‘ผึ้ง’ ทั่วโลกลดลงต่อเนื่อง กระทบความมั่นคงทางอาหาร เพราะ ‘ภาวะโลกร้อน'
“ปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย” (Colony Collapse Disorder) เป็นปรากฏการณ์ที่ผึ้งงานจากรังหรือนิคมผึ้งพันธุ์ หายไปอย่างฉับพลัน ซึ่งเกิดมาตลอด แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียถิ่นที่อยู่ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นและมีผึ้งหายไปมากกว่าเดิม
KEY
POINTS
- “พืชอาหาร” 75% ของโลก และ 35% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั่วโลก ต้องพึ่งพา “การผสมเกสร” ของ “ผึ้ง” และแมลงผสมเกสรอื่น ๆ ดังนั้นแมลงผสมเกสรไม่เพียงมีส่วนโดยตรงต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความมั่นคงทางอาหารอีกด้วย
- ปัจจุบันประชากรของ “ผึ้ง” กำลังลดลง ผึ้งบางชนิดได้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งที่อยู่อาศัยเดิม มีผึ้งหึ่งถึง 3 ชนิด สูญพันธุ์ไปจากเกาะอังกฤษ ในช่วงเวลาเพียงแค่หนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา
- “ปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย” (Colony Collapse Disorder) เป็นปรากฏการณ์ที่ผึ้งงานจากรังหรือนิคมผึ้งพันธุ์ (Western honey bee) หายไปอย่างฉับพลัน ซึ่งเกิดมาตลอด แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียถิ่นที่อยู่ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นและมีผึ้งหายไปมากกว่าเดิม
“ปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย” (Colony Collapse Disorder) เป็นปรากฏการณ์ที่ ผึ้งงานจากรังหรือนิคมผึ้งพันธุ์ (Western honey bee) หายไปอย่างฉับพลัน ซึ่งเกิดมาตลอด แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียถิ่นที่อยู่ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นและมีผึ้งหายไปมากกว่าเดิม
ในขณะนี้ประชากรของ “ผึ้ง” กำลังลดลง ผึ้งบางชนิดได้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งที่อยู่อาศัยเดิม มีผึ้งหึ่งถึง 3 ชนิด สูญพันธุ์ไปจากเกาะอังกฤษ ในช่วงเวลาเพียงแค่หนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา และการหายไปของผึ้งจะทำให้เกิดหายนะกับมนุษย์
“การผสมเกสร” เป็นกระบวนการขั้นพื้นฐานที่ทำให้ระบบนิเวศอยู่รอดได้ เกือบ 90% ของพันธุ์ไม้ดอกป่าทั่วโลกต้องอาศัยการผสมเกษตรของผึ้งและแมลงผสมเกสรอื่น ๆ เช่น ผีเสื้อ ค้างคาว และนกฮัมมิงเบิร์ด เช่นเดียวกับ “พืชอาหาร” 75% ของโลก และ 35% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั่วโลก ที่ต้องการผึ้งมาผสมเกสร ดังนั้นแมลงผสมเกสรไม่เพียงมีส่วนโดยตรงต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความมั่นคงทางอาหารอีกด้วย
“ผึ้ง” ตาย หายนะทางอาหาร
ในโลกใบนี้มี “ผึ้ง” มากกว่า 20,000 ชนิดทั่วโลก ซึ่งมีลักษณะการดำรงชีวิตแตกต่างกันไป คือ ผึ้งที่อยู่รวมกันเป็นสังคม (Social Bees) และผึ้งที่ใช้ชีวิตแบบโดดเดี่ยว หรือ (Solitary Bees) ทั่วไปแล้วเรามักจะคุ้นชินกับผึ้งที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่เห็นตามรังผึ้งต่าง ๆ มากกว่า โดยผึ้งประเภทนี้จะมีการแบ่งชั้นวรรณะ คือนางพญา ผึ้งงาน และผึ้งตัวผู้ โดยในหนึ่งรังนั้นจะมีนางพญาเพียงตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วผึ้งประเภทนี้มีเพียง 10% ในธรรมชาติเท่านั้น
90% ที่เหลือคือผึ้งที่ใช้ชีวิตแบบโดดเดี่ยว ผึ้งเหล่านี้จะไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ตัวเมียเมื่อวางไข่แล้วก็ทิ้งรังไป ไม่มีการดูแลตัวอ่อน เหมือนกับผึ้งที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม ซึ่งผึ้งเหล่านี้มีบทบาทเป็นผู้ผสมเกสรที่สำคัญมากในระบบนิเวศ
