ทำความรู้จัก 'รุกขกร' ผู้พิทักษ์ต้นไม้ ในเขตเมือง
รู้จัก 'รุกขกร' ผู้ปฏิบัติงานด้าน 'รุกขกรรม' ที่ไม่ใช่แค่การดูแลต้นไม้เท่านั้น แต่ยังต้องมีความเชี่ยวชาญ คัดเลือกต้นไม้ ดูแลรักษา ประเมินความเสี่ยง ความปลอดภัยของชุมชน และสาธารณูปโภค เพื่อพื้นที่สีเขียวคุณภาพ
Key Point :
- การสร้างพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้จำนวนมากๆ เท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงชนิดที่นำมาปลูก เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการดูแลรักษาระยะยาว
- อาชีพ รุกขกร ซึ่งทำงานในด้านรุกขกรรม จึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลต้นไม้โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ให้สมบูรณ์ และปลอดภัยทั้งต่อต้นไม้และประชาชน
- ปัจจุบัน หลายหน่วยงานหันมาให้ความสำคัญกับรุกขกร มากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะภาครัฐ และเอกชน เพื่อการสร้างพื้นที่สีเขียวให้ได้มาตรฐาน และยั่งยืน
การดูแลต้นไม้ในเมืองใหญ่ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงแค่การรดน้ำ ตัดแต่งกิ่งเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงตั้งแต่การเลือกประเภท การดูแล รักษา เพื่อให้พื้นที่สีเขียวมีความสมบูรณ์ ความปลอดภัยต่อประชาชน และผู้ปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น อาชีพ 'รุกขกร' จึงมีบทบาทสำคัญ ขณะเดียวกัน ผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ หรือ Tree Worker ยังเป็นอาชีพที่เสี่ยง 1 ใน 5 ของโลก
ในประเทศที่มีต้นไม้อุดมสมบูรณ์แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ เรียกได้ว่า ลงทุนพื้นที่สีเขียว และมีกฎหมายที่แข็งแรง การที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์จะพัฒนาพื้นที่ นอกจากจะต้องเว้นทางเท้าแล้ว ยังต้องเว้นพื้นที่ด้านหน้าสำหรับพื้นที่สีเขียว มีรุกขกรสำรวจพื้นที่ก่อนขึ้นผัง และประเมินต้นไม้ โดยที่ผ่านมา สิงคโปร์มีการลงทุนมหาศาลในการล้อมย้ายต้นจามจุรียักษ์ทั้งต้นด้วยสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ศัลยกรรมต้นไม้(รุกขกร) ทางเลือกดูแลไม้ใหญ่
- สร้างมาตรฐาน “รุกขกรไทย” นักศัลยกรรมต้นไม้ ในเขตเมือง
- เมื่อ"เมือง" ไม่เชื่อมต่อ “พื้นที่สีเขียว” ต้องคิดใหม่อย่างไรดี
อาชีพ 'รุกขกร' ของไทย
ชนัตฎา ดำเงิน ในฐานะ รุกขกรอิสระ ซึ่งอยู่ในเส้นทางนี้มากว่า 8 ปี ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า งานของรุกขกร จะเรียกว่า รุกขกรรม เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกชนิด การปลูก การดูแลรักษาต้นไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ในเขตเมือง ครอบคลุมไม้เลื้อย ไม้พุ่ม ความรู้ด้านรุกขกรรมจะบูรณาการหลายสาขาเข้าด้วยกัน ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับงานรุกขกรรม จะเรียกว่า 'รุกขกร'
สำหรับในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ รุกขกร และ ผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ (Tree worker climber specialist) สามารถสอบรับรองได้ 2 หน่วยงาน คือ “สมาคมรุกขกรรมไทย” ซึ่งมีผู้ผ่านการรับรองแล้วประมาณ 120 คน และ “สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ” ซึ่งจะเปิดให้สอบเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ยังมีการสอบจาก สมาคมรุกขกรรมนานาชาติ (ISA) โดยมีรุกขกรที่ผ่านการรับรองระดับนานาชาติในประเทศไทยราว 4 คน
Tree Worker อาชีพเสี่ยง Top5
ปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่ที่รักต้นไม้ เริ่มทำงานร่วมกับรุกขกรมากยิ่งขึ้น เพราะมีความรู้ในการดูแลต้นไม้ที่ถูกต้อง และเหนือสิ่งอื่นใด เป็นเรื่องของความปลอดภัยของการทำงาน
“งานด้านต้นไม้ Tree Worker ถือเป็นงานเสี่ยง 1 ใน 5 ของโลก ที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด จากการทำงานที่ไม่ปลอดภัย เพราะฉะนั้น คนที่ขึ้นไปตัดต้นไม้จึงต้องมีมาตรฐาน เพราะไม่ใช่แค่การตัดต้นไม้ถูกต้อง สวยงาม หลักๆ คือ การทำงานอย่างมีมาตรฐานเป็นเรื่องของความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานด้วย รวมถึง ต้องมีรุกขกรไปวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงต่อคนในพื้นที่”
