เช็ก 6 ประเทศอาเซียน สร้าง 'ขยะทะเล' ติด TOP 10 ของโลก

เช็ก 6 ประเทศอาเซียน สร้าง 'ขยะทะเล' ติด TOP 10 ของโลก

เช็ก 6 ประเทศอาเซียน สร้าง 'ขยะทะเล' ติด TOP 10 ของโลก ประเทศไทย ยก 'ขยะทะเล' เป็นวาระแห่งชาติ เร่งแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ดึงไทย จากอันดับ 6 ลงมาสู่อันดับ 10

KEY

POINTS

  • ขยะทะเล คือ สิ่งของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต การอุปโภคบริโภค ซึ่งเสื่อมสภาพจนใช้การไม่ได้ หรือไม่ต้องการใช้แล้ว แทนที่จะถูกกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสมกลับไหลรวมลงสู่ทะเลหรือมหาสมุทร
  • ประเทศไทย ถือเป็น 1 ใน 6 ประเทศอาเซียน ที่ติด TOP10 ของโลกในการสร้างขยะพลาสติกในปี 2564
  • อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ประเทศไทย เคยอยู่อันดับ 6 ของโลก แต่จากการเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเลและถูกยกเป็นวาระแห่งชาติ ส่งผลให้ไทยสามารถดึงอันดับลงมาอยู่ที่ 10 ได้ และยังคงเดินหน้าต่อไปในระยะยาว

ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นวาระร้อนระดับโลก หนึ่งในประเด็นปัญหาสำคัญที่นานาประเทศมุ่งเป้าคือ พลาสติก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลากหลายอุตสาหกรรม และในชีวิตประจำวัน 

 

อย่างไรก็ดี  พลาสติกกลับถูกใช้แล้วทิ้งในทันที ขณะที่การย่อยสลายพลาสติกต้องใช้เวลานานมาก ทั้งยังเกิดไมโครพลาสติกปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม กลายเป็นปัญหาที่เรียกกันว่ามลพิษพลาสติก

 

จากบทความ 'การแก้ปัญหา ‘ขยะพลาสติก’ ในอาเซียน' โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้า และการพัฒนา (ITD) ระบุว่า ข้อมูลจาก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พบว่า 

ปี 2562 

  • ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกต่อปี 460 ล้านตัน 
  • พุ่งขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อน 
  • เช่นเดียวกับขยะพลาสติกที่สูงถึง 353 ล้านตัน 
  • แต่ได้รับการรีไซเคิลเพียง 9% เท่านั้น  
  • ส่วนประมาณ 19% ถูกเผาในเตาเผา  
  • ขณะที่เกือบประมาณ 50% ถูกฝังกลบอย่างถูกสุขาภิบาล 
  • และอีกประมาณ 22% ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องหรือปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม 

 

การจัดการขยะพลาสติกอย่างไม่ถูกต้องนี้ เป็นสาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนไมโครพลาสติก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ปี 2563 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

  • การใช้พลาสติกทั่วโลกลดลง 2.2% จากปี 2562 
  • แต่พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวเพิ่มขึ้นสูงอย่างมากจากบรรดาอุปกรณ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ  
  • เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขยะพลาสติกก็เพิ่มขึ้นอีกครั้ง 
  • ตลอดวงจรชีวิตของพลาสติกผลิตก๊าซเรือนกระจกประมาณ 3.4% ของก๊าชเรือนกระจกทั้งโลก

 

 

6 ประเทศอาเซียนสร้างขยะทะเล TOP10 ของโลก

 

ขยะทะเล คือ สิ่งของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต การอุปโภคบริโภค ซึ่งเสื่อมสภาพจนใช้การไม่ได้ หรือไม่ต้องการใช้แล้ว แทนที่จะถูกกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสมกลับไหลรวมลงสู่ทะเลหรือมหาสมุทร ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกระทำของมนุษย์โดยตรง เช่น การทิ้งขยะลงทะเล ระบบการจัดการขยะด้อยประสิทธิกาพ และโดยอ้อม เช่น การทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ลม และน้ำพัดพาจากชุมชนออกสู่ทะเล

 

อาเซียน เป็นภูมิภาคที่ปล่อยพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุด โดยเมื่อปี 2564 ผลการวิจัยที่เผยแพร่ภายใต้ Science Advances ระบุว่า 6 ประเทศอาเซียนปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลติด 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ 

