“เอสเอ็มอี” เปลี่ยนผ่านโมเดลธุรกิจ รับมือกติกาการค้าใหม่ “สีเขียว”
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีมาตรการบังคับใช้เข้มข้นขึ้นในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป
นางสาวสวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในหัวข้อ “ธุรกิจไทย ปรับตัวรับบริบทโลกร้อน” ภายในงานสัมมนา Go Green 2024: The Ambition of Thailand โดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567 ว่า ส.อ.ท.ขับเคลื่อนเรื่องนี้ตลอดซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรม
รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมมีความท้าทายที่สุดเรื่อง “เงิน” และ “ตลาด” โดยการที่ผู้ประกอบการจะเข้าถึงกลไกลแหล่งเงิน เช่น Climate Finance และ Taxonomy ได้ต้องมีดัชนีชี้วัดที่แสดงว่าธุรกิจเหล่านั้นเข้าเกณฑ์เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ต้นทุนต่ำลง
นอกจากนี้ ความท้าทายด้านข้อบังคับการค้าระหว่างประเทศ เช่น CBAM ที่เก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยคาร์บอน สำหรับสินค้าส่งออกไปสหภาพยุโรป ซึ่งต้องซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อลดการจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งระยะแรกยังผ่อนปรนและจะเข้มงวดมากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเริ่มเป็นกังวลว่าต่อจากนี้หากตรวจสอบคาร์บอนย้อนกลับ (Traceability) ทั้งซัพพลายเชน ถ้าไม่ได้ผ่านเกณท์ทั้งหมดจะส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน
“มาตรการข้างต้นเป็นเพียงข้อกำหนดของสหภาพยุโรป แต่ยังมีประเทศอื่นๆ ทั้งแคนาดา สหรัฐ ที่จะออกมาตรการกำกับ และกำหนดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นหลัก”
สำหรับมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังมีผลบังคับใช้เข้มข้นในระยะข้างหน้า ซึ่งสำหรับเอสเอ็มอีเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง โดย ส.อ.ท.ได้รับคำถามจากผู้ประกอบการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องที่ต้องการปรับตัว และวางแผนการดำเนินธุรกิจ รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงบประมาณ
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า เป็นที่น่ากังวลใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นเรื่องเร่งด่วนที่หลายประเทศกำลังให้ความสนใจ และเร่งขับเคลื่อนผลักดัน ซึ่งประเทศไทยเองก็ถือว่าทำได้ดี โดยไทยถือเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และอันดับที่ 3 ของเอเชีย อย่างไรก็ตามเมื่อประเมินกันในแง่การปฏิบัติที่ไทยยังถือเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร
ขณะที่เมื่อดูตัวชี้วัดด้านพลังงานหมุนเวียนยังทำได้น้อย รวมถึงการกำหนดทิศทางนโยบาย (Climate Policy) ยังต้องปรับ ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม
“ทิศทางการขับเคลื่อนประเทศเริ่มเห็นความน่าสนใจ ว่าจะเกิดการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับกับเทรนด์ดังกล่าวมากขึ้น ที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจคาร์บอนต่ำ และเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่ขับเคลื่อนทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า”
ทั้งนี้ การพัฒนาด้านการเงิน แหล่งทุน นวัตกรรม เทคโนโลยี รวมทั้งการอำนวยความสะดวก มาตรฐาน องค์ความรู้ สิทธิประโยชน์ และตลาด สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการ
นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ภาพรวมซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป ส่วนที่สำคัญที่สุดคือภาคการเกษตร ดังนั้นเรื่องคาร์บอนเครดิตหรือ CBAM จึงไม่ใช่ความเสี่ยงแต่เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจ ซึ่งการที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมทำให้มีวัตถุดิบสำหรับชีวมวล (Biomass) อย่างมหาศาล ซึ่งนำไปสู่กระบวนการทำถ่านชีวภาพ (Biochar) ด้วยการผสมกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ทั้งยังช่วยในเรื่องการฟื้นฟูดินในการทำเกษตร (Regenerative Agriculture)
แต่ทุกวันนี้รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนจากไบโอแมสมากนัก แต่ไปให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ภาครัฐอาจต้องกลับมาทบทวนตัวเอง
“ไทยเป็นประเทศเกษตร ทำให้เรามีไบโอแมสมหาศาล ซึ่งนั่นเป็นโอกาสทั้งนั้น ผมมองว่านโยบายที่ถูกต้องคือการเผาเพื่อไม่ให้มีการเผา และเป็นการเผาให้เกิดรายได้แทนที่จะเกิด PM2.5 การนำไบโอชาร์มาใช้ผลิตพลังงานทดแทน และจะช่วยลดต้นทุนตั้งแต่ระดับไร่นา ไปจนถึงอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอี“