ขยะแม่น้ำเจ้าพระยาปัญหาใหญ่ กฎหมายแก้ไม่ได้
ประเทศไทยมีขยะมากถึง 25.70 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่ขยะถูกปล่อยลงในแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ คลอง รวมถึงทะเล ขยะเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งสัตว์น้ำรวมถึงสุขอนามัยของประชาชน
แม้ว่าตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 26 และมาตรา 31 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ว่าด้วยเรื่องการทิ้งขยะในที่สาธารณะ ต่างระบุว่าผู้ใดทิ้งขยะในที่หรือทางสาธารณะ ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย มีโทษทั้งจำทั้งปรับทิ้งขยะลงพื้น / ถ่มน้ำลาย / ทิ้งก้นบุหรี่ / คายหมากฝรั่งลงพื้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 26 และมาตรา 31 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ส่วนการทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง เกิดปฏิกูลแก่น้ำในบ่อ สระ หรือที่ขังน้ำอันมีไว้สำหรับประชาชนใช้สอย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 380
ทั้งข้อกฎหมาย และบทลงโทษการทิ้งขยะจะมีเนื้อหา ฐานความผิดและบทลงโทษที่ชัดเจน แต่ปัญหาขยะในประเทศไทยก็ยังน่าเป็นห่วงจนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข
ธีโบต์ ซาลวน ผู้ร่วมก่อตั้ง มูลนิธิ Ocean For All กล่าวในงานแอกซ่าประกันภัยจับมือมูลนิธิ Oceans For All และโรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ รีสอร์ท รวมพลังฟื้นฟูระบบนิเวศทางน้ำว่ามูลนิธิOcean For All ซึ่งมีจุดประสงค์ ในการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ด้วยวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ การฟื้นฟู การศึกษา และการอนุรักษ์เพื่อการปกป้องดูแลระบบนิเวศทางธรรมชาติและชุมชน โดยมีโครงการ “LICENCE TO CLEAN” ที่สร้างเรือขึ้นจากวัสดุรีไซเคิล 100% และออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถเก็บขยะในแม่น้ำและทะเล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูระบบนิเวศของแม่น้ำเจ้าพระยา และทะเลในภูเก็ต ซึ่งภารกิจการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพทางน้ำได้อย่างยั่งยืน
โดยเรือมีออกแบบ และสร้างโดยโกด เปอตีต์ และปีเตอร์ จาคอปส์ คลอดด์ เป็นนักออกแบบทางทะเลจากลักเซมเบิร์กซึ่งประจำอยู่ที่ภูเก็ต ได้ออกแบบเรือสำหรับอู่ต่อเรือในประเทศไทย และอินโดนีเซีย ซึ่งเรือทำจากพอลิเอทิลีนเทอร์โมพลาสติกความหนาแน่นสูงหรือพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE)คือ พลาสติกที่ใช้ทำขวดสามารถรีไซเคิลได้ 100% และเป็นพลาสติกที่มักถูกรวบรวมระหว่างการเก็บขยะจากชายหาด โดย HDPE มีความแข็งอย่างมากรวมถึงมีต้นทุนอยู่ที่ 4 แสนบาท โดยมีเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่ปล่อยคาร์บอนน้อยในการขับเคลื่อน โดยเรือสามารถเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาได้จำนวน 60-80 ลิตรต่อวัน ซึ่งส่วนมาก ขยะที่เก็บได้ในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็น ขวดพลาสติก และเศษโฟมต่างๆ ทางโรงแรม อนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ รีสอร์ท จะเป็นตัวกลางในการนำขยะไปรีไซเคิลต่อไป
สอดคล้องกับข้อมูลที่ระบุว่า ขยะทะเลในปี 2564 สามารถจัดเก็บขยะที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งรวมทั้งสิ้น 443,987 กิโลกรัมขยะที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงพลาสติก เศษโฟม ขวดเครื่องดื่มแก้ว นอกจากนี้พบขยะที่ไหลผ่านทางแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุด จำนวนเฉลี่ย 52.65 ล้านชิ้น/ปี
โคลด เซนย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขยะในแม่น้ำเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาอย่างมากในปัจจุบัน การร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ คลองในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลในเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาอาศัยแหล่งน้ำเหล่านี้ในการดำรงชีวิตอีกด้วย รวมถึงมีส่วนร่วมในการกำจัดของเสีย และมลพิษ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แหล่งน้ำคงสภาพที่สะอาด และดีต่อสุขภาพของชุมชนมากขึ้น
ไมเคิล โรบินสัน ผู้จัดการทั่วไป โรงแรม อนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ รีสอร์ท กล่าวว่า การมอบความสะดวกในการเทียบท่าเรือ ซึ่งเรือดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างยั่งยืน
ข้อมูลระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก มากถึง 1 ล้านตันต่อปี ทำให้ไม่ต้องสงสัยว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขยะได้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล และแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่มีน้ำหนักเบา และไม่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาอันสั้นจึงถูกพัดพาไปในที่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิด
โดยคลื่น ลม กระแสน้ำ และน้ำขึ้น-น้ำลง เกิดเป็นขยะพลาสติก ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล และระบบนิเวศในท้องทะเล ซึ่งจะสะท้อนกลับมาเป็นปัญหาบนโต๊ะอาหารของคนไทยต่อไปหากยังไม่ร่วมกันแก้ไข
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์