"การมูแบบใหม่แบบสับ" ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ในปัจจุบันการ"มู"ก็เป็นที่พึ่งทางใจและทำให้ผู้คนมีความมั่นใจมากขึ้น ทั้งจากการดูดวง หรือมูเตลูก็ตาม แต่การมูนั้นก็ยังทำให้เกิดผลเสีย โดยเฉพาะปลายทางมันที่กำลังสร้างขยะและมลภาวะที่ไม่จบไม่สิ้น
Key point:
- ขยะจากมูจากมากไปน้อยคือ 1.ดอกไม้ 2.ธูปและพลาสติก 3.ขยะจากอาหาร (Food Waste)
- “MU-Cycle” แคมเปญที่ช่วยปรับมุมมองใหม่ ให้ใส่ใจในสิ่งรอบตัว ลดขยะ แถมยังเอาไปต่อยอดสร้างประโยชน์ สร้างรายได้ให้กับคนชุมชน
- เปลี่ยนมุมมองผ่านการมู เริ่มจากตัวเองก่อน ก็คือการไม่จุดธูป ลาของไหว้กลับ ลาดอกไม้แล้วส่งไปทำประโยชน์ต่อ หรือทิ้งลงถังให้ถูกสี
พาขวัญ ดวงน้อย Content Manager แบรนด์ปันดวง ในเครือบริษัท ปันโปรโมชั่น จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ขยะสายมูลในปี 2566-2567 ใน 45 พิกัดสายมู จะพบเห็นว่าขยะจากดอกไม้เป็นอันดับ 1 รองลงมาคือธูปและพลาสติก และรวมถึงขยะจากอาหาร (Food Waste) มากที่สุด ที่มาจากหลังงานบุญ งานกฐินในโอกาสต่างๆ ซึ่งโดยภาพรวมนั้นไม่ว่าจะรูปแบบไหน สุดท้ายก็กลายเป็นขยะ
ซึ่งแคมเปญ “MU-Cycle” หรือ “มูมิตรสิ่งแวดล้อม” เป็นแคมเปญที่ช่วยปรับมุมมองใหม่ ให้ใส่ใจในสิ่งรอบตัวมากขึ้น ลดขยะ แถมยังเอาไปต่อยอดสร้างประโยชน์ หรือสร้างรายได้ให้กับคนชุมชนได้อีกด้วย โดยสายมูคู่กับสายบุญ และการ MU-Cycle มันไม่ใช่แค่การแสดงออกถึงการรักษ์โลกเท่านั้น แต่เป็นการรักตัวเอง และรักคนรอบข้างแบบยั่งยืน เพราะปลายทางของการมูนั้นสุดท้ายก็คือขยะ บางชิ้นใช้เวลาเป็นร้อยปีถึงจะย่อยสลาย ถ้ามูด้วยแล้วได้ลดปัญหาปลายทางตรงนี้ด้วย มันเป็นการได้บุญแบบครบตั้งแต่เริ่มจนจบแถมไม่กระทบสิ่งแวดล้อม
การเปลี่ยนมุมมองผ่านการมูในพิกัดต่างๆ แบบเริ่มต้น ทำได้ง่าย โดยเริ่มจากตัวเองก่อน ก็คือการไม่จุดธูป ลาของไหว้กลับ ลาดอกไม้แล้วส่งไปทำประโยชน์ต่อ หรือทิ้งลงถังให้ถูกสี เมื่อคนเริ่มคุ้นชิ้นจนเกิดเป็นพฤติกรรมใหม่และสนใจในการมูรักษ์โลกมากขึ้น ก็จะไปอีก ขั้นตอนที่ละเอียดกว่าเดิม อย่างการเอากลับไปล้างทำความสะอาด ซึ่งตอนนี้มีอีกหลายโครงการที่สามารถไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ อย่างวัดไทยไร้ขยะ
อย่างไรก็ตามแคมเปญ “MU-Cycle” อาจจะทำให้เรื่องการค้าขายของไม่จำเป็นลดลง แต่ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างอาชีพแนวใหม่ ให้อีกคนกลุ่มนึงก็ได้เช่นกัน อย่างที่เห็นกัน อย่างจากการนำของเหลือใช้มาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เกิดเป็นอาชีพใหม่ขึ้นได้
