COP29 ไม่จบ ตกลงไม่ได้ จนต้องเพิ่ม Climate Finance ประเทศร่ำรวยจ่าย 3 แสนล้าน
การประชุม COP29 สิ้นสุดอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 พ.ย. 2024 อย่างไรก็ตาม การปรึกษาหารือเพิ่มเติมมักจะเกิดขึ้นหลังการประชุมหลักเพื่อแก้ไขปัญหาที่ยังเหลืออยู่ และทำให้แน่ใจว่าทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ
หลังจากผ่านเส้นตายไปแล้วกว่า 30 ชั่วโมง ในที่ประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP29 ที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ในที่สุดข้อตกลงระหว่างประเทศของเกือบ 200 ประเทศ ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2024 เวลาตี 2 (เวลาท้องถิ่นกรุงบากู) โดยมีการสรุปเพิ่มการเงินด้านสภาพภูมิอากาศจาก 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (250 billions) เป็น 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (300 billions) ต่อปี
เนื่องจากมีการเจรจาอย่างเข้มข้นและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศกำลังพัฒนาที่มองว่าข้อเสนอแรกที่ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีนั้นไม่เพียงพอ ต่อการตอบสนองความต้องการเร่งด่วนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของประเทศกำลังพัฒนาในการพัฒนาสาธารณูปโภคพลังงานสะอาด และเสริมสร้างความทนทานต่อเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง
ซึ่งข้อตกลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายเชิงปริมาณร่วมกันใหม่ (NCQG) ในการเพิ่มการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายประจำปีที่ทะเยอทะยานที่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2035
ข้อตกลงที่อ่อนแอและดูถูก
ในขณะที่บางคณะผู้แทนยินดีกับข้อตกลงนี้ แต่ตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศกลับแสดงความผิดหวังอย่างยิ่ง โดยกล่าวว่าเป้าหมายทางการเงินเป็น “การดูถูก” และตำหนิว่าข้อตกลงนี้ล้มเหลวในการต่อยอดจากข้อตกลงปีก่อนใน COP28 ที่เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ “เปลี่ยนแปลงจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล”
และระหว่างการประชุมระดับสูง COP29 ในวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2024 เวลาประมาณ 16.00 น. (เวลาท้องถิ่นในกรุงบากู) ตัวแทนจากกลุ่มประเทศเกาะเล็กและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ได้เดินออกจากการเจรจา
เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าทั้งข้อเสนอ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐไม่เพียงพอ พวกเขาเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยสนับสนุนการเงินด้านสภาพภูมิอากาศมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อจัดการกับความซับซ้อนและความรุนแรงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง การเดินออกของพวกเขาเป็นการประท้วงเพื่อเน้นย้ำว่า จำนวนเงินที่เสนอไม่ตรงกับความต้องการที่เร่งด่วนและมากมายของพวกเขา
"เซดริก ชูสเตอร์" ประธานกลุ่ม Alliance of Small Island States ประจำซามัว กล่าวว่า “เราเดินออกไปเพราะไม่มีใครรับฟังเรา”
เสียงแตก
"ผู้แทนของเซียร์ราลีโอน" กล่าวว่า ประเทศต่างๆ ในแอฟริกาผิดหวังกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณว่าประเทศพัฒนาแล้วขาดความปรารถนาดี โดยข้อตกลงมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์นั้น น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่าจำเป็น และแทบจะไม่เพียงพอที่จะป้องกันหายนะสภาพอากาศ
"ผู้แทนจากสหภาพยุโรป" กล่าวด้วยน้ำเสียงที่แตกต่างออกไปว่า เป้าหมายการเงินเพื่อสภาพอากาศใหม่จะนำเงินจากภาคเอกชนเข้ามาบนโต๊ะมากขึ้นอีกมาก
"นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ และด้วยเงินทุนเหล่านี้ เราเชื่อมั่นว่าเราจะบรรลุเป้าหมาย 1.3 ล้านล้านดอลลาร์”
ทำไมประเทศร่ำรวยต้องจ่าย
ประเทศร่ำรวยต้องจ่ายเงินสนับสนุนด้านการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) โดยหลักการนี้เรียกว่า "ความรับผิดชอบร่วมกันแต่แตกต่างกัน" (Common but Differentiated Responsibilities : CBDR) ซึ่งหมายความว่าในขณะที่ทุกประเทศมีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ประเทศพัฒนาแล้วมีความรับผิดชอบมากกว่าเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด มากกว่าประเทศหำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด นับแต่ในอดีตและความสามารถทางการเงินที่มากกว่า
การเงินด้านสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของกรอบนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศที่กว้างขึ้น ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC), พิธีสารเกียวโต และข้อตกลงปารีส นโยบายเหล่านี้มีเป้าหมายในการระดมทรัพยากรทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้วเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อัตราปล่อยคาร์บอน
ประเทศร่ำรวยเป็นผู้ที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น เงินทุนนี้เป็นการแสดงความรับผิด เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เพราะบางประเทศมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1% เท่านั้น แต่ต้องเผชิญการรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง และสนับสนุนการเปลี่ยนไปใช้ระบบพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก Green House Gases (GHGs) ที่มีความสำคัญมากที่สุด โดยสถิติเกี่ยวกับการปล่อย CO2 ช่วงปี 2023 (หน่วยล้านเมตริกตัน) มีดังนี้
- จีน 11.9 ล้านเมตริกตัน
- สหรัฐอเมริกา 4.9 ล้านเมตริกตัน
- อินเดีย 3 ล้านเมตริกตัน
- รัสเซีย 1.8 ล้านเมตริกตัน
- ญี่ปุ่น 0.98 ล้านเมตริกตัน
- อิหร่าน 0.8 ล้านเมตริกตัน
- ซาอุดีอาระเบีย 0.73 ล้านเมตริกตัน
- อินโดนีเซีย 0.73 ล้านเมตริกตัน
- เยอรมนี 0.59 ล้านเมตริกตัน
- เกาหลีใต้ 0.57 ล้านเมตริกตัน
อ้างอิง : United Nations, Statista