WEF พบละเมิดสิทธิมนุษยชน 'ด้านสภาพอากาศ' แนะประชาชนรวมกลุ่มฟ้องรักษาสิทธิ

WEF พบละเมิดสิทธิมนุษยชน 'ด้านสภาพอากาศ' แนะประชาชนรวมกลุ่มฟ้องรักษาสิทธิ

World Economic Forum ประเมินยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสภาพอากาศอีกจำนวนมาก แนะประชาชนตรวจสอบ รวมกลุ่มฟ้องร้องเพื่อรักษาสิทธิ

วันที่ 9 เมษายน 2567 คือวันแห่งประวัติศาสตร์ ที่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ตัดสินให้รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์แพ้คดีละเมิดสิทธิมนุษยชนจากความพยายามไม่มากพอในการแก้ปัญหาโลกร้อน

รวมทั้งเป็นวันเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยข้อมูลว่า อุณหภูมิโลกในแต่ละเดือนเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ติดต่อกันยาวนานถึง 10 เดือน ทำให้กระแสมวลที่กำลังสิ้นหวังกับการใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก มีประกายความหวังขึ้นมาว่าจะได้รับการดูแลเยียวยาจากรัฐบาลในอนาคต

World Economic Forum รายงานว่า คำตัดสินนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากมีข้อผูกมัดทางกฎหมาย เป็นการนับหนึ่งของรัฐบาลชาติยุโรป 46 ประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักร ที่ต้องยกระดับความพยายามในการดำเนินแผนงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย และทำให้เห็นว่าการฟ้องร้องแบบหมู่ เป็นสิ่งที่ประชาชนลุกขึ้นมาทำได้

ประเด็นสิทธิมนุษยชนนับเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของคดีที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศมากกว่า 90% ในปัจจุบัน ตามฐานข้อมูลการดำเนินคดีทางกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

มีคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนทั้งหมด 146 คดี กำลังถูกยื่นเรียกร้องต่อรัฐบาลนอกสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน

หนึ่งในปัญหาใหญ่ คือ ภัยทางสภาพภูมิอากาศไม่สามารถกำหนดอาณาบริเวณประเทศได้ชัดเจน อาจมีข้อโต้แย้งว่า รัฐบาลไม่มีหน้าที่ความรับชอบต่อบุคคลที่อยู่นอกเขตดินแดน

ศาลในเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์เคยปฏิเสธผู้ฟ้องร้องจากประเทศกำลังพัฒนาด้วยเหตุผลนี้

อย่างไรก็ตาม จากการผลักดันของนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมนำโดย "เกรต้า ธันเบิร์ก" และเยาวชนทั่วโลก ทำให้คณะกรรมการสหประชาชาติมีข้อสรุปว่าหน้าที่ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนเด็กและเยาวชน สามารถขยายไปถึงในประเทศอื่นได้ในบางกรณี เช่น มลพิษข้ามแดน ซึ่งถือเป็นการเปิดทางสำหรับการดำเนินคดีเพิ่มเติมในอนาคต

แม้กรณีของสตรีสูงวัยกว่า 2,000 คน ที่สวิสเซอร์แลนด์จะประสบความสำเร็จ ด้วยการให้เหตุผลว่ารัฐบาลล้มเหลวในการหยุดยั้งคลื่นความร้อน ทำให้ตนไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านและประสบปัญหาสุขภาพ แต่ก่อนหน้านี้ มีอีก 2 คดีในลักษณะคล้ายกันที่ถูกศาลแห่งนี้ตีตกไป

คดีแรก คือ เยาวชนอายุระหว่าง 12-24 ปีในโปรตุเกส ฟ้องร้องว่าคลื่นความร้อนและไฟป่า ทำให้พวกเขาไม่สามารถออกไปเล่นนอกบ้านและไปโรงเรียนได้ อีกทั้งมีอาการวิตกกังวลเรื่องสภาพภูมิอากาศ แต่ศาลกล่าวว่าคดีนี้ต้องถูกตัดสินในโปรตุเกสก่อน

