กลไกทางราคา และการเงินกับภาวะโลกร้อน

กลไกทางราคา และการเงินกับภาวะโลกร้อน

การประชุม COP28 ได้จบลงไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลลัพธ์ของการประชุมครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการเริ่มนับถอยหลังของการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ถึงแม้ว่าข้อตกลงจะยังดูค่อนข้างหลวม และภาษาที่ใช้ยังเปิดช่องให้การอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลยังอาจดำเนินต่อไปได้

ผลจากการประเมิน Global Stocktake ที่ได้มีการรายงานในการประชุมCOP28 พบว่าโลกเรายังต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอีก 43% ภายในปี 2030 และบรรลุ net zero carbon ให้ได้ภายในปี 2050 เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามกำหนดโดยสิ่งที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการคือ เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนขึ้นอีก 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานขึ้นอีก 2 เท่า

การประชุม COP28 ได้ให้ความสำคัญกับ Climate Finance เนื่องจากยังจะต้องมีการลงทุนเพื่อการปรับตัว (adaptation) และการลดผลกระทบ (mitigation) ต่อสภาพภูมิอากาศ เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวดังนั้นกลไกทางการเงินมีความจำเป็นอย่างมากโดยรัฐบาล เอกชน และสถาบันการเงิน ต่างมีบทบาทที่สำคัญ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปบทบาทของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และสร้างกลไกนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนเพื่อรับมือกับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

ประเทศไทยเอง ก็มีความตื่นตัวอย่างมากต่อการรับมือกับสภาพภูมิอากาศ ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นเป็นการเฉพาะ และมีแนวทางการเดินไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพลังงาน ดังจะเห็นได้จาก แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศกำหนดว่าภายในปี 2579 จะใช้พลังงานทดแทนเป็น 20% ของกำลังการผลิตไฟฟ้า ในขณะที่แผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกระบุว่า จะมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2579 อย่างไรก็ดี หากดูจากความจำเป็นในปัจจุบัน การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของไทยน่าจะต้องเร่งตัวขึ้นมากกว่านี้

รายงาน Thailand Economic Monitor ของธนาคารโลก ฉบับเดือนธ.ค.2566 ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีบทวิเคราะห์พิเศษเกี่ยวกับมาตรการที่จะมีส่วนสำคัญในการเดินไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือ Carbon Pricing Carbon pricing เป็นกลไกการใช้ราคาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อจูงใจให้มีการปล่อยก๊าซฯ ลดลง กลไกราคาดังกล่าว มีอยู่ 2 รูปแบบที่ใช้กันอยู่คือ1) ภาษีคาร์บอน และ2) ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Emission Trading System: ETS) รายงานธนาคารโลกระบุว่า ณ ปัจจุบันมีการใช้ carbon pricing กับ 23% หรือเกือบ 1 ใน 4 ของก๊าซเรือนกระจกที่ทั่วโลกปล่อยออกมาแล้ว

 

 

 

การจัดเก็บภาษีคาร์บอน เป็นการจัดเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมักจะเกิดการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภค เช่น การจัดเก็บภาษีจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในอัตราที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นได้ หากผู้ผลิตไฟฟ้าไม่สามารถใช้พลังงานทางเลือกในต้นทุนที่เหมาะสมมาทดแทน 

อย่างไรก็ดี การศึกษาของธนาคารโลกพบว่าเมื่อดูในภาพรวมในเชิงเศรษฐกิจมหภาคแล้วราคาของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการจัดเก็บภาษีคาร์บอน จะไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเท่าใดนัก

โดยระบบ ETS นี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศได้ และหากตลาดคาร์บอนเครดิตทำงานได้เต็มที่ การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งสิ่งสำคัญประการหนึ่ง ที่จะทำให้กลไกการใช้ราคาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีประสิทธิภาพ คือ จะต้องมีเทคโนโลยีทางเลือกที่เข้าถึงได้จริง ซึ่งรัฐจำเป็นจะต้องมีมาตรการส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น

รายงานของธนาคารโลกได้ยกตัวอย่างกรณีของบราซิล ซึ่งธนาคารโลกได้ร่วมกับธนาคารรัฐ จัดตั้งโครงการที่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอน และเข้าถึงตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งรัฐบาลบราซิลเล็งเห็นว่ากลไกทางการเงินในรูปแบบนี้ จะมีประโยชน์ต่อ SME ของประเทศเป็นอย่างมาก

ธนาคารโลกได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของการนำcarbon pricing มาใช้ในประเทศไทย และสรุปว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทย จะนำกลไกการใช้ราคาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้ และไม่ว่าประเทศไทยจะเลือกใช้ภาษีคาร์บอน หรือ ETS สิ่งสำคัญคือ จะต้องมีการออกแบบกรอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์