ทั้งนี้ หน้าที่ของรุกขกร เรียกว่า ดูแลตั้งแต่เริ่มต้นไม่ว่าจะเป็นการปลูก คัดเลือกชนิด ไปจนถึงการดูแลเรื่องความปลอดภัยของต้นไม้ พื้นที่สาธารณะ และสาธารณูปโภค ชนัตฎา กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่เห็นหลักๆ คือ การตัดแต่งผิดวิธี ตัดกุดไม่เหลือใบ โดยเฉพาะต้นไม้ตามแนวสายไฟ ทำให้เกิด 2 กรณี คือ หากต้นไม้ไม่แข็งแรงจะยืนต้นตาย แต่หากต้นไม้ที่แข็งแรง ตัดแล้วแตกใบออกมาก็จริง แต่จะเป็นกิ่งกระโดง เป็นกิ่งที่งอกออกมาจากตาที่ผิวเปลือก
เวลาโตเนื้อไม้จะไม่เชื่อมติดกัน มีโอกาสฉีก หัก ลงมาได้ง่ายมากกว่ากิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เหมือนการเพิ่มระเบิดเวลาในอนาคต แผลการตัดที่ไม่ถูกวิธี จะส่งผลทำให้เนื้อไม้ไม่สามารถสมานแผลเองได้ เริ่มผุ และลามไปเนื้อไม้ ระยะเวลานาน จะผุลุกลามไปถึงโคนลำต้น เป็นที่มาว่าทำไมต้นไม้ที่อายุเยอะ เวลาล้มข้างในจึงเป็นโพรง
“ดังนั้น อาจจะต้องเปลี่ยนจากต้นไม้ใหญ่ เป็นไม้พุ่มกลาง สูงไม่เกิน 3-5 เมตร เพื่อการบริหารจัดการต้นไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และต้นไม้ยังคงสร้างร่มเงา และทัศนียภาพที่ดีให้กับพื้นที่”
สังเกตต้นไม้เบื้องต้น
สำหรับการประเมินความเสี่ยงของต้นไม้เบื้องต้น ชนัตฎา อธิบายว่า ต้นไม้ต้องแยกเรื่องของ สุขภาพ และความแข็งแรง ออกจากกัน เพราะบางต้นใบยังเขียวครึ้มแต่ลำต้นข้างในเป็นโพรง จะเรียกว่า “ต้นไม้สุขภาพดี แต่ไม่แข็งแรง” ขณะที่บางต้นไม่มีรอยผุ ลำต้นแน่นมาก แต่ใบน้อย ใบเหลือง แปลว่า “ต้นไม้แข็งแรง แต่สุขภาพไม่ดี”
การประเมินความเสี่ยงทำให้แยกระดับความเสี่ยงได้ ดังนี้ เสี่ยงต่ำ ต้องจัดการภายใน 6-12 เดือน , เสี่ยงปานกลาง ต้องจัดการภายใน 3-6 เดือน , เสี่ยงสูง ต้องจัดการภายใน 1 เดือน และเสี่ยงสูงมาก ต้องจัดการทันที จะทำให้เราสามารถบริหารจัดการต้นไม้ในพื้นที่ได้ในระยะเวลาจำกัด และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสมาคมรุกขกรรมไทย มีการเผยแพร่ความรู้ เปิดอบรมให้ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจ สามารถประเมินต้นไม้ที่บ้านตนเอง หรือต้นไม้สาธารณะที่หน้าบ้านตนเองเบื้องต้นได้
สำหรับประชาชน ที่ต้องการคำปรึกษาจากรุกขกร ปัจจุบัน สมาคมรุกขกรรมไทย มีการเก็บรวบรวมข้อมูลรุกขกรที่ได้รับใบอนุญาตสังกัดบริษัทต่างๆ ไว้ หากประชาชนสนใจ อยากให้รุกขกรดูแลต้นไม้ สามารถสอบถามไปยังสมาคมรุกขกรรมไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่า บริษัทที่เราเลือก มีรุกขกรที่ได้รับการรับรอง
ทั้งนี้ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา สำนักสิ่งแวดล้อม สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ (Big Trees Foundation) ได้ฟื้นฟูต้นจามจุรีต้นไม้ดั้งเดิมที่สวนเบญจกิติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และคณะผู้จัดงาน Sustainability Expo (SX) ที่มีเป้าหมายดูแลสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ทำให้ต้นจามจุรีเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 100 ปีที่ผิดปกติ ได้ฟื้นคืนกลับมาแข็งแรง กลับมาเป็นปอดใจกลางกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศในเมืองได้
รุกขกร ระดับนานาชาติ
สมาคมรุกขกรรมนานาชาติ (ISA) จะแบ่งรุกขกรเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1.รุกขกรเขตเมือง ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการต้นไม้ในที่สาธารณะ
2.รุกขกรสาธารณูปโภค ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลต้นไม้ใต้แนวสายไฟโดยเฉพาะ
3.รุกขกรผู้เชี่ยวชาญ สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ค่อนข้างลึก มีความสามารถในการบริหารจัดการและกำหนดนโยบายการจัดการต้นไม้ตามหลักรุกขกรรมได้
4.รุกขกรผู้ประเมินความเสี่ยงต้นไม้ วิเคราะห์ ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับต้นไม้ ความรุนแรง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงแนะนำวิธีการแก้ปัญหา
และ 5.ผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ หรือ (Tree Worker Climber Specialist) ทำหน้าที่ตัดแต่ง รักษาโรค ติดตั้งสายล่อฟ้าด้วยวิธีการถูกต้อง และปลอดภัย โดยมีระบบเชือกหรือเครนเข้ามาช่วยเพื่อให้การปฏิบัติการปลอดภัยและสะดวก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์