นวัตกรรม “ออกซิเจนบริสุทธิ์” ปรับ “น้ำเสีย” ส่ง “น้ำดี” สู่สิ่งแวดล้อม
“น้ำเสีย” เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของประเทศไทยเพราะน้ำเสีย ไม่เพียงแต่ส่งกลิ่นเหม็นเท่านั้น แต่ยังสร้างคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากขึ้นไป ทำลายชั้นบรรยากาศของโลก จึงเกิดนวัตกรรม “ออกซิเจนบริสุทธิ์” ที่จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างยั่งยืน
ปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า โครงการ GENERATING A CLEANER FUTURE เป็นนวัตกรรม และเทคโนโลยีสำหรับการดูแลคุณภาพน้ำ ด้วยกระบวนการเพิ่มออกซิเจนในแหล่งน้ำ ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์ซึ่งมีประสิทธิภาพด้านต้นทุน และประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมช่วยให้ปรับปรุงกระบวนการบําบัดน้ำ และน้ำเสียได้มีประสิทธิภาพ
โดยการทำงานของเทคโนโลยีนี้จะสามารถเติมอากาศด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ โอโซน และการเกิดออกซิเดชันขั้นสูงด้วยเทคโนโลยีการถ่ายเทมวลสูงที่มีประสิทธิภาพสูง และต้นทุนต่ำ และยังมีโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมสําหรับการรีไซเคิลน้ำเสีย การปรับปรุงคุณภาพน้ำ และการบําบัดด้วยระบบทําความเย็นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ประมาณ 18,000 ต้นต่อปีและลดคาร์บอน 275 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
สำหรับโครงการแรกเริ่มต้นที่สวนเบญจกิติที่รับน้ำมาจากคลองไผ่สิงโต ซึ่งมีคุณภาพน้ำค่าออกซิเจนอยู่ในระดับที่ต่ำมาก พอมีออกซิเจนให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะปล่อยน้ำเข้าไปในบึงได้ โดยปริมาณออกซิเจนซึ่งละลายอยู่ในน้ำ (DO) ปริมาณการละลายออกซิเจนในน้ำสามารถบอกถึงคุณภาพของน้ำที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตต้องมีค่าออกซิเจนละลายไม่น้อยกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร
ทั้งนี้ ระบบการเติมออกซิเจนนั้นจะต้องใช้ออกซิเจนเหลวซึ่งมีคุณภาพเทียบเท่าออกซิเจนของโรงพยาบาล แต่การจะใช้ออกซิเจนเติมลงไปในน้ำนั้นต้องเปลี่ยนของเหลวเป็นก๊าซก่อนผ่านตัวระเหยผ่านอากาศแล้วอัดลงไปในน้ำโดยใช้คอมพิวเตอร์ในการคำนวณโมเลกุลของขนาดออกซิเจนลงไปในน้ำเพื่อให้ปริมาณที่เหมาะสมตามคุณภาพ ณ ตอนนั้น โดยปกติแล้วออกซิเจนหนึ่งถังจะสามารถใช้ในการบำบัดน้ำได้ 1 สัปดาห์ในช่วงหน้าแล้ง แต่ในช่วงฤดูฝนจะสามารถอยู่ได้เป็นเดือนขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในฤดูกาลนั้นๆ สามารถแบ่งการดำเนินงานของระบบเป็น 4 ด้านดังนี้
1.โซลูชันด้านพลังงาน จะมีข้อมูลแบบ Real-Time และเทคโนโลยี AI
เพื่อควบคุม จัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนด้านการจัดการพลังงาน โดยจะช่วยให้ควบคุม จัดการ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงาน พร้อมลดต้นทุนพลังงานด้วยการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
2.การบำบัดน้ำ
โดยจะมีโซลูชันการบำบัดน้ำ และการบำบัดน้ำเสีย เป็นไปตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม อย่างการเพิ่มประสิทธิภาพของหอทำความเย็น (Cooling Tower) รวมถึงการรีไซเคิลน้ำ
3.การบริหารจัดการคอมเพรสเซอร์
การจัดการคอมเพรสเซอร์ที่เหมาะด้วยระบบขั้นสูงของบีไอจี ที่ประสานคอมเพรสเซอร์ เครื่องทำลมแห้ง และตัวกรองหลายตัวเข้าด้วยกันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
4.การเติมออกซิเจน
เพื่ออัปเกรดระบบบำบัดน้ำเสียด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 99.5% แทนอากาศกำจัดไนโตรเจน ด้วยเทคโนโลยี Halia ที่สามารถผสมอย่างละเอียดโดยไม่ต้องใช้อากาศ และการป้องกันปัญหาสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC)
เพิ่มความสามารถในการบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่ได้ถึง 30% ทั้งนี้ยังลดโฟม กลิ่น หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากระบบเติมอากาศ รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพไนตริฟิเคชั่น และการตกตะกอน การขจัดสี สิ่งปนเปื้อนออก ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ช่วยในการบริหารจัดการพลังงานและลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม สำหรับปรับรูปแบบการดำเนินการจะมีอุปกรณ์ในการตรวจจับการปล่อยคาร์บอนของภาคอุตสาหกรรมและสรุปข้อมูลนำเสนอผ่านแผงควบคุม (Dash Board) อีกด้วย
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มลพิษใน กทม. มีอยู่จำนวนมากไม่ว่าจะเป็น ขยะ มลพิษทางอากาศ รวมถึงปัญหาน้ำเสีย ทางด้านของ กทม. ก็มีนโยบายการจัดการสภาพแวดล้อมในเมืองในด้านต่างๆ การบำบัดน้ำในสวนเบญจกิติ
ที่มีแหล่งที่มาจากคลองไผ่สิงโตที่มีคุณภาพน้ำที่ข่อนข้างแย่ ซึ่งในการบำบัดน้ำไม่ได้มีแต่การแยกขยะ และสิ่งปฏิกูลแล้วน้ำจะดีขึ้น แต่ต้องใช้ออกซิเจนในการให้คุณภาพน้ำดีขึ้น ซึ่งการใช้ออกซิเจนปรับปรุงคุณภาพน้ำ และสามารถนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ในสวนได้ และยังทำให้สภาพแวดล้อมของเมืองน่าอยู่ขึ้นอย่างยั่งยืนอีกด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์