  • อันดับที่ 1 ฟิลิปปินส์ 3.6 แสนล้านตัน 
  • อันดับที่ 3 มาเลเซีย 7.3 หมื่นล้านตัน 
  • อันดับที่ 5 อินโดนีเซีย 5.6 หมื่นล้านตัน 
  • อันดับที่ 6 เมียนมา 4 หมื่นล้านตัน  
  • อันดับที่ 8 เวียดนาม 2.8 หมื่นล้านตัน 
  • อันดับที่ 10 ไทย 2.3 หมื่นล้านตัน  

 

ทั้งนี้ นอกจากส่วนที่ผลิตในประเทศอาเซียนยังมีการนำเข้าขยะพลาสติกจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่กลายเป็นมลพิษปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม

 

อาเซียนเองเล็งเห็นปัญหาดังกล่าวโดยมีการประชุมอาเซียนว่าด้วยการลดขยะในทะเลที่จัดขึ้นในปี 2560 โดยในปี 2562 อาเซียนได้ร่วมกันกำหนดกรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล และรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน

 

ต่อมาในปี 2564  อาเซียนได้ออกแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียนสำหรับการขจัดขยะในทะเล (2564-2568) เพื่อกำหนดกลยุทธ์แก้ปัญหาพลาสติกในทะเล ลดการนำเข้า และรั่วไหลของพลาสติก สร้างมูลค่าโดยนำขยะกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงแนวทางการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

 

ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหามลพิษพลาสติก โดยส่วนใหญ่เน้นการลด/เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย รวมถึงให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอย่างถูกต้อง

 

พลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขด้วยความร่วมมือกันทุกฝ่ายที่หากไม่จัดการให้ถูกต้องแล้ว พลาสติกจะรั่วไหล และปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก สร้างมลพิษ และยังกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วยเช่นกัน การจัดการพลาสติกจึงต้องเป็นวาระเร่งด่วนระดับโลกที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดเพื่อให้เห็นผลอย่างแท้จริง 

 

 

ขยะทะเล วาระแห่งชาติ 

รายงานกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ประจำปี 2564 ระบุว่า ประเทศไทยได้กำหนดให้ปัญหาขยะมูลฝอย และขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559 - 2564) 

 

รวมทั้ง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ.2561 - 2573) และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2564 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ “แผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลปี พ.ศ.2564 - 2568 (ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris, 2021 - 2025)” 

 

และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ในงานประชุมเปิดตัวแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในประเทศสมาชิกอาเซียน (พ.ศ. 2564 - 2568) โดยการสนับสนุนของธนาคารโลก และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน 

 

นับเป็นแผนปฏิบัติการที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้อาเซียนบรรลุการปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเลที่สำคัญโดยเป้าหมายของแผนปฏิบัติการอาเซียน เพื่อทำให้เกิดการประสานในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศเพื่อให้ได้รับการจัดการที่ยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมทางทะเล และชายฝั่งโดยผ่านการตอบสนองต่อมลภาวะพลาสติกในทะเลซึ่งมียุทธศาสตร์สำหรับจัดการปัญหาขยะพลาสติกในทะเล เป็นการดำเนินการปฏิบัติใน 3 ขั้นตอนหลักในห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติก 

(1) การลดสิ่งป้อนเข้าระบบ 

(2) เสริมสร้างการเก็บ และการลดการรั่วไหลเล็ดลอดของขยะ 

(3) การเพิ่มคุณค่าให้กับการนำกลับมาใช้ซ้ำ

 

ในปี พ.ศ.2563 กรมควบคุมมลพิษได้คาดการณ์ว่า ในพื้นที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล

  • มี “ขยะมูลฝอย” เกิดขึ้นปริมาณ 11 ล้านตัน 
  • มีขยะที่กำจัดไม่ถูกต้อง 2.86 ล้านตัน 
  • เป็น “ขยะพลาสติก” ปริมาณ 343,183 ตัน (0.34 ล้านตัน) 
  • คิดเป็นขยะทะเลปริมาณ 34,318 - 51,477 ตัน (0.03 - 0.05 ล้านตัน) 
  • โดยที่ปริมาณขยะทะเลในปี พ.ศ.2563 สูงกว่าในปี พ.ศ.2562 ซึ่งมีจำนวน 27,334 - 41,000 ตัน

 

จากการการดำเนินการเรื่องขยะทะเลอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในปี 2562 ประเทศไทย สามารถปรับอันดับประเทศที่มีขยะทะเลสูงสุดในโลกในอับดับ 6 ลงมาอยู่ที่อันดับ 10 ถือเป็นสัญญาณที่ดีจากการแก้ปัญหาขยะทะเล และและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งของไทย

 

ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์