'บีโอไอ'พร้อมปรับมาตรการ 'อีวี' ชี้ 'สงครามราคา'ไม่กระทบลงทุน

'บีโอไอ'พร้อมปรับมาตรการ 'อีวี'  ชี้ 'สงครามราคา'ไม่กระทบลงทุน

“บีโอไอ” มั่นใจมาตรการหนุนอีวีไทยพร้อมรับการลงทุนระยะยาว พร้อมปรับมาตรการตามสถานการณ์โลก ชี้ดีมานต์รถอีวีในไทยยังขาขึ้น“สภาพัฒน์” ชี้โอกาสขยายตัวรถอีวีในไทยยังเปิดกว้าง แม้เริ่มเห็นสงครามราคา แหวังเห็นการพัฒนาซัพพลายเชนอีวีในไทยโตต่อเนื่อง

KEY

POINTS

  • การแข่งขันเพิ่มยอดขายรถEV เริ่มนำไปสู่สงครามราคา และเริ่มมีคำถามว่าจะกระทบการลงทุนEV ในไทยหรือไม่
  • "บีโอไอ"ชี้อีวีในไทยยังเป็นขาขึ้น ชี้มาตรการยืดหยุ่นพร้อมปรับให้ทันสถานการณ์โลก
  • "สภาพัฒน์" ระบุการปรับตัวของซัพพลายเชนยานยนต์จากสันดาปไปสู่อีวีเป็นกุญแจสำคัญความสำเร็วอุตสาหกรรมอีวีในไทย

 

อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2565 โดยเฉพาะการอุดหนุนราคาผ่านค่ายรถคันละไม่เกิน 150,000 บาท ส่งผลให้มีผู้ตัดสินใจซื้อจำนวนมากจนมียอดขาย EV เติบโตแบบก้าวกระโดด

บีโอไอมั่นใจนโยบายอีวีไทยทันสถานการณ์โลก 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า นโยบายการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยถือว่าเป็นมาตรการที่ยืดหยุ่นมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์โลก และมีการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านจากภาคเอกชน 

ทั้งนี้หากในอนาคตมีความจำเป็นต้องปรับปรุงนโยบายก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดและนักลงทุน อย่างไรก็ตามปัจจุบันนโยบาย EV3.5 ที่ต่อมาจากมาตรการ EV 3.0 ก็ถือว่ายังได้รับการตอบรับดี และยังมียอดจองและจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

\'บีโอไอ\'พร้อมปรับมาตรการ \'อีวี\'  ชี้ \'สงครามราคา\'ไม่กระทบลงทุน

คาดยอดขายอีวีไทยยังโตต่อเนื่อง

ส่วนประเด็นที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มลดลงในเดือน ก.พ.2567 เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ยอดจดทะเบียนในเดือน ก.พ.2567 ไม่สามารถเทียบกับเดือน ม.ค.2567 ได้เนื่องจากในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาเป็นเดือนสุดท้ายของมาตรการ EV3.0 จึงทำให้มีการเร่งการโอนและจดทะเบียนรถจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่ายอดในเดือนต่อไปก็จะยังสูงอยู่ โดยเฉพาะภายหลังจากมีงานมอเตอร์โชว์ที่จะมีรถยนต์ไฟฟ้าโมเดลใหม่เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอีกมาก

"สภาพัฒน์" หวังเห็นซัพพลายเชนEV ในไทยขยายตัว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในประเด็นยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่มีทิศทางลดลงนั้นมาจากการเปรียบเทียบกับยอดขายในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมียอดขายสูงมากและมาจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่มีต่อเนื่อง แต่หากดูตัวเลขแล้วก็ยังถือว่ายอดจำหน่าย EV ในประเทศไทยยังมียอดสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง

ส่วนการที่ค่ายรถยนต์หรือบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่มีการชะลอแผนเรื่องของการผลิตรถอีวีออกไป เช่น ค่ายรถยุโรปอย่าง BMW หรือเบนซ์เองก็เริ่มทบทวนแผนป้าหมายในการที่จะยกเลิกการจำหน่ายและผลิตรถยนต์สันดาป 

