“CBAM” ส่อขยายวงใช้ในหลายประเทศ เอกชนหา “เกณฑ์กลาง” ห่วงถูกบังคับใช้
ภาวะโลกร้อน จนกลายเป็นโลกเดือดในขณะนี้ กำลังส่งพลังทำลายล้างมาถึงภาคธุรกิจการค้า นำไปสู่ข้อกำหนดทางการค้าด้านต่างๆ ที่กำลังทดลองใช้ และจะใช้จริงจังเร็วๆ นี้ก็คือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู)
โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า มาตรการ CBAM กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็ก และเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และ ไฮโดรเจน ต้องแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาในอียู และปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้านั้น
ในช่วง 3 ปีแรก (ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2566 - 31 ธ.ค.2568) เป็นระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องแจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกไตรมาส (เช่น ในเดือนม.ค.2567 จะต้องแจ้งข้อมูลของช่วงระหว่าง 1 ต.ค.2566 - ธ.ค. 2566)
ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569 ให้แจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกปี และอียูจะเริ่มมาตรการบังคับที่กำหนดให้ ผู้นำเข้าต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น และในอนาคต EU จะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมสินค้าต่างๆ มากขึ้น เช่น สินค้าเคมีภัณฑ์อินทรีย์ และพลาสติก
นอกจาก อียูแล้ว มาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะมีอีกหลายประเทศนำมาใช้ด้วย ได้แก่ สหรัฐ ที่เมื่อเดือนก.ค.2564 และมิ.ย.2565 มีสมาชิกรัฐสภา และวุฒิสภา ได้เสนอร่างกฎหมาย FAIR Transition and Competition Act (FTCA) และ Clean Competition Act (CCA) ตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง เช่น เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเลียม อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ
สหราชอาณาจักร หลังจากได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะเมื่อเดือนมี.ค.- มิ.ย.2566 รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศว่าจะเริ่มใช้มาตรการ CBAM ภายในปี 2570 โดยในเบื้องต้น จะบังคับใช้กับสินค้าในกลุ่มเหล็ก และเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ เซรามิก ปุ๋ย กระจก และไฮโดรเจน โดยจะเริ่มต้นกระบวนการปรึกษาหารือเกี่ยวกับรายละเอียดของมาตรการในปี 2567 ต่อไป
แคนาดา เมื่อเดือนส.ค.2564 - ม.ค.2565 กระทรวงการคลัง และกระทรวงสิ่งแวดล้อมของแคนาดาได้เริ่มกระบวนการปรึกษาหารือภายในประเทศเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม
ออสเตรเลีย เมื่อเดือนก.ย.2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน ประกาศว่าจะเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการ CBAM โดยอาจเริ่มต้นกับ 2 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กกล้า และซีเมนต์ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายให้จัดทำรายงานผลการพิจารณาเรื่องนี้ภายในไตรมาส 3 ของปี 2567
“การเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการ CBAM และข้อแนะนำกับผู้ประกอบการไทย ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามความคืบหน้า และรายงานข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการ CBAM ให้ภาคเอกชนทราบเป็นระยะ”
ปัจจุบัน กฎระเบียบ CBAM ของอียู ยังขาดรายละเอียดในทางปฏิบัติในอีกหลายประเด็น เช่น การรับรองผู้ทวนสอบ (verify) ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคาดว่า ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน จนถึงก่อนที่จะบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2569 อียูคงจะต้องเผยแพร่กฎหมายลำดับรองในเรื่องต่างๆ เพิ่มเติมอีก ซึ่งจะต้องติดตามพัฒนาการในเรื่องนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูป และอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย กล่าวว่า การใช้ CBAM จะมีช่วงเปลี่ยนผ่านอยู่ 2 ปี ในตอนนี้สินค้าที่อยู่ในรายการสามารถขายได้ปกติ แต่ต้องมีการระบุที่มาที่ไปของสินค้า อย่างกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนมีปริมาณมาก-น้อยเท่าไร ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น
“โดยกิจการที่เกี่ยวข้องกำลังหามาตรการกลางที่จะใช้ร่วมกัน อย่างตัวเลขในการปล่อยคาร์บอนถ้ามีการปรับปรุงการผลิตไม่ให้ปล่อยคาร์บอนเกินกว่าปริมาณที่กำหนดควรอยู่ที่เท่าไรมีการปรับอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องมีการพูดคุยเจรจาให้มีมาตรฐานระดับโลกอย่างแท้จริง”
เบื้องต้นบริษัทฝั่งยุโรปที่เป็นเอกชนทำมาตรฐาน เพื่อหาภาพรวมจากหลากหลายประเทศทั่วโลกว่ามีวิธีการอย่างไรเพื่อนำมาใช้เป็นมาตรฐานก่อนนำไปใช้ในทั่วโลกเพื่อให้เกิดเสถียรภาพการใช้งานได้จริงต่อไป
CBAM อาจเป็นเหมือนสัญญาณเตือนให้โลกการค้ารู้ว่า การเปลี่ยนแปลงกำลังเคาะประตูเพื่อให้เปิดรับการปรับตัวใหม่ในอีกความท้าทายที่ว่าด้วยเรื่องการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผู้ประกอบการไทยต้องเข้าใจ และรู้เท่าทัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์