ผึ้งเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน เราได้ลิ้มรสความหวานของ “น้ำผึ้ง” มาอย่างน้อย 8000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่อารยธรรมอียิปต์ ซึ่งเป็นอารยธรรมแรกที่มีหลักฐานการเลี้ยงผึ้งให้น้ำหวาน เพื่อการผลิตน้ำผึ้งไปอุปโภคและบริโภค ผึ้งให้น้ำหวานถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ตั้งแต่ในยุคโรมัน ในเรื่องของการปกครอง โครงสร้างทางสังคม การแบ่งหน้าที่และชั้นวรรณะ
แต่สภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงในหลายภูมิภาค ทำให้ดอกไม้บานก่อนเวลาที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นช่วงที่ผึ้งไม่ได้ออกหาอาหาร พอไม่มีผึ้งมาช่วยผสมเกสร พืชก็จะไม่ติดผล กระทบมาถึงนกที่กินผล และช่วยพาเมล็ดกระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้ ซึ่งหากขาดสิ่งใดไป ไม่ว่าจะผึ้ง พืช และนก ระบบนิเวศอาจจะเสียสมดุลได้ ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์ก็จะได้รับผลกระทบด้วย
ผึ้งหาย เพราะ “การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ”
ตามข้อมูลของ Bee Informed Partnership Inc (BIP) องค์กรด้านการปรับปรุงคุณภาพผึ้ง ระบุว่าในช่วงเดือนเม.ย. 2022 - เม.ย. 2023 พบว่า ผึ้งในสหรัฐมีอัตราการตายที่สูงถึง 50% แม้ว่าจะลดลงมาจากปีก่อนหน้า แต่ก็ยังเป็นการสูญเสียที่มากที่สุดเป็นอันดับ 2
“นี่เป็นตัวเลขการสูญเสียที่น่าหนักใจมาก เราไม่สามารถหาทางจัดการกับนิคมผึ้งพันธุ์ให้ดีขึ้นและเพียงพอต่อจำนวนดอกไม้ในสหรัฐที่ต้องการผสมเกสร” เจฟฟ์ เพตทิส ประธานสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งระดับโลก Apimondia กล่าว
ตั้งแต่ปี 2006 ทีมวิจัยผึ้งที่มหาวิทยาลัยออเบิร์นและมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ได้ติดตาม “ปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย” ที่อยู่ ๆ คนเลี้ยงผึ้งก็พบว่าผึ้งงานหายไป ทิ้งราชินี ตัวอ่อน ไว้เพียงลำพังในรัง แม้ว่าจะพบผึ้งตายอยู่รอบ ๆ รังเพียงไม่มีตัว แต่การที่ไม่มีผึ้งงานอยู่ในรังเลย ก็จะทำให้นิคมผึ้งพันธุ์ค่อย ๆ ตายลงอย่างช้า ๆ
“ไรศัตรูผึ้ง” (Varroa destructor) ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของผึ้ง โดยแมลงตัวเล็ก ๆ นี้ จะใช้ปากของพวกมันเจาะเข้าไปที่บริเวณลำตัวระหว่างปล้องของผึ้งเพื่อดูเลือด ทำให้ผึ้งตายก่อนจะเข้าสู่ช่วงตัวเต็มวัย แต่ถ้าผึ้งสามารถมีชีวิตรอดได้ ก็มักจะพิการ มีปีกไม่สมบูรณ์ ส่วนท้องสั้น ขาหายไป นอกจากนี้ไรชนิดยังกล่าวจะทำช่วยเพิ่มการติดเชื้อไวรัสดีดับเบิลยูวี (DWV) ของผึ้งในรัง รวมถึงรังข้างเคียงอีกด้วย
ปรกติแล้วไรศัตรูผึ้งจะต้องกินผึ้งราว 2 ใน 3 ของรังถึงจะถือเป็นการทำลายรังผึ้งได้สำเร็จ แต่สำหรับเชื้อไวรัสแล้วเพียงแค่มีผึ้งติดเชื้อไวรัสนี้ 2% ทั้งรังก็จะล่มสลายได้ในทันที
แต่ถึงอย่างนั้น คนเลี้ยงผึ้งกลับระบุว่าสาเหตุหลักที่ทำให้รังผึ้งล่มสลายคือ “การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ” เพราะเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ดอกไม้หลายชนิดก็ไม่บาน ทำให้ผึ้งขาดแคลนอาหาร เมื่อผึ้งเผชิญกับความอดอยาก พวกมันก็จะล้มตายและสูญพันธุ์ในที่สุด
อ.ดร.ชวธัช ธนูสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงาน “Next Door Catastrophe รู้ตัวอีกที วินาศสันตะโร” กล่าวว่า
“ลองนึกภาพว่าเมื่อเจ้าผึ้งตัวน้อยของเราบินออกมาจากรังแล้วไม่เจอดอกไม้อะไรเลย มันใช้เวลาบินหาอาหารนานขึ้น พอนานไปพลังงานก็หมด มันค่อย ๆ หมดแรงที่บิน ร่วง และหลับใหลอย่างนิรันดร์”
ผึ้งจะช่วยกันปกป้องให้อุณหภูมิของรังคงที่ เมื่อเข้าช่วงหน้าหนาวพวกมันจะรวมตัวกันสั่นกล้ามเนื้อเพื่อทำให้รังอุ่นขึ้น ขณะที่การตีปีกพร้อมกันก็จะช่วยให้รังที่ร้อนหรือชื้นเย็นลง แต่การที่จะทำเช่นนั้นได้ ผึ้งจะต้องได้รับสารอาหารที่เพียงพอเสียก่อน
ที่มา: The Hill, United Nation