'RE.UNIQLO' สร้างคุณค่าเสื้อผ้าเก่า ตอบโจทย์ 3 เป้าหมาย SDGs
'ยูนิโคล่' เดินหน้า โครงการ RE.UNIQLO ผ่าน 4 ปณิธาน Reuse – Recycle - Repair – Remake พร้อมตั้งเป้าส่งต่อเสื้อบริจาคสภาพดีให้ผู้ที่ขาดแคลน 50,000 ชิ้น ในปี 2567
Key Point :
- ยูนิโคล่ ประเทศไทย เดินหน้าโครงการ RE.UNIQLO มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว มีจุดประสงค์ในการผลักดันการใช้เสื้อผ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดอายุการใช้งาน
- ที่ผ่านมา มีการบริจาคเสื้อผ้าให้กับองค์กรการกุศลเพื่อส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการแล้วกว่า 200,000 ตัว โดยในปี 2566 ต่อยอดการบริจาคเสื้อกันหนาว 50,000 ตัว เพื่อช่วยผู้ประสบภัยหนาว มีผู้บริจาคทั้งหมดกว่า 94,155 ตัว คัดเลือกส่งต่อไปแล้วกว่า 24,000 ชิ้น
- ในปี 2567 ยูนิโคล่ ยังคงเดินหน้าโครงการ RE.UNIQLO อย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าส่งต่อเสื้อผ้า 50,000 ชิ้น และชวนลูกค้ายูนิโคล่ ตกแต่ง ซ่อมแซมเสื้อตัวเก่าให้กลายเป็นตัวใหม่ ผ่าน RE.UNIQLO STUDIO
ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่คนยุคใหม่ให้ความสนใจในปัจจุบัน ทำให้กระแส Fast Fashion กลายเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ต้องออกสินค้าใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ และต้องมองเรื่องของความยั่งยืน ทำอย่างไรให้การซื้อเสื้อผ้าในแต่ละครั้ง สามารถใช้ได้นานและไม่ถูกทิ้งเป็นขยะ รวมถึงการส่งต่อ ซ่อมแซม เพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำ
ข้อมูลจาก กรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ ปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สูงราว 1.2 พันล้านตันในทุกๆ ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นต์ของเที่ยวบินระหว่างประเทศและการขนส่งรวมกัน นอกเหนือจากผลกระทบการผลิตสิ่งทอแล้ว ยังมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น ๆ คือ การซักเสื้อผ้าและวิธีการทิ้งเสื้อผ้า ซึ่งก็คือมีการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.3 พันล้านตันในทุกๆ ปี หรือเท่ากับร้อยละ 8 ของการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ทั่วโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- แฟชั่นมือ 2 อนาคตธุรกิจใหม่ ไลฟ์สไตล์ความยั่งยืนแบบฉบับคน’รักษ์โลก’
- "แฟชั่นกับความยั่งยืน" เริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงที่"ตัวเอง"
- ตลาด ‘แฟชั่นมือสอง’ พุ่ง 1.8 พันล้านบาท
สร้างคุณค่าใหม่ ให้เสื้อผ้าเก่า
'บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด' บริษัทโฮลดิ้งด้านการค้าปลีกมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 1 ใน 8 แบรนด์ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ UNIQLO (ยูนิโคล่) และแบรนด์อื่นๆ ได้แก่ GU , Theory , PLST (Plus T) , Comptoir des Cotonniers , Princesse tam.tam , J Brand และ Helmut Lang ที่ผ่านมา มีการเดินหน้าพัฒนา Life Wear ไปสู่อุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ที่ต้องการผลิตเสื้อผ้าด้วยความเรียบง่าย คุณภาพดี และใช้งานได้นาน รวมถึงตั้งเป้าการบริจาคเสื้อผ้าทั่วโลกไว้ที่ 10 ล้านตัวต่อปี ภายในปี 2568 ผ่าน โครงการ RE.UNIQLO
สำหรับ ยูนิโคล่ ประเทศไทย ได้ร่วมโครงการ RE.UNIQLO ตั้งแต่ปี 2558 นับเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว มีจุดประสงค์ในการผลักดันการใช้เสื้อผ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดอายุการใช้งาน ตอกย้ำพันธกิจในการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยตั้งอยู่บนปณิธาน 4 ข้อ ได้แก่
Reuse – การใช้ซ้ำโดยบริจาคเสื้อผ้าที่ใช้แล้วสภาพดีให้กับผู้ที่ขาดแคลน
Recycle – แปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบสำหรับการผลิตเสื้อผ้าตัวใหม่
Repair – การซ่อมแซมเสื้อผ้าตัวโปรดให้กลับมาใช้งานได้อย่างยาวนาน
Remake – การแปลงโฉม และตกแต่งลูกเล่นบนเสื้อผ้าอย่างมีสไตล์
'เขมจิรา เทศประทีป' ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) กล่าวในงานแถลงข่าวผลสรุปแคมเปญ RE.UNIQLO และกิจกรรมด้านความยั่งยืนของ ยูนิโคล่ในปี 2567 ว่า ที่ผ่านมา ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) มีการบริจาคเสื้อผ้าให้กับองค์กรการกุศลเพื่อส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการแล้วกว่า 200,000 ตัว
