ส่อง “กฎหมายโลกร้อน” ไทยฉบับแรก...เข้มแต่ดี

สวัสดีครับกฎหมายโลกร้อนฉบับแรกของประเทศไทย หรือเรียกเต็มๆ ว่า พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นแล้ว หลังจบสิ้นกระบวนการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยคาดว่าจะได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ทันกลางปี 2567

การเร่งร่างกฎหมายโลกร้อนแข่งกับเวลาในขณะนี้ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่เรากำลังเจอแต่ข่าวอากาศร้อนทุบสถิติใหม่ น้ำทะเลอุ่นจนปะการังฟอกขาว พืชไร่เหี่ยวแห้งตายยกสวน ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่น่าอภิรมย์เหล่านี้ย้ำเตือนถึงผลกระทบจากโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพียงแค่เปิดประตูก้าวออกจากบ้านก็รู้สึกได้ถึงไอร้อนที่กำลังแผดเผาความเป็นอยู่ของทั้งมนุษย์ สัตว์ และแม้กระทั่งพืชอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน

จุดมุ่งหมายของ พ.ร.บ. นี้ คือจัดการปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้บริบทของไทย  มีสาระสำคัญเน้นการลดการปล่อยก๊าซและการปรับตัว ถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมกว้างขวางมากกว่า พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฯ เดิม โดยเฉพาะเรื่องมาตรการทางการเงิน ซึ่