'โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ' จุดเริ่มจากนวนิยาย สู่ความหลงใหลในธรรมชาติ

'โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ' จุดเริ่มจากนวนิยาย สู่ความหลงใหลในธรรมชาติ

คุยกับ “โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ” นักแสดงหนุ่มมากความสามารถ ผู้ที่หลงใหลการเข้าป่า ดูนก และถ่ายภาพสัตว์ป่า ทั้งหมดมีจุดเริ่มจากการชอบอ่านหนังสือ นวนิยาย และสารคดี ทำให้เราได้เห็นบทบาทของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่บ่อยครั้ง

KEY

POINTS

  • คุยกับ “โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ” นักแสดงหนุ่มมากความสามารถ ผู้ที่หลงใหลการเข้าป่า ดูนก และถ่ายภาพสัตว์ป่า
  • ทั้งหมดมีจุดเริ่มจากการชอบอ่านหนังสือ นวนิยาย  และสารคดี ทำให้เราได้เห็นบทบาทของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่บ่อยครั้ง
  • โน้ต มองว่า  การอนุรักษ์เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ขณะเดียวกัน ทุกการกระทำของคน มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาเราต้องช่วยกันหาทางออก

หลายครั้ง ความชื่นชอบในวัยเด็ก กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คนในวันที่โตเป็นผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับ “โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ” นักแสดงหนุ่มมากความสามารถที่เรามักจะเห็นเขาโลดแล่นในจอ ผ่านงานละครหลายเรื่อง และใครที่ติดตามหนุ่มคนนี้จะรู้ว่าเขาชอบการเข้าป่า ดูนก และถ่ายภาพสัตว์ป่าเป็นชีวิตจิตใจ

 

อะไรทำให้นักแสดงหนุ่มที่เติบโตในเมืองหลวง หลงใหลการใกล้ชิดธรรมชาติ ?

 

“โน้ต” เล่าถึงจุดเริ่มต้นให้ กรุงเทพธุรกิจ ฟังว่า ตั้งแต่เด็กชอบอ่านหนังสือ นวนิยาย เพชรพระอุมา (บทประพันธ์โดย พนมเทียน หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ) ล่องไพร (โดย น้อย อินทนนท์) รวมถึง นิตยสารสารคดี และผมเกิดมาใน Generation ที่ทัน คุณสืบ นาคะเสถียร เป็นแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ ชอบเข้าป่า ชอบถ่ายภาพ และเริ่มได้เข้าป่าจริงจังเมื่อตอนเข้าทำงานในวงการบันเทิงแล้ว

 

“เริ่มได้ทำตามความฝันเมื่อช่วงอายุประมาณ 27-28 ปี และทำมาตลอด และตอนนี้ก็มีความฝันอีกอย่างหนึ่ง คือ การวิ่งมาราธอน แต่ก่อนจะใช้เวลาว่างจากกองถ่าย 4-5 วัน ในการหาเวลาเข้าป่า บางครั้งเวลาน้อยก็ไปอุทยานใกล้ๆ เช่น แก่งกระจาน เขาใหญ่ ถ้ามีเวลาเยอะก็ไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อไปถ่ายภาพสัตว์ป่า และช่วงนี้ หากมีเวลาว่าง ไม่มีถ่ายละคร ก็จะไปงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ค่อนข้างเยอะ เป็นเรื่องที่ดีที่เราได้สำรวจความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม”

 

\'โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ\' จุดเริ่มจากนวนิยาย สู่ความหลงใหลในธรรมชาติ

Cr : Facebook : วัชรบูล ลี้สุวรรณ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

สัตว์ในธรรมชาติ เสน่ห์แห่งผืนป่า

การได้พบสัตว์ป่าตามธรรมชาติ แน่นอนว่า มันสามารถเติมเต็มทุกครั้งที่ได้มีโอกาสได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการพบเจอกับช้างป่า เสือโคร่ง หรือสัตว์ป่าอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกรง

 

“สัตว์ป่าเวลาเจอในป่าจะรู้สึกตื่นเต้น รู้สึกถึงพลัง ความมีชีวิตมากกว่าเจอในสวนสัตว์ เราจะเห็นพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติของเขา อย่างเสือโคร่ง หากอยู่ในกรงก็จะเห็นมันนอนเฉยๆ แต่ความจริง เสือโคร่งมีพฤติกรรมในการเดินสำรวจอาณาเขต พอเจอในป่า จะมีความเป็นเจ้าป่า ทั้งเสียงคำราม เสียงร้องที่มีพลัง”