ในปี 2566 ต่อยอดสู่โครงการ RE.UNIQLO 50,000 Warm Clothes หรือ การบริจาคเสื้อกันหนาว 50,000 ตัว เพื่อช่วยผู้ประสบภัยหนาว เพื่อส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการผ่านความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร ได้แก่ มูลนิธิกระจกเงา เน้นกลุ่มเปราะบางในภาคเหนือ , มูลนิธิบ้านร่มไทร เน้นเด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ กลุ่มชาติพันธุ์ และ UNHCR ประเทศไทย เป้าหมายคือผู้ลี้ภัยซึ่งมีค่ายอยู่ที่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน
ผ่านการรวบรวมเสื้อผ้ากันหนาวทั้งจากภายในองค์กรจากพนักงานยูนิโคล่ทั้งที่ร้านสาขาและสำนักงานใหญ่ และภายนอกองค์กร ได้แก่ การตั้งกล่องบริจาคจากลูกค้าที่ร้านยูนิโคล่ทุกสาขา และการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน ที่อยู่อาศัย ในการตั้งกล่องบริจาคเพิ่มเติมอีกด้วย
“ยอดบริจาคนับถึงปลายเดือนธันวาคม 2566 มีผู้บริจาคเสื้อผ้าทั้งหมดกว่า 94,155 ตัว ซึ่งสูงกว่าการบริจาคเสื้อผ้าในปี 2565 กว่า 4 เท่า และในจำนวนนี้ ยูนิโคล่ ได้คัดแยกเสื้อกันหนาว เสื้อแขนยาว และเสื้อผ้าประเภทอื่นๆ ที่อยู่ในสภาพดี ส่งมอบต่อให้ผู้ที่ขาดแคลนแล้วกว่า 24,000 ชิ้น โดยตั้งเป้าบริจาคเสื้อผ้าให้ครบ 50,000 ชิ้นภายในต้น ปี 2567”
เดินหน้า RE.UNIQLO ปี 2567
ทั้งนี้ ในปี 2567 นี้ ยูนิโคล่ ยังคงเดินหน้ากิจกรรมด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายในการทำให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนไทยดียิ่งขึ้น
เขมจิรา กล่าวต่อไปว่า RE.UNIQLO ซึ่งถือเป็นโครงการหลักของยูนิโคล่ ในปี 2567 นี้ นอกจากเรื่องของ Reuse การนำเสื้อผ้ากลับมาใช้ใหม่แล้ว ยูนิโคล่ ยังให้ความสำคัญกับ Recycle Repair และ Remake มากยิ่งขึ้น ในส่วน Reuse ยังคงเดินหน้ารวบรวมเสื้อกันหนาว เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยผ่านพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ เสื้อผ้าที่ได้รับบริจาคมาแต่ไม่สามารถใช้ต่อได้จะถูกนำมา Recycle เป็นเชื้อเพลิง หรือนำเศษผ้าบางส่วนมาพัฒนาเป็นเสื้อตัวใหม่
“สำหรับ Repair และ Remake ยูนิโคล่ ได้มีการเปิด RE.UNIQLO STUDIO สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมา โดยมีบริการตกแต่ง การปัก และซ่อมแซม พร้อมเดินหน้าสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางต่างๆ ของยูนิโคล่ รวมถึงการทำเวิร์กช้อปกับลูกค้าในอนาคต เรามีความตั้งใจที่จะยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้าให้ได้นานที่สุด สร้างสังคมที่มีการนำเสื้อผ้ากลับมาใช้ใหม่ กลับมาซ่อมแซม ลดการเกิดขยะ และช่วยเหลือสังคม” เขมจิรา กล่าว
3 เป้าหมาย SDGs
ทั้งนี้ กิจกรรมด้านความยั่งยืนของ ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) โดยเน้นที่ 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่
เป้าหมายที่ 3 – สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย
เป้าหมายที่ 14 – อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
และ เป้าหมายที่ 15 – ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
'LifeWear' ผลิตตามความต้องการ
ในขณะที่กระแส Fast Fashion กำลังถูกพูดถึงและถูกตั้งคำถามในวงการแฟชั่นในด้านของความยั่งยืน 'เขมจิรา' มองว่า เรื่องของความยั่งยืน มาแรงในปีที่ผ่านมา แบรนด์เสื้อผ้าเองก็มีการเล็งเห็นความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ยูนิโคล่ พยายามตอบโจทย์เทรนด์ดังกล่าว โดยการผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้า ทำโครงการ RE.UNIQLO และทำอย่างไรในการรวบรวมเสียงตอบรับของลูกค้า เพื่อผลิตสินค้าในครั้งถัดๆ ไป
“สินค้ายูนิโคล่ เป็นสินค้า LifeWear ซึ่งผลิตมาตอบโจทย์ตามความต้องการลูกค้า มีความเรียบง่าย หยิบมาใช้ได้บ่อย มีความละเอียดในการผลิต เช่น เสื้อแจ็กเก็ตมีช่องสอดนิ้ว เพราะเรารู้ว่าลูกค้าต้องการแบบนี้ เพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้นาน ดังนั้น เราไม่ได้มองว่าเราเป็น Fast Fashion แต่มองว่าเป็น LifeWear คือ เสื้อผ้าที่ถูกออกแบบให้ผู้สวมใส่ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยคำนึงถึงความต้องการในชีวิตประจำวัน"