า และสามารถสร้างงานได้ 450 ล้านอัตราด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ขาดแคลนให้คุ้มค่า และทำให้ธุรกิจสามารถบรรเทาผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”
ปัทมวรรณ คุณประเสริฐ ผู้อํานวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน กล่าวว่า ภาพรวมการจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ.2565 ของเสียไม่อันตราย 93.8 % (22.12 ล้านตัน) และของเสียอันตราย 6.2 % (1.48 ล้านตัน) สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ได้ 89.7 % ซึ่งอยู่ในรูปวัสดุ 59.8 % เช่น วัตถุดิบทดแทน วัสดุผสมซีเมนต์ สารปรับปรุงคุณภาพดิน และปุ๋ย สามารถคัดแยกเป็นวัตถุดิบ และใช้เป็นพลังงาน 29.4 % ในรูปเชื้อเพลิงผสมกับเชื้อเพลิงทดแทน รวมถึงด้านการส่งออกอีก 0.5 % ที่เหลือเป็นการรีไซเคิลในรูปกำจัดบำบัด และส่วนที่เหลืออีก10.3 % คือ ฝังกลบ และเผา
“เกณฑ์การจัดการของเสียนั้น มีทั้งทางกายภาพดังนี้ 1.สี 2.สถานะ 3.ลักษณะเนื้อสาร และเกณฑ์ลักษณะทางเคมี เช่น องค์ประกอบทางเคมี และการเกิดปฏิกิริยาเคมี เพื่อยืนยันประเภทของเสีย และพิสูจน์ความอันตรายและสารปนเปื้อนก่อนนำไปใช้ประโยชน์ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าวจะกำหนดเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากกากอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน”
พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า เกณฑ์การสิ้นสุดของเสียคือ ข้อกำหนดทั้งหมดที่ต้องปฏิบัติตามโดยวัสดุที่ได้มาจากของเสียซึ่งต้องมั่นใจว่าคุณภาพของวัสดุนั้นทำให้การใช้งานไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ หรือสิ่งแวดล้อม
ท่ามกลางเศรษฐกิจ และธุรกิจที่ต้องการเติบโตในทุกๆ ปี จำเป็นต้องใช้พลังงาน และทรัพยากรเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ในทางตรงกันข้ามทรัพยากรที่ว่านี้กลับลดลงทุกๆ ปี “เกณฑ์สินค้าของเสีย” น่าจะเป็นทางเลือกและทางรอดของอุตสาหกรรมและของโลกสำหรับทุกคน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์