คดีถัดมา ถูกฟ้องโดยอดีตนายกเทศมนตรีฝรั่งเศส อ้างว่าการเพิกเฉยของรัฐบาลฝรั่งเศสทำให้เมืองของเขาเสี่ยงต่อการจมลงในทะเลเหนือ แต่ศาลปฏิเสธเนื่องจากเขาไม่ได้อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสอีกต่อไป และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้ฟ้องร้องเป็นเหยื่อโดยตรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เมื่อการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระดับโลก ช่วยให้การฟ้องร้องดำเนินคดีทำได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยรัฐมีหน้าที่ต้องบรรเทา (Mitigation) หรือปรับตัว (Adaptation) รับมือกับภัยทางสภาพภูมิอากาศ

รัฐจะต้องกำหนดลำดับความสำคัญสำหรับกลุ่มผู้เปราะบางอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม หากมีการเลือกปฏิบัติจะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

รายงานเรื่องผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพมนุษย์ จาก World Economic Forum เมือเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่าภายในปี 2050 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายขึ้นจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 14.5 ล้านคน

นับเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกมูลค่ากว่า 12.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต และอากาศร้อนเป็นสาเหตุหลักของความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มากที่สุด

นอกจากนี้ ระบบสาธารณสุขกำลังเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะโรคที่มีความเสี่ยงต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น เช่น ไข้มาลาเรีย และไข้เลือดออก

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโอกาสเกิดภัยน้ำท่วมและคลื่นความร้อนสูงมาก ส่งผลถึงชีวิต และการแพร่ระบาดของไข้มาลาเรียอย่างมีนัยสำคัญ

รวมไปถึงโรค PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder ซึ่งเป็นโรคจิตเภทชนิดหนึ่งที่เกิดจากสภาวะจิตใจได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์เลวร้าย

WEF พบละเมิดสิทธิมนุษยชน \'ด้านสภาพอากาศ\' แนะประชาชนรวมกลุ่มฟ้องรักษาสิทธิ

มีงานวิจัยในประเทศอินเดียได้ศึกษาหญิงตั้งครรภ์กว่า 800 คน ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างทำงานในสภาพอากาศร้อนจัด เช่น ทำเกษตร นาเกลือ หรือโรงงานที่มีเตาเผา มีความเสี่ยงภัยต่อการคลอดบุตรมากกว่าถึงหนึ่งเท่าตัวเมื่อเทียบกลุ่มตัวอย่างที่ทำงานในสถานที่เย็น เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล

โดยพบว่า 5% ของหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในอากาศร้อนประสบภาวะแท้ง เทียบกับ 2% ของหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในอากาศเย็น

ในขณะที่ 6.1% ของหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในอากาศร้อนต้องคลอดก่อนกำหนดหรือหรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ เทียบกับ 2.6% ของหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในอากาศเย็น

อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่ไม่มีระบบนิติบัญญัติที่เข้มแข็ง อาจทำให้ประชาชนต้องจำยอมต่อชะตากรรม จากข้อมูลของสหประชาชาติ มีประชากรโลกประมาณ 3,300 – 3,600 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง

โดยเฉพาะทวีปแอฟริกาซึ่งผลิตก๊าซเรือนกระจกเพียง 2-3% ของทั้งโลก กำลังประสบความเจ็บปวดอย่างไม่สมเหตุสมผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จึงมีการเรียกร้องให้เกิดการดำเนินคดีข้ามพรมแดนกับต้นเหตุผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือจีน ที่ควรมีส่วนรับผิดชอบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึงสองในสาม

ก่อนหน้านี้ มีความสำเร็จในกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินต่อภาคเอกชนมาแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2021 ศาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินให้รอยัลดัตช์เชลล์ หรือ Shell บริษัทพลังงานข้ามชาติสัญชาติดัตช์และอังกฤษ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระดับเดิมในปี 2019 ให้ได้ถึง 45% ภายในปี 2030 

"ศาลมีความเห็นว่าเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของเชลล์ไม่เป็นรูปธรรมและเต็มไปด้วยเงื่อนไข"

การฟ้องร้องกระทำในนามพลเมืองดัตช์จำนวนกว่า 17,000 คนรวมถึงกลุ่มกรีนพีซ ถือเป็นคดีแรกที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมหันไปพึ่งอำนาจศาลเพื่อบังคับให้บริษัทพลังงานรายใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญภัยโลกร้อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

https://www.bangkokbiznews.com/world/940466