 

“ส่วน ช้าง เรามักจะเห็นในสวนสัตว์ หรือ ปางช้าง นั่นคือ ช้างที่ถูกทำให้เชื่องแล้ว แต่เมื่อเป็นช้างป่า ที่เราเห็นอยู่ในป่า มันให้ความรู้สึกกลัว ครั่นคร้ามกับความใหญ่โตของมัน และไม่สามารถเดาอารมณ์ได้ ทำให้รู้สึกว่ามนุษย์เราอ่อนแอ”

 

\'โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ\' จุดเริ่มจากนวนิยาย สู่ความหลงใหลในธรรมชาติ

ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่หายไป

ด้วยความชื่นชอบดูนก และถ่ายภาพสัตว์ป่า ทำให้โน้ตได้มีโอกาสได้ทำงานอาสาอยู่บ่อยครั้ง ได้แชร์เรื่องราวข้อมูลเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติมากขึ้น

 

โน้ต มองว่า การอนุรักษ์เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในยุคก่อนจะนิยมปลูกป่ากันเยอะ แต่ยุคสมัยนี้จะปล่อยให้ป่าฟื้นฟูเติบโตตามธรรมชาติ ให้เมล็ดแพร่กระจายเอง เปลี่ยนไปตามข้อมูลที่อัปเดต อย่างไรก็ตาม ในเขตพื้นที่ที่มีกฎหมายรองรับ มีพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หรืออยู่ในเขตอุทยาน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชดูแลอยู่ อาจไม่น่าห่วงมากเท่าพื้นที่นอกเขตอนุรักษ์

 

“ผมมองด้านสิ่งแวดล้อมโดยรวมมากกว่า พื้นที่ที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์ แต่ก่อนจะมีพื้นที่ป่าสงวน ป่าชุมชน พื้นที่รกร้างว่างเปล่า มีพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเมืองไทยอย่างกรุงเทพเป็นพื้นที่ปากแม่น้ำ ทุกวันนี้มีการถมทำหมู่บ้าน พัฒนาเป็นเมือง ซึ่งก็น่าเสียดายเพราะพื้นที่เหล่านั้นมีความหลายทางชีวภาพ มีนก แมลง สัตว์เลื้อยคลานหายไป”

 

\'โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ\' จุดเริ่มจากนวนิยาย สู่ความหลงใหลในธรรมชาติ

 

โลกร้อน กระทบสิ่งมีชีวิต

ล่าสุด กับการได้มีโอกาสบินสำรวจพะยูนที่ จ.ตรัง ซึ่งปัญหาที่พบ คือ จำนวนพะยูนน้อยลงจากปีที่ผ่านมา อย่างเห็นได้ชัด จากปีก่อนเจอราว 200 กว่าตัว ปีนี้เจอเพียง 30 กว่าตัวเท่านั้น

 

"ไม่แน่ใจว่าพะยูนอพยพ ย้ายถิ่นที่อยู่ หรือตายไป เพราะหญ้าทะเล ที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูนน้อยลงไปเยอะมาก ปัญหานี้จะแก้อย่างไร เพราะหญ้าทะเล ที่ตายไปส่วนหนึ่งเพราะปัญหาโลกร้อน เป็นสเกลที่ยากในการแก้ปัญหา ทุกการกระทำของคนไม่ว่าจะในเมืองและต่างจังหวัด มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่เรายังขบคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร" 

 

อนึ่ง หญ้าทะเล มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเลี้ยงตัวอ่อนและแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด โดยเฉพาะปลาทะเลกุ้งทะเล และปูม้า มีความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สาหร่าย และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นๆ

 

ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ จะมีบทบาทสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มสัตว์น้ำขนาดเล็กที่กล่าวถึง แต่ยังมีสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น เต่าทะเล และ พะยูน อีกด้วย

 