ชี้จีนครองส่วนแบ่งตลาดสูงกันรายใหม่เข้าตลาด

ขณะที่บริษัท Apple มีการยกเลิกการวิจัยรถ EV นั้นเนื่องจากขณะนี้ค่ายรถยนต์จากจีนนั้นเข้ามาครองส่วนแบ่งตลาดรถ EV เป็นจำนวนมาก แล้วการเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ของเจ้าใหม่ๆจึงไม่ใช่เรื่องง่ายทำให้ผู้บริษัทหลายรายมีการทบทวนแผนใหม่

ราคาวัตถุดิบแบตเตอรี่อีวีมีแนวโน้มลดลง

ส่วนปัจจัยที่สำคัญของการลดลงของราคารถ EV ในปัจจุบันนอกจากการแข่งขันเรื่องของราคาแล้ว คือราคาของแบตเตอรี่ที่เริ่มถูกลง ซึ่งหากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น หรือราคาวัตถุดิบที่นำมาผลิตแบตเตอรี่ราคาลดลง รวมทั้งมีซัพพลายแบตเตอรี่ EV ในไทยจำนวนมากเนื่องจากมีโรงงานผลิตมาตั้งในไทยมาก ในอนาคตก็จะทำให้ต้นทุนรถไฟฟ้าถูกลงและทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศยังขยายตัวได้

“ตอนนี้ราคาลิเธียมไอออนก็เริ่มลดลงเยอะแล้วก็ทำให้ราคารถ EV ที่ใช้ลิเธียมเป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่สามารถลดราคาลงได้ ก็จะทำให้ราคารถ EV ลดลง โดยราคาของแบตเตอรี่ถือเป็นต้นทุน 40% ของราคารถ ซึ่งทำให้แข่งขันทางราคาได้เมื่อต้นทุนในส่วนนี้ลดลง รวมทั้งหากในอนาคตใช้วัตถุดิบอื่น เช่น โซเดียมที่มีการวิจัยกันอยู่มาทำแบตเตอรี่ได้สำเร็จต้นทุนอาจลดลงอีกได้การแข่งขันด้านราคาตอนนี้ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของวัตถุดิบที่ลดลงด้วย”

ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม EV ในประเทศอื่นที่มีการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากๆ ต้องใช้เวลาปรับปรุงซัพพลายเชนในประเทศให้เอื้อต่อการขยายตัวของตลาด และคนที่ใช้รถ EV ในประเทศ ซึ่งประเทศไทยเองก็เช่นกันต้องใช้ระยะเวลาในการที่จะส่งเสริมและผลักดันให้ซัพพลายเชนและระบบการผลิตต่างๆมีความพร้อมที่จะรองรับ และส่งเสริมระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ทุกประเทศเป็นอุตสาหกรรมใหญ่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายซัพพลายเชนเป็นจำนวนมาก และยิ่งชิ้นส่วนของอีวีนั้นมีจำนวนน้อยกว่ารถสันดาปมาก ก็ยิ่งต้องหาวิธีให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมปรับเปลี่ยนไปผลิตชิ้นส่วนอื่นที่จะมาใช้นอุตสาหกรรม EV ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายและคาดว่าต้องใช้เวลาอีกสักพัก แต่ถือว่าได้เริ่มต้นและปรับปรุงมาตรการต่อเนื่อง

\'บีโอไอ\'พร้อมปรับมาตรการ \'อีวี\'  ชี้ \'สงครามราคา\'ไม่กระทบลงทุน

“ตอนนี้บีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรมพยายามที่จะทำให้ซัพพลายเชนของอีวีเกิดขึ้นทั้งระบบ ซึ่งเป็นการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อสนับสนุนการใช้และผลิตรถอีวีของประเทศไทยให้มีความต่อเนื่อง หรืออีกทางหนึ่งคือการส่งเสริมที่จะออกไปในรูปแบบอีวีบวกกับปลั๊กอินไฮบริดซึ่งนโยบายภาครัฐจะต้องช่วยให้ผู้ประกอบการรถสันดาปในประเทศปรับตัวไปสู่การผลิตรถอีวีหรือรถปลั๊กอินไฮบริดได้”นายดนุชา กล่าว