“Fin4Bio” ขับเคลื่อนภาคการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ สู่ COP16 CBD
สำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (AFD) ร่วมกับสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และบลูเรเนซองส์ ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ
โดยโครงการ “Fin4Bio” (Finance for Biodiversity) มีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อพัฒนาความร่วมมือในการริเริ่มกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยมีองค์กรภาครัฐ เอกชน และภาคการเงินร่วมเป็นหน่วยงานสนับสนุนหลัก
นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ (Jean-Claude Poimbœuf) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการร่วมสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยในครั้งนี้ว่า ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรธรรมชาติ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำให้โลกต้องหันมาสนใจการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน
ทั้งนี้ประเทศฝรั่งเศส เริ่มมีการสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม และหวังที่จะร่วมกับประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรแก่ธรรมชาติ (Nature Positive Economy) เพื่ออนาคต และความยั่งยืน
ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะผู้นำด้านนโยบายของประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องการบูรณาการ การเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในมุมมองของนักนโยบาย โดยได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างนโยบายของชาติในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในภาคธุรกิจ
นางสาวแมทธิว บอ-ลออองส์ (Mathilde Bord-Laurans) ผู้อำนวยการฝ่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติ, สำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (AFD) กล่าวว่า ความหลากหลายทางชีวภาพกับยุคการปรับตัวจากภาวะโลกร้อน ซึ่งได้เน้นย้ำถึงการปรับตัวของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจที่ต้องเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากขึ้น
ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้ช่วยบริหารประธานคณะผู้บริหาร/รองกรรมการผู้จัดการด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และรองเลขาธิการ และกรรมการบริหารสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก แห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในประเด็นเดียวกันนี้ ผ่านมุมมองของภาคธุรกิจ โดยได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจให้สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร ซึ่งเป็นเป็นหนทางในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน
โครงการ Fin4Bio ได้รวบรวมความคิดเห็น ข้อสนอแนะ อุปสรรค และโอกาสในการพัฒนาการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย จากภาคส่วนสำคัญต่างๆ ได้แก่ ภาคนโยบาย ภาคการเงิน และภาคธุรกิจ จากนั้นจึงจัดทำเป็นข้อเสนอแนะร่วมการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ
เพื่อสร้างการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนา Taxonomy ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไทย การส่งเสริมให้มีการประเมิน และเปิดเผยความเสี่ยงของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ มาตรการสิ่งจูงใจสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรแก่ธรรมชาติ (Nature Positive Economy) รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถ การแบ่งปันความรู้ และสิ่งจูงใจในการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพเข้าสู่โมเดลธุรกิจ
และสนับสนุนการลงทุนที่เอื้อต่อความหลากหลายทางชีวภาพอันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและกรอบการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์