'แม่ฟ้าหลวงฯ' เตรียมรุก 'ไบโอ เครดิต' เปิดข้อมูลหลากหลายชีวภาพผืนป่าดอยตุง
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯเตรียมข้อมูลความสมบูรณ์ผืนผ่าดอยตุง ตอบเทรนด์โลกให้ความสำคญเรื่อง "ไบโอ เครดิต"รูปแบบการขายเครดิตชดเชยเหมือนกับคาร์บอนเครดิต "ดิศปนัดดา" ชี้ปลูกป่าแลัวต้องทำให้ป่าสมบูรณ์ เผยพบสัตว์ป่า - พิชหายากหลายชนิด หนุนชุมชนกับป่าอยูู่ร่วมกันยั่งยืน
“ความหลากหลายทางชีวภาพ” (biodiversity) เป็นปัจจัยสำคัญต่อมนุษย์ และสิ่งมีชีวิต รวมทั้งมีความสำคัญต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ต่างๆจึงส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจุบันเวทีระหว่างประเทศเริ่มมีการพูดถึงกลไกที่จะเข้ามาช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “เครดิตความหลากหลายทางชีวภาพ” (biodiversity credits) หรือ “ไบโอ เครดิต” ซึ่งนำกลไกตลาดมาใช้ในการระดมเงินทุนเพื่อดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ ซึ่งกลไกของไบโอเครดิตมีลักษณะคล้ายกับคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจ (voluntary carbon credits) เป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้โดย “ผู้ซื้อ”มีความยินดีจะจ่ายเพื่อปกป้อง หรือฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และฝั่งผู้ผลิต หรือผู้ขายจะเป็นผู้ที่ลงทุนดำเนินโครงการที่สามารถปกป้อง ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าโลกกำลังตื่นตัวกับประเด็นเรื่องของไบโอ เครดิต มากขึ้น โดยทั้งในเวทีการประชุม World Economic Forum เมื่อต้นปีนี้ และในเวทีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 (COP28) ก็มีการพูดถึงประเด็นของไบโอ เครดิต
เนื่องจากหลายฝ่ายตระหนักว่าผืนป่าที่สมบูรณ์เพียงพอที่จะเป็นแหล่งทรัพยากรให้กับมนุษย์ได้นั้นต้องใช้ระยะเวลาในการดูแลรักษานานหลายสิบปีถึงจะเกิดความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นในพื้นที่ได้
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมีความสนใจในเรื่องไบโอ เครดิตเนื่องจากพื้นที่ของป่าของดอยตุงเป็นพื้นที่ป่าปลูกที่มีอายุมากกว่า 30 ปีเริ่มตั้งแต่ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “สมเด็จย่า” ทรงมีปณิธานแน่วแน่นที่จะ“ปลูกป่า ปลูกคน” ในพื้นที่ดอยตุงจนสามารถพลิกฟื้นพื้นที่เขาหัวโล้น และพื้นที่ปลูกฝิ่นดั้งเดิมให้กลายเป็นพื้นที่ป่าที่ปัจจุบันมีพันธุ์ไม้หลากหลายกว่า 1,379 ชนิด จากสามารถรวบรวมการใช้ประโยชน์ทางตรงจากพืชในป่าดอยตุงของชาวบ้าน 105 ชนิด คิดเป็นมูลค่ากว่า 12,077,621 บาท
ม.ล.ดิศปนัดดากล่าวว่าแม้จะมีการปลูกป่า มานานกว่า 30 ปีแต่ก็มีคำถามสำคัญที่ว่า
“ปลูกป่าแล้วป่าที่ปลูกสมบูรณ์หรือยัง เพราะป่าไม่ใช่แค่พื้นที่สีเขียว แต่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า บ้านของสิ่งมีชีวิต และการเกื้อหนุนให้ระบบนิเวศดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ”