สัตว์หน้าดินและสัตว์ที่ฝังตัวอยู่ในพื้นดิน

สำหรับ สัตว์หน้าดินและสัตว์ที่ฝังตัวอยู่ในพื้นดินบริเวณแหล่งหญ้าทะเลในน่านน้ำไทย พบมากกว่า 95 ชนิดสัตว์ทะเลส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มไส้เดือนทะเลกลุ่มหอยทะเลได้แก่หอยชักตีน (Strombuscanarium) หอยคราง (Scapharcainaeguivalvis) กลุ่มกุ้งและกั้งทะเลได้แก่กุ้งกุลาลาย (Peneaussemisulcatus) และกุ้งตะกาดขาว (Metapeneausmoyebi) กั้งทะเล (Orlosquillanepa) กลุ่มปูทะเลได้แก่ปูม้า (Portunuspelagicus) และปูดาว (PortunusSanguinolentus) ปูทะเล (Scyllaserrata) กลุ่มฟองน้ำทะเล กลุ่มดอกไม้ทะเล กลุ่มแมงกะพรุนทะเล เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังพบปลิงทะเล (Holothuriascabra) ดาวทะเลและสัตว์อื่นๆ ซึ่งสัตว์เหล่านี้ มีทั้งกลุ่มที่ตลอดช่วงชีวิตอาศัยอยู่บริเวณแหล่งหญ้าทะเล และสัตว์ทะเลบางชนิดเข้ามาอาศัยในแหล่งหญ้าทะเลในช่วงหนึ่งของชีวิตเช่นช่วงเป็นวัยอ่อนหรือวัยก่อนเจริญพันธุ์

 

ปลาในแหล่งหญ้าทะเล

บริเวณฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยซึ่งพอจะสรุปได้ว่าพบปลาอย่างน้อย 67 ชนิด นอกจากนี้ ยังพบความสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อกันระหว่างปลาในแหล่งหญ้าทะเลป่าชายเลนและแนวปะการัง โดยพบว่า ปลาหลายชนิดเป็นปลาที่อยู่ในแนวปะการังแต่มาอาศัยเลี้ยงตัวในแหล่งหญ้าทะเลและปลาหลายชนิดพบมีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างป่าชายเลนบริเวณใกล้เคียง

 

ปัจจุบัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มีการเร่งแก้ไขปัญหาวิกฤตของหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ ซึ่งได้ ร่วมมือทีมนักวิจัย ด้านสมุทรศาสตร์ระดับประเทศหลายท่าน เร่งลงพื้นศึกษาวิจัยเพื่อหาสาเหตุการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล

 

ซึ่งเบื้องต้นพบแนวโน้มสาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทำให้ระดับน้ำทะเลแห้งลงต่ำกว่าปกติ เป็นผลให้หญ้าทะเลต้องตากแห้งเป็นพื้นที่กว้างและนานกว่าปกติ หญ้าทะเลจึงเกิดความอ่อนแอซึ่งทีมวิจัยยังอยู่ระหว่างการศึกษาปัจจัยอื่น ได้แก่

  • การทับถมของตะกอนจากการขุดลอกปากแม่น้ำ
  • โรคระบาดในหญ้าทะเล
  • การถูกกินโดยสัตว์น้ำ
  • หรือประเด็นเรื่องสารพิษ ที่อาจซ้ำเติมให้หญ้าที่มีภาวะความอ่อนแอให้อยู่ในสภาพแย่ลงไป

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'หญ้าทะเลที่หายไป' ความเสื่อมโทรม กระทบระบบนิเวศ

 

\'โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ\' จุดเริ่มจากนวนิยาย สู่ความหลงใหลในธรรมชาติ

 

ท้ายนี้ "โน้ต" มองว่า ปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อมล้อมใหญ่ขึ้น เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทุกอย่างต้องใช้ความร่วมมือ ต้องใช้ทุน และขณะเดียวกัน เราก็ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว พึ่งพาอุตสาหกรรม ก็อยู่ที่ว่าเราจะหาจุดสมดุลตรงไหน

 

"ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำมันเรียกเติมเต็มความฝันหรือเปล่า แต่เรารู้สึกว่าเราอยู่ในป่าแล้วเรามีความสุข เราสงบ รู้สึกว่าอัตตาของเราลดลง และได้พลังงานดีๆ ในป่า พอออกมาแล้วก็รู้สึกดีกับตัวเอง ทั้งสุขภาพจิต สุขภาพกาย ความฝันของผมไม่ได้ยิ่งใหญ่ ตอนเด็กๆ ก็มีความฝันว่าอยากจะถ่ายภาพสัตว์ป่าหายากได้ พอเราถ่ายได้ ความฝันก็ทำสำเร็จแล้ว ต่อมาก็เป็นเรื่องของครอบครัว สุขภาพ เติบโตไปตามวัย และว่างๆ ก็หาโอกาสที่จะเข้าป่าเรื่อยๆ" โน้ต กล่าวทิ้งท้าย