ไฮโดรเจนคืออะไร - ทำไมอยู่ใน CBAM คำถามต่อบทบาทพลังงานแห่งอนาคต
“ไฮโดรเจน” เป็นพลังงานแห่งอนาคตแต่ทำไม “ไฮโดรเจน” จึงอยู่ในรายการสินค้าต้องแจ้งปริมาณการปล่อยคาร์บอนตามมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) นำไปสู่คำถามว่าไฮโดรเจนนั้นเป็นพลังงานสีเขียวโดยแท้จริงหรือไม่
ข้อมูลจาก กระทรวงพลังงาน (พน.) ระบุว่า ไฮโดรเจนเป็นก๊าซชนิดหนึ่ง เป็นธาตุที่เบาที่สุด และเป็นองค์ประกอบของน้ำ (H2O) ที่มีมากที่สุดบนโลก นอกจากนี้ยังเป็นธาตุที่รวมอยู่ในโมเลกุลของสารประกอบอื่นๆ เช่น สารประกอบจําพวกไฮโดรคาร์บอน (HC) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของปิโตรเลียม คุณสมบัติทั่วไปของไฮโดรเจนคือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ติดไฟง่าย มีความสะอาดสูง ไม่เป็นพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถสังเคราะห์ได้จากวัตถุดิบตามธรรมชาติหลากหลายประเภท และเมื่อเกิดการเผาไหม้ ก็จะมีเพียงน้ำ และออกซิเจนเท่านั้นที่เป็นผลพลอยได้ ซึ่งแตกต่างจากเชื้อเพลิงอื่นๆ
ทั้งนี้ เชื้อเพลิงไฮโดรเจนนั้น จำแนกจากชนิดของแหล่งพลังงาน และวิธีในการผลิตไฮโดรเจน โดยกำหนดเป็นสีต่างๆ ดังนี้
1. ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) คือ ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล คิดเป็นประมาณ 95% ของไฮโดรเจนที่ผลิตได้ในปัจจุบันโดยกระบวนการผลิตนี้จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่ชั้นบรรยากาศ
2. ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) คล้ายกับไฮโดรเจนสีเทา แต่มีการดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS: Carbon Capture and Storage) ไฮโดรเจนสีน้ำเงินเป็นทางเลือกที่สะอาดกว่าไฮโดรเจนสีเทาแต่มีราคาแพงเนื่องจากใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน
3. ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับอิเล็กโทรไลซิสในกระบวนการแยกน้ำ (H2O) เป็นไฮโดรเจน (H2) และออกซิเจน (O2)
4. ไฮโดรเจนสีอื่น ๆ เช่น สีเทา สีฟ้า และสีเขียวเป็นสีทั่วไป แต่มีสีดำ สีน้ำตาล สีแดง สีชมพู สีเหลือง สีเขียวขุ่น และสีขาว เป็นสีสำหรับ Molecular Hydrogen (H2) ที่ผลิตจากแหล่งพลังงาน และกระบวนการผลิตอื่น ตัวอย่างเช่น ไฮโดรเจนสีดำ และสีน้ำตาลเป็นไฮโดรเจนสีเทาที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยไฮโดรเจนสีดำคือ การใช้ถ่านหินบิทูมินัส ส่วนไฮโดรเจนสีน้ำตาลคือ การใช้ถ่านหินลิกไนต์ ผ่านกระบวนการ Gasification process เพื่อการผลิตไฮโดรเจน เป็นต้น
สำหรับวิธีการผลิตไฮโดรเจนในประเทศไทยมีแหล่งที่มาจากเชื้อเพลิง 3 ประเภท 1. ก๊าซธรรมชาติ ผ่านกระบวนการ Steam reforming จัดอยู่ในประเภท Grey Hydrogen 2. พลังงานทดแทน ผ่านกระบวนการ Electrolysis จัดอยู่ในประเภท Green Hydrogenและ 3. ไบโอแก๊ส/ไบโอแมสผ่านกระบวนการ Decomposition จัดอยู่ในประเภท Bio Hydrogen
อโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการ สำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ไฮโดรเจนที่ CBAM ครอบคลุมนั้น ถ้าดูจากหมายเลขพิกัดสินค้าคือ กลุ่มเคมีภัณฑ์ และค่า Embedded Emission ซึ่งเน้นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่สูง ซึ่งในกระบวนการผลิตไฮโดรเจนนั้นมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนอีกด้วยอย่างไฮโดรเจนสีเทาและสีน้ำเงิน ซึ่งผลิตมาจากกลุ่มปิโตรเคมี แต่เมื่อเทียบกับการปล่อยคาร์บอนกับพลังงานอื่นๆ ซึ่งถือว่าน้อยมาก ซึ่งในต่างประเทศนั้นไม่ได้ใช้เป็นพลังงานทดแทนเพียงอย่างเดียว แต่ถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย จึงเป็นที่มาของการเก็บภาษีใน CBAM
“สำหรับประเทศไทยนั้นไม่มีนโยบายการส่งออกไฮโดรเจนไปยังยุโรปเลยจึงไม่ใช่ปัญหาที่น่ากังวลเกี่ยวกับภาษีคาร์บอนเหล่านี้มากที่ควร”
อย่างไรก็ตาม ไทยมีความพยายามในการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนที่สะอาดอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุถึงนโยบายส่งเสริมพลังงานไฮโดรเจน โดยมีทั้งหน่วยงานที่ออกประกาศส่งเสริมพลังงานไฮโดรเจนไปแล้ว และหน่วยงานที่อยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อออกนโยบาย เช่น 1.การผลิตไฮโดรเจนจากน้ำ ที่ต้องมีการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) และไฟฟ้าที่ใช้ต้องมาจากพลังงานหมุนเวียน 2.การผลิตไฮโดรเจน จากไฮโดรคาร์บอน ต้องมีการใช้เทคโนโลยี CCS และ/หรือCCU จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
ความพยายามเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานยังต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน “ไฮโดรเจน” แม้จะมีคุณสมบัติเฉพาะคือ ไม่ปล่อยของเสียหรือก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้ แต่แหล่งที่มาอาจเป็นกระบวนการที่ปล่อยก๊าซ และของเสียอย่างสูงจนต้องอยู่ในบัญชีCBAM ก็เป็นได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์