3 ประเด็นสำคัญที่ภาคธุรกิจไทยต้องรู้...จากเวทีโลกร้อน COP28
การประชุม COP28 หรือ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 จัดขึ้นที่รัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. – 12 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา
มีผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกกว่า 85,000 คน ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม ธุรกิจ และองค์กรนานาชาติต่างๆ เป็นจำนวนสูงที่สุดเท่าที่เคยจัดการประชุม COP มาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนในโลกใบนี้ และการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา
นอกจากผลการประชุมที่ปรากฏเป็นข่าวทั่วโลกในการ ‘เปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล’ แล้ว ในช่วง 2 สัปดาห์ของการประชุมมีการประกาศเจตนารมณ์ ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมคู่ขนานของประเทศ ภาคธุรกิจ และองค์กรต่างๆ ได้แสดงให้เห็นแนวโน้ม และประเด็นสำคัญที่ภาคธุรกิจไทยควรให้ความสำคัญ และวางแผนในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น สรุปได้ 3 ประเด็น ดังนี้
1.ความรับผิดชอบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรธุรกิจ สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส จากข้อตกลงระดับโลกมาสู่เป้าหมาย และการดำเนินงานของแต่ละประเทศ จนถึงระดับห่วงโซ่อุปทาน จะขับเคลื่อนให้องค์กรธุรกิจไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็กต้องร่วมแสดงความรับผิดชอบในการลดก๊าซเรือนกระจก ตามข้อตกลงปารีส และเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเราจะได้เห็นมาตรฐาน และแนวปฏิบัติใหม่ๆ เข้ามา ยกตัวอย่างเช่น World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) ได้ใช้เวที COP28 นี้ในการออกแนวปฏิบัติที่เรียกว่า Climate-related Corporate Performance and Accountability System (CPAS) ที่มุ่งเน้นไปที่การกำกับดูแล การประเมินความเสี่ยง และโอกาส การกำหนดเป้าหมายตามหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets) การกำหนดยุทธศาสตร์องค์กร ไปจนถึงการติดตามวัด และรายงานผลการดำเนินงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้
2.การเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจนถึงปัจจุบัน มี 123 ประเทศ ได้ลงนามในคำมั่นสัญญา Global Renewables and Energy Efficiency Pledge โดยตกลงที่จะเพิ่มกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกขึ้น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเฉลี่ยปีต่อปีขึ้น 2 เท่า จากประมาณ 2% เป็นกว่า 4% ทุกปีจนถึงปี 2030 (ประมาณกว่า 30% ระหว่างปี 2030 เทียบกับปี 2022) ทุกองค์กรธุรกิจโดยทั่วไปมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง Scope 1 และ 2 ส่วนใหญ่จากการใช้พลังงานไฟฟ้า และเชื้อเพลิงฟอสซิล ต้องเริ่มพิจารณาตั้งเป้าหมายทั้งการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว
3.การปฏิรูประบบผลิตอาหารและเกษตรกรรม จากการประชุม COP28 ที่ได้มีการประกาศแผนลดก๊าซมีเทนลง 30% ภายในปี 2030 จากปีฐาน 2020 หรือ Global Methane Pledge ซึ่งปัจจุบันมีประเทศลงนามเข้าร่วม 155 ประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นของการดึงภาคเกษตรมามีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก (มีเทนมีแหล่งกำเนิดหลักจากภาคพลังงาน เกษตร และของเสีย) ในการประชุม COP28 ครั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประกาศ Roadmap ในการปฏิรูประบบผลิตอาหารและเกษตรกรรม จากการเป็นผู้ปล่อยสุทธิให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (Carbon Sink) ภายในปี 2050 ให้สามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 1.5 กิกะตันทั่วโลก เป็นทิศทางที่ประเทศผู้ผลิตอาหารอย่างประเทศไทยและธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารต้องหันมาให้ความสำคัญ และปรับตัวในภาคการผลิตที่กระทบต่อเกษตรกรกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก รวมถึงเกษตรกรกว่า 7.7 ล้านครัวเรือนในประเทศไทย และคิดเป็นกว่า 90% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมหรือ Scope 3 ขององค์กรในธุรกิจเกษตร-อาหาร และค้าปลีกโดยทั่วไป
ทั้งสามประเด็นดังกล่าวอาจเป็นเพียงบางส่วนจากการประชุม COP28 ครั้งนี้ ที่ภาคธุรกิจควรตระหนัก และให้ความสำคัญ และนำไปสู่การวางแผนการจัดการก๊าซเรือนกระจกขององค์ให้เป็นหนึ่งเดียวกับการวางแผนทางธุรกิจอย่างเป็นระบบ เพื่อลดผลกระทบ และในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างโอกาส และเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในอนาคตด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์