มีเงินแต่ไปไม่ถึง 'พลังงานสีเขียว' อุปสรรคใหญ่ไล่ตามเป้า COP28
เยอรมนีจัดงานครบรอบ 10 ปีสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก แกะกลยุทธ์ Triple Up, Double Down จากงาน COP28 จะเป็นไปได้จริงต้องเพิ่มเงินลงทุนมหาศาล ติดตั้งพลังงานสะอาดเพิ่ม 3 กิกะวัตต์ทุกวันนับจากนี้ อ้างกรีนไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานแห่งอนาคต
งานประชุมนานาชาติ Berlin Energy Transition Dialogue 2024 ครั้งที่ 10 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในวันที่ 19-20 มี.ค.2567 มุ่งความสำคัญที่การสร้างความต่อเนื่องจากงาน COP28 ด้วยกลยุทธ์ Triple Up, Double Down หรือการเพิ่มปริมาณการผลิตพลังงานสะอาดให้ได้ 3 เท่า
รวมทั้งลดความเข้มข้นการใช้พลังงานให้ได้ 2 เท่า ซึ่งเหลือเพียง 6 ปีครึ่ง ก่อนถึงเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของทั้งโลกที่ต้องทำให้ได้ 80% ภายในปี 2030
รายงานล่าสุดขององค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) ระบุว่า ปี 2023 ติดตั้งพลังงานหมุนเวียนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 473 กิกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 50% แต่จำเป็นต้องทำให้ถึง 1,000 กิกะวัตต์ต่อปี เพื่อให้อุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
โดยก่อนถึงปี 2030 ทั้งโลกต้องหาเงินลงทุนพลังงานสะอาดให้ได้ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ทุกปี ซึ่งปี 2023 ทำได้แค่ 5.7 แสนล้านดอลลาร์
รายงานยังระบุถึงกรณีถ้านับวันโดยหักวันหยุดจะเหลือเวลาแค่ 1,700 กว่าวันทำงานก่อนถึงปี 2030 ซึ่งต้องติดตั้งพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 3 กิกะวัตต์ต่อวัน และเงินลงทุนต้องเพิ่ม 5 เท่า
โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและสภาพภูมิอากาศ ประเทศเยอรมนี และแกนนำพรรคพันธมิตร 90 พรรคเขียว ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายเสรีนิยมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แม้จะประกาศเป้าหมายชัดเจนใน COP28 ที่โลกจะหยุดใช้พลังงานฟอสซิล แต่เป้าหมายนี้รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ โดยเยอรมนีได้ยุติผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วเมื่อปี 2023
สำหรับงานครั้งนี้รวมตัว 75 ประเทศ เพื่อสร้างระบบนิเวศให้ผลักดันพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมทั่วโลก โดยเยอรมนีกลับมาทำตามแผนได้สำเร็จ ปัจจุบันมีพลังงานหมุนเวียนถึง 59.7% หลังจากเกิดวิกฤติพลังงานเมื่อ 2 ปีก่อนจากความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย
ทั้งนี้ การขาดแคลนก๊าซธรรมชาติเร่งให้เยอรมนีรีบสร้างโครงข่ายพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และเร่งพัฒนากรีนไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ ให้เป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมหนัก เพราะใช้โครงข่ายท่อก๊าซธรรมชาติที่มีส่งผ่านกรีนไฮโดรเจนได้
อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ปัจจุบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนเป็นทางเลือกที่ถูกที่สุดแล้ว เช่น ต้นทุนโซลาร์เซลล์ จาก 4 ยูโรต่อวัตต์ในอดีต เหลือเพียง 10 เซนต์ต่อวัตต์
แต่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศและประเทศด้อยพัฒนาต้องการเงินลงทุนมหาศาล ด้วยความน่าเชื่อถือของประเทศในระดับต่ำกว่า A+ มีต้นทุนการกู้ยืมเฉลี่ยสูงถึง 16% หรือสูงกว่า 4 เท่าของประเทศอุตสาหกรรม
ดังนั้นความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารโลกและสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาอื่นจึงต้องเข้าปฏิรูประบบการเงินโลก โดยแม้จะมีเทคโนโลยีและเงิน แต่หลายประเทศทำให้โครงการพลังงานหมุนเวียนเกิดในระดับรากหญ้าไม่ได้ จึงต้องส่งเสริมทักษะแรงงานรองรับด้วย
องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ประเมินว่าแอฟริกาเป็นพื้นที่ดีที่สุดในการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ปัจจุบันติดตั้งพลังงานหมุนเวียนเพียง 1% ประชาชนอีก 600 ล้านคนยังไม่มีระบบไฟฟ้าเข้าถึงและทำอาหารด้วยเชื้อเพลิงที่ปลอดภัยไม่ได้
ทอม อัลวีนโด รัฐมนตรีกระทรวงเหมือนแร่และพลังงาน ประเทศนามิเบีย กล่าวว่า ประเทศแถบยุโรปมักพูดถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด (Energy Transition) เป็นเรื่องของการต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศ
แต่สำหรับซีกโลกใต้ พลังงานสะอาดจะยกระดับสังคมให้มีส่วนร่วมเพิ่มรายได้ เพิ่มการศึกษา ขจัดความยากจนได้ โดยแอฟริกามีบทเรียนในประวัติศาสตร์มากมายที่ปล่อยให้นานาชาติมาถลุงทรัพยากรธรรมชาติแต่ประเทศไม่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ด้าน Climate Finance เงินบริจาคเพื่อการพัฒนาพลังงานสะอาดดำเนินไปล้าช้ามาก มีเงินขนาดใหญ่รออยู่แต่ยังไม่มีใครกล้าลงก่อน โครงการขนาดใหญ่ 50-100 เมกะวัตต์ อาจใช้เวลาถึง 36 เดือน ในการทำเรื่องการเงิน
“หากทำแบบ Small is faster ลดขนาดโครงการได้ เช่น เน้นกระจายการติดตั้งแผงโซลาร์ 10 กิโลวัตต์ให้ทั่วถึง และใช้เงินเพียงแค่ 10,000 ดอลลาร์ต่อโครงการ จะทำให้ธนาคารท้องถิ่นมีส่วนร่วมประเมินความเสี่ยงและช่วยอนุมัติโครงการเร็วขึ้น”
ซาเมอร์ วาลิเยฟ รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ประเทศอาเซอร์ไบจาน กล่าวถึงความพร้อมเป็นเจ้าภาพ COP29 โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 2 เท่า และจะปฏิรูประบบการเงินให้รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเร็วกว่านี้