'วิศวฯ จุฬาฯ' พัฒนา Green Talent ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
'วิศวฯ จุฬาฯ' เปิด “โครงการ Chula Learn-Do-Share 2024” แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพของนิสิตและบุคลากรของหน่วยงาน ภายใต้ความร่วมมือ สร้างกลุ่มคน Green talent มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
KEY
POINTS
- การขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ต้องอาศัยความรู้ในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการสร้าร้างกลุ่มที่มีทักษะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การวิจัย พัฒนานวัตกรรม และความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ
- โครงการ Chula Learn-Do-Share 2024 จึงเกิดขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของนิสิตและบุคลากรของหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือ มุ่งสู่การเป็นกลุ่มคน Green talent เปลี่ยนผ่านสู่การสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
- เพราะองค์ประกอบที่สำคัญ คือ บุคลากรในธุรกิจจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจให้เท่าทัน และพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง
เป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุม COP21 หรือการประชุมครั้งที่ 21 ของคณะที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติที่ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในปี ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมา ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
การประชุมในครั้งนี้ได้เกิดข้อตกลงที่เรียกว่า “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ที่นานาประเทศมีเป้าหมายร่วมกันในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส การที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเพียง 0.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเพียงนิดเดียวที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อโลกมากพอแล้ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายๆ ประเทศทั่วโลก
ผลกระทบมากมายมหาศาลจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมา ทำให้นานาประเทศที่เข้าร่วมการประชุม COP26 ร่วมมือกันประกาศเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดยั้งภัยอันตรายของมวลมนุษยชาติ รวมถึงในประเทศไทยที่ได้ร่วมแสดงเจตนารมย์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โมเดล“ธุรกิจคาร์บอนต่ำ” เสริมขีดแข่งขันใหม่ทางการค้า
- เศรษฐกิจ-สังคม 'คาร์บอนต่ำ' ทีดีอาร์ไอ แนะฮาวทูสู่หมุดหมายใหม่ประเทศไทย
- ซีพีเอฟ - อบก. ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ
นอกจากนี้ การประชุม COP28 ครั้งล่าสุด ในปี ค.ศ. 2023 รัฐบาลกว่า 200 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมการประชุมต่างมุ่งประเด็นไปที่การหารือเกี่ยวกับมาตรการเพื่อรักษาไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม พร้อมกับเรียกร้องข้อตกลงให้ทุกประเทศลดการใช้ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกเดือดในปัจจุบัน
ความเป็นกลางทางคาร์บอน คืออะไร?
ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ โดยเริ่มจากการ “ลด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นทาง เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แล้วจึงสร้างความสมดุลของปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยการ “ดูดกลับ” เช่น การปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวและแหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ “ชดเชย” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต หากกระบวนการผลิตยังคงปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก
“Chula Learn-Do-Share 2024” พัฒนากลุ่มคน Green talent
ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน และ นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จึงจัดตั้ง “โครงการ Chula Learn-Do-Share 2024” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพของนิสิตและบุคลากรของหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือมุ่งสู่การเป็นกลุ่มคน Green talent
ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการประกาศความร่วมมือการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยนวัตกรรม ระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ ผ่านการประยุกต์ และบูรณาการศาสตร์ทางวิศวกรรมและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่สังคมเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยนวัตกรรม
ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวถึงที่มาของโครงการ Chula Learn-Do-Share 2024 ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่ต้องอาศัยความรู้ในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกลุ่มคนที่มีทักษะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม Green talent การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ
รวมถึงการสนับสนุนธุรกิจ SMEs ที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งการจะขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจให้รองรับกับการเปลี่ยนผ่านสู่การสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญ คือ บุคลากรในธุรกิจจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจให้เท่าทัน และพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง
สำหรับ บทบาทของสถาบันการศึกษา ในเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การจัดการก๊าซเรือนกระจกนั้น สถาบันการศึกษาควรให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นกลาง รวมถึงสร้างงานวิจัยที่สามารถทำร่วมกับองค์กรเพื่อแก้ไขปัญหาจริงได้ โดยนำเทคโนโลยีเช่น AI เข้ามาช่วย ตลอดจนนำข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยมาต่อยอด
"นอกจากนี้ โครงการ Chula Learn-Do-Share 2024 ที่เปิดตัวในวันนี้ มีความคาดหวังจะพัฒนานิสิต นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาเพื่อสร้าง Green talent ที่ตอบโจทย์กับการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน"
ความท้าทายในการเดินหน้าอนาคตประเทศ
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การดำเนินงานของประเทศไทยที่ทำอยู่ในปัจจุบันนั้นยังเป็นการยากที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงต้องวางกรอบนโยบาย ตลอดจนการกำหนดกลไกและเครื่องมือ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมาย อีกทั้ง หวังว่าการร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังดำเนินการจัดทำนี้จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในธุรกิจสีเขียว
สำหรับ การปรับตัวของภาคพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ "วฤต รัตนชื่น" ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เผยว่า ได้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ควบคู่กับการจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
และนำเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานเข้ามาประยุกต์ใช้ ได้แก่ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) และ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pump Storage) เพื่อให้สามารถเก็บไฟฟ้าส่วนที่ผลิตไว้ใช้ในอีกช่วงเวลาหนึ่งได้ อีกทั้งการสนับสนุนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานมากยิ่งขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมาย Carbon Neutrality คือเน้นการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม
ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงความท้าทายของภาคธุรกิจในการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนว่า ภาคการเงินควรมีบทบาทในการให้ความรู้ ทำให้มีความเข้าใจที่ตรงกันกับองค์กรธุรกิจ รวมถึงให้ข้อมูลควบคู่กับเทคโนโลยี เพื่อสามารถตรวจสอบและประเมินต้นทุนคาร์บอน ตลอดจนกำหนดเส้นทางการลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ได้
ธนกร ชาลี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนว่า เป็นการบริหารจัดการข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยี dashboard recording เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีนัยสำคัญ ซึ่งสามารถประเมินและแปลงหน่วยเพื่อนำมาคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นต์ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถจัดทำรายงานเบื้องต้นเพื่อแสดงสถานะการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นต์เบื้องต้นขององค์กร เพื่อจัดทำเป้าหมายการลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ขององค์กรต่อไป