‘ปูเสฉวน’ ปรับตัวใช้ ‘ขยะ’ เป็นบ้าน นักวิจัยรับเป็นเรื่องน่ากังวล
“ปูเสฉวน” ไม่เลือกเปลือกหอยมาทำเป็นบ้านเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ใช้ “ขยะ” เพื่อใช้พรางตัวในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และเอาไว้ดึงดูดตัวเมีย นักวิจัยชี้การปรับตัวของปูเสฉวนไม่เรื่องที่ดี แต่เป็นเรื่องที่น่ากังวล
KEY
POINTS
- นักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และวิดีโอของ “ปูเสฉวน” 10 สายพันธุ์ทั่วโลก ครอบคลุมพื้นที่เขตร้อนตั้งแต่แอฟริกาไปจนถึงอเมริกากลาง พบว่า 85% ของปูเสฉวนใช้เศษพลาสติก ในขณะที่ส่วนที่เหลือใช้วัสดุทดแทน เช่น โลหะและแก้ว
- ปูชอบเศษพลาสติกมากกว่าเปลือกหอย เพราะหาได้ง่ายกว่าตามชายฝั่งและช่วยพรางตัวได้ดีกว่า อีกทั้งเปลือกหอยยังมีน้ำหนักมากกว่าทำให้ต้องอาศัยแรงในการแบกมากกว่า นอกจากนี้สีและกลิ่นของพลาสติกยังสามารถช่วยดึงดูดเพศตรงข้ามได้อีกด้วย
- เปลือกหอยธรรมชาติมีน้อยลงไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ปริมาณพลาสติกที่ถูกทิ้งยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปรกติแล้วหอยสร้างเปลือกหอยเองโดยใช้แคลเซียมคาร์บอเนตจากน้ำทะเล แต่จำนวนหอยเหล่านี้กำลังลดลง เนื่องจากปัญหาการทำประมง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมลพิษทางน้ำ
“ปูเสฉวน” ไม่เลือกเปลือกหอยมาทำเป็นบ้านเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ใช้ “ขยะ” เพื่อใช้พรางตัวในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และเอาไว้ดึงดูดตัวเมีย นักวิจัยชี้การปรับตัวของปูเสฉวนไม่เรื่องที่ดี แต่เป็นเรื่องที่น่ากังวล
“ขยะพลาสติก” กำลังท่วมชายหาดทั่วทุกมุมโลก นักวิทยาศาสตร์สังเกตว่าปูเฉสวนทั่วโลก ที่ต้องเปลี่ยนบ้านอยู่บ่อย ๆ ตามขนาดตัวที่เพิ่มขึ้น จึงหันมาใช้พลาสติก เช่น ฝาขวด หลอดไฟ และถ้วยพลาสติก มาทำหน้าที่เป็นบ้านแทนเปลือกหอย
“ขยะ” บ้านใหม่ของ “ปูเสฉวน”
ซูซานนา จาเกียลโล นักชีววิทยาและคณะจากมหาวิทยาลัยในโปแลนด์ทำการศึกษาโดยวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และวิดีโอของปูเสฉวน 10 สายพันธุ์ทั่วโลก ครอบคลุมพื้นที่เขตร้อนตั้งแต่แอฟริกาไปจนถึงอเมริกากลาง พบว่า 85% ของปูเสฉวนใช้เศษพลาสติก ในขณะที่ส่วนที่เหลือใช้วัสดุทดแทน เช่น โลหะและแก้ว
“เราเพิ่งได้รับการยืนยันว่าปูเสฉวนทั่วโลกใช้วัสดุสังเคราะห์มาทำบ้าน” จาเกียลโล ผู้เขียนหลักของการศึกษากล่าว
ทีมวิจัยพบว่าปูชอบเศษพลาสติกมากกว่าเปลือกหอย เพราะหาได้ง่ายกว่าตามชายฝั่งและช่วยพรางตัวได้ดีกว่า อีกทั้งเปลือกหอยยังมีน้ำหนักมากกว่าทำให้ต้องอาศัยแรงในการแบกมากกว่า นอกจากนี้สีและกลิ่นของพลาสติกยังสามารถช่วยดึงดูดเพศตรงข้ามได้อีกด้วย โดยการวิจัยในปี 2021 พบว่าสารเคมีในพลาสติกจะช่วยดึงดูดปูเฉสวนได้ดี
อย่างไรก็ตาม การหันไปใช้ขยะพลาสติกไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อปูเสฉวนเท่าใดนัก เมื่อปี 2019 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบขยะ 414 ล้านชิ้นอยู่บนชายฝั่งหมู่เกาะโคโคส ดินแดนห่างไกลของออสเตรเลียในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมีปูเสฉวนมากกว่า 500,000 ตัวตายอยู่ในขยะที่พวกมันเลือกมาเป็นบ้าน
