'เวฟ บีซีจี' ผนึกองค์กรไทย-ต่างประเทศ รับมือเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
เวฟ บีซีจี ผนึกองค์กรชั้นนำไทย-ต่างประเทศ รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หนุนเพิ่มศักยภาพใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs) หาแนวทางให้ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมเปิดเวที “RECs Talk 2024 - Unlocking Potential: I-RECs In Thailand”
นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ปี 2050)
และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี พ.ศ.2608 (ปี 2065)
รวมทั้งประเทศไทยได้มีการพัฒนาแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 - 2573 โดยตั้งใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 (222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)
ทั้งนี้ระดับของการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถเพิ่มขึ้นถึง 40% ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงกลไกการสนับสนุนทางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเงิน และการเสริมสร้างศักยภาพที่เพิ่มขึ้นและเพียงพอ ภายใต้กรอบข้อตกลงใหม่ ภายใต้ UNFCCC
โดยอ้างอิงข้อมูลจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีที่ไม่มีการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกใดๆ (Business As Usual: BAU) ที่ 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเหลือสุทธิอยู่ที่ 333 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี พ.ศ. 2573
นอกจากนี้ ความพยายามในระดับสากล ทำให้อุปสงค์และอุปทานของเครื่องมือหรือกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งคาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) และใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates) มีแนวโน้มเติบโตและมีศักยภาพขยายตัวได้อีกตามความต้องการชดเชยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของภาคเอกชนแต่ละประเทศ
"เราเห็นความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องการสนับสนุนให้ภาคเอกชนในไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ภาคธุรกิจ"
นอกจากนี้ การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนของประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญทั้งในการสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายตามที่ประกาศในการประชุม COP26 และเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เนื่องจากบริษัทชั้นนำของโลกต่างประกาศเป้าหมายในการเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดอย่างชัดเจน
ดังนั้นจึงมีความต้องการที่จะลงทุนหรือตั้งฐานการผลิตในประเทศที่มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่สูงและมีเสถียรภาพเพียงพอต่อการดำเนินงานขององค์กรเหล่านั้นได้
สำหรับเป้าหมายสำคัญ คือ การขับเคลื่อนให้บริษัทหรือองค์กรมีความเข้าใจในการใช้ใบรับรองพลังงานหมุนเวียนได้อย่างถูกต้อง และเพื่อปลดล็อคการใช้ใบรับรองพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ผ่านงานเสวนา “RECs Talk 2024 - Unlocking Potential: I-RECs In Thailand”
ทั้งนี้ มีวิทยากรที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับ I-REC และหน่วยงานระดับนานาชาติ อาทิ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงแนวทางของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก,
นาย Roble Poe Velasco-Rosenheim, The Regional Director of Southeast Asia, The International REC Standard (I-REC) ตัวแทนจากหน่วยรับรองระดับโลก สำหรับการให้แนวโน้มและทิศทางของโลกต่อใบรับรองพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในตลาดใบรับรองพลังงานหมุนเวียน
นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) , นายอาทิตย์ เวชกิจ กรรมการสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) , นายชัพมนต์ จันทรพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซุปเปอร์ คาร์บอน เอ็กซ์ จำกัด
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย , Samuel Low, Head of Origination, REDEX นำเสนอโครงการ I-REC รวมถึงตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, SCBX, TokenX และ บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จัดขึ้นวันที่ 29 ก.พ.2567 เวลา 8.30-16.30 น.ที่สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ กรุงเทพฯ