ในเรื่องของความเชื่อ ถ้ามองจากพื้นฐานของพุทธแท้ที่บอกว่าไหว้ของพรด้วยใจ ไม่ได้จำเป็นต้องมีสิ่งของ ในเรื่องความเชื่อของแต่ละคนไม่ไปแตะต้อง ไม่ได้ตัดสินว่าแบบนั้นถูกหรือแบบนี้ผิด แต่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอว่า ‘MU-Cyle’ นั้นเป็นอีกวิธีการทางเลือก ที่จะช่วยให้เราทุกคนใช้ชีวิตต่อได้อย่างยั่งยืนมากกว่า แถมการลดขยะ และนำของที่เหลือใช้ไปทำประโยชน์ให้คนอื่นต่อ ถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งเช่นกัน
การดำเนินงานของการ MU-Cycle แค่ปรับพฤติกรรมการไหว้ขอพร ก็จะสามารถลดขยะได้โดยวิธีการ ดังนี้
1. การลาของไหว้กลับ ไม่ให้เหลือเป็นขยะอาหาร (Food Waste) อย่างเช่นตอนไหว้ไม่ต้องแกะเปิดฝาออกก็สามารถเก็บกลับมาเป็นประโยชน์ต่อได้ หรือเลือกของไหว้ตามความเชื่อของเทพแต่ละองค์ แต่เพิ่มการคำนึงถึงว่าเราหรือคนที่บ้านสามารถทานต่อได้ วิธีการนี้คือลดขยะแถมได้ความเป็นมงคลเข้าไปอีกด้วย หรือจะนำไปบริจาคสำหรับพิกัดมูที่มีโซนให้ส่งต่อ ซึ่งตอนนี้มีหลายที่ก็นำของไหว้ไปบริจาค อย่างเช่นโซนราชประสงค์
2. ไม่ใช้ธูป พนมมืออธิษฐานขอพรได้เลย หรือจะเลือกใช้ธูปไฟฟ้าแบบพกพา วิธีการนี้จะช่วยให้ไม่สร้างมลภาวะ เหมาะกับคนที่เป็นภูมิแพ้ด้วย
3.ดอกไม้ใช้เท่าที่จำเป็น แยกทิ้งถังขยะสีเขียว หรือลาแล้วหาพิกัดที่รับ Upcycling ดอกไม้เพื่อนำไปทำประโยชน์ต่อ เช่น ทำปุ๋ยหมัก อย่างแคมเปญ MU-Cycle ดีลกับมหาลัยเกษตรศาสตร์ นำดอกไม้ที่ไหว้ขอพรหลังจบทริปไปทำเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป และเราก็อยากจะต่อยอดมองหาพาร์ทเนอร์มาทำเรื่องนี้ร่วมกันในอนาคต
4.แยกขยะสายมูทิ้งให้ถูกต้องตามสีและประเภท แบบระดับเริ่มต้น พลาสติกจากถุงใส่ของไหว้ใส่ถังขยะสีน้ำเงิน, ถ้าระดับละเอียดขึ้นหน่อย แยกลูกแม็กที่หนีบดอกไม้ สะสมไว้ส่งต่อให้มูลนิธิทำขาเทียม หรือเอาถุงไปล้างก่อนที่จะทิ้งเพื่อเอาไปรีไซเคิลต่อได้ ฯลฯ
5.ลดการมูแบบบนด้วยสิ่งของ แต่เป็นการบริจาคของที่ใช้ประโยชน์ต่อได้แทน
6.ก่อนทำสังฆทานหรือทำบุญ เลือกซื้อของที่พระได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อจริงๆ และเกิดขยะน้อยที่สุด อย่างเช่น ลดการตักบาตรด้วยน้ำขวดพลาสติก ทำบุญด้วยเครื่องกรองน้ำอาจจะตอบโจทย์มากกว่า การเลือกถวายพระที่ไม่ได้ทำจากเรซิ่น แต่เป็นทองเหลือง เงิน ทองแดง เพราะเมื่อไม่ได้ใช้แล้วก็ยังเอาไปหล่อรวมกันได้ ฯลฯ
โดยแคมเปญนี้ เริ่มเฟสแรกที่แยกราชประสงค์ ไม่ว่าจะเป็น พระตรีมูรติ องค์พระพิฆเนศ พระแม่อุมา พระแม่ลักษมี พระพรหม เท้าจตุโลกบาล โดยตั้งต้นจากการเริ่มทำเป็นต้นแบบปรับพฤติกรรมการไหว้ขอพรแบบไร้ธูป ลดการใช้ดอกไม้ จากเดิมที่ไปไหว้ 5 เทพที่ราชประสงค์ ต้องใช้ 4 พวง กุหลาบ 8 ดอก ปรับเป็น ไหว้แค่พวงเดียว แล้วลากลับไปไหว้ต่อที่เทพองค์อื่น ส่วนเทพที่ต้องใช้ดอกไม้สีชมพู ก็ยังคงความเชื่อนั้นไหว้ โดยใช้ดอกบัว แต่ลดจำนวนจาก 8 ดอก เหลือ 2 ดอก เป็นจำนวนสำหรับไว้สิ่งศักด์สิทธิ์ ไหว้เสร็จก็ลากลับเก็บรวบรวมนำไปทำปุ๋ยหมักเพื่อทำประโยชน์ให้กับเกษตรกรต่อไปได้อย่างยั่งยืน