นักวิจัยยังไม่ทราบถึงผลกระทบที่ชัดเจนจากการเปลี่ยนมาใช้ขยะพลาสติกเป็นบ้านแทนเปลือกหอย แต่เชื่อว่าสามารถนำไปสู่ผลที่ตามมาที่เป็นอันตรายเหมือนกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น เต่าที่มีหลอดติดอยู่ในจมูก และวาฬสเปิร์มที่อาศัยอยู่พร้อมกับขยะหลายปอนด์ในท้องของพวกมัน
จาเกียลโล ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ต้องเห็นปูเสฉวนอาศัยอยู่ในขยะของมนุษย์ แม้จะรู้ว่าพวกมันเพียงแค่พยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
วิธีหาบ้านของ “ปูเสฉวน”
ปูเสฉวนมีเนื้อที่อ่อนนุ่ม ไม่ได้มีเปลือกแข็งคอยป้องกันร่างกายเหมือนกับปูชนิดอื่น ทำให้พวกมันจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในเปลือกหอยเพื่อป้องกันตัวเองจากนักล่า กระแสน้ำ และความร้อนแรงของแสงแดดที่อาจทำให้พวกมันแห้งตาย
ปรกติแล้วปูเสฉวนจะออกสำรวจหาเปลือกหอย และรวบรวมข้อมูลของเปลือกหอย ทั้งประเภท ขนาด และสี จากนั้นจึงใช้ขาและก้ามสำรวจเปลือกหอยเพื่อให้แน่ใจว่ามีขนาดเหมาะสมกับร่างกาย และเมื่อพวกมันโตขึ้น ก็จะทิ้งบ้านเดิมและหาเปลือกหอยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาทำบ้านใหม่
ปูเสฉวนจะมีระบบห่วงโซ่การเปลี่ยนบ้าน เมื่อปูตัวใดพบเปลือกหอยที่มีขนาดใหญ่จะเก็บเปลือกนั้นไว้ใกล้ตัว เพื่อให้ปูตัวอื่นใช้ ซึ่งเมื่อปูตัวใหญ่เริ่มเปลี่ยนบ้าน ปูที่มีขนาดรองลงมาก็จะย้ายไปอยู่ในบ้านเดิมของปูตัวใหญ่ที่สุด และปูตัวอื่นก็จะนำเปลือกหอยที่ไม่ได้ใช้แล้วของปูเสฉวนที่ตัวใหญ่กว่าไปใช้ต่อเป็นทอด ๆ ในลักษณะของห่วงโซ่แห่งการแลกเปลี่ยน ทำให้ปูทุกตัวจะได้บ้านใหม่ที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาหาเปลือกหอยใหม่
ปูเสฉวนจะรู้ช่วงเวลาย้ายบ้านใหม่ พวกมันจะจัดระเบียบตัวเอง เพื่อความสะดวกในการขนย้ายและเปลี่ยนบ้าน ซึ่งปูเฉสวนสามารถจดจำเปลือกหอยที่เคยอาศัยอยู่มาก่อนหรือเคยตรวจสอบไว้แล้วได้
ทั้งนี้ชอว์น มิลเลอร์ ช่างภาพสัตว์ เคยจับภาพปูเฉสวนย้ายบ้านจากแผ่นพลาสติกไปอาศัยอยู่ในเปลือกหอยแทน นั่นหมายความว่า ปูเสฉวนไม่ได้เลือกที่จะมีชีวิตอยู่อย่างถาวรในพลาสติก เพียงแค่ใช้มันชั่วคราวจนกว่าพวกเขาจะค้นพบเปลือกหอยที่เหมาะสมกว่า
เปลือกหอยธรรมชาติมีน้อยลงไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ปริมาณพลาสติกที่ถูกทิ้งยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปรกติแล้วหอยสร้างเปลือกหอยเองโดยใช้แคลเซียมคาร์บอเนตจากน้ำทะเล แต่จำนวนหอยเหล่านี้กำลังลดลง เนื่องจากปัญหาการทำประมง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมลพิษทางน้ำ
กรีนพีซประมาณการว่าการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้น 900% ระหว่างปี 1980-2020 ที่ผ่านมา หรือโดยเฉลี่ยแล้วมีการผลิตพลาสติกปีละ 500 ล้านตันต่อปี พลาสติกจำนวนมากถูกนำไปฝังกลบแทนที่จะนำไปรีไซเคิล
บางทีภาพปูเสฉวนที่อาศัยอยู่ในเศษขยะเหล่านี้ อาจจะทำให้ผู้คนสะเทือนใจ และหันมานำพลาสติกกลับไปรีไซเคิลแทนการทิ้งลงตามชายหาย
ที่มา: BBC, El Pais, The Washington Post