ดังนั้นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงจึงมีการริเริ่มโครงการศึกษาความหลากหลายขึ้นเพื่อติดตามความสมบูรณ์ของป่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 – ปัจจุบันโดยการเก็บข้อมูลและสำรวจพื้นที่ป่าดอยตุงอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะ อยู่ระหว่างดำเนินการโดยมีทีมทำงานเก็บข้อมูลที่เรียกว่า “ทีมปรับป่า” ที่ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และชุมชนร่วมกันทำงาน ซึ่งข้อมูลที่ได้ช่วยต่อยอดภูมิปัญญาของคนบนดอยตุงในการอยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างยั่งยืน ในอนาคตจะเป็นทีมที่เข้มแข็งในการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ๆในการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ เหมือนกับที่เคยประสบความสำเร็จในการสร้างทีมคาร์บอนเครดิตจากการเตรียมความพร้อมในเรื่องความรู้ และข้อมูลที่จำเป็นไว้ล่วงหน้าจนสามารถทำงานในพื้นที่ป่าหลายแห่งในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่คาร์บอนเครดิตให้ได้ 1.5 แสนไร่ในปีนี้
“ในส่วนของธุรกิจคาร์บอนเครดิต ทุกวันนี้แม่ฟ้าหลวงถือว่าเป็นเจ้าตลาด มีคนรู้จักมากว่าเรามีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ในระยะยาว และทำให้ชุมชนได้ส่วนแบ่งรายได้จากการดูแลป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์ ซึ่งตอนที่เริ่มธุรกิจคาร์บอนเครดิตก็เริ่มจากการเก็บความรู้และข้อมูลเช่นกัน ตอนนี้เราก็มีการเตรียมพร้อมเรื่องข้อมูลและความรู้เรื่องไบโอ เครดิตเอาไว้”ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าว
ป่าสมบูรณ์ที่ดอยตุงสร้างความหลากหลายชีวภาพ
นายMartin Van de Bult นักพฤกษศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพรรณไม้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯให้ข้อมูลเพิ่มว่าดอยตุงเป็นป่าที่มีความสมบูรณ์และมีความหลากหลายเนื่องจากมีความสูงหลายระดับตั้งแต่ระดับ 400 เมตร – 1500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้มีป่าไม้ 3 ชนิดอยู่ในระดับความสูงที่ต่างกัน ได้แก่ ป่าเบญจพรรณผสมไผ่ ป่าดิบเขา และป่าสมผสมดิบเขา ทั้งนี้ การทำงานเพื่อสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และชาวบ้านได้ร่วมกันกำหนดเขตอนุรักษ์เข้มข้นเพิ่มเติมเป็นเขตอนุรักษ์ทางบกจำนวน 2 พื้นที่ รวม 1,070 ไร่ และเขตอนุรักษ์ทางน้ำ 3 ช่วง รวมระยะทาง 3,200 เมตรเพื่อให้ปลาได้ขยายพันธุ์ และมีการติดตามความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่องทุกปี
โดยจากการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ พบข้อมูลที่น่าสนใจของผืนป่าดอยตุงดังนี้ พบพันธุ์ไม้ทั้งหมด 1,379 ชนิด และเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก จำนวน 9 ชนิด และเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกที่รอการรับรอง 2 ชนิด โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาพบพืชหายากที่เคยมีในพื้นที่ดอยตุงและพื้นที่อื่นๆอีก16 ชนิด ส่วนดอกไม้ที่มีเฉพาะในพื้นที่ดอยตุง เช่น นครินทรา กระดิ่งวัดน้อย ม่วงกำมะยี่ เทียนดอยตุง และกระโถนพระฤาษี เป็นต้น
ในส่วนของการพบสัตว์ในพื้นที่ป่าดอยตุงได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 40 ชนิด เช่น เลียงผา แมลงบกและแมลงน้ำ 850 ชนิด (รวมถึงแมลงน้ำที่ชี้วัดคุณภาพน้ำที่ดี สะอาด) สัตว์เลื้อยคลาน 27 ชนิด และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 58 ชนิด ปลา 31 ชนิด ส่วนสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ 4 ชนิด คือ เลียงผา ลิ่น แมวดาว บินตุรงหรือหมีขอ และหมูหริ่ง และยังพบปลาชนิดใหม่ของโลก คือ ปลาผีเสื้อติดหินดอยตุง ซึ่งทั้งหมดสะท้อนความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่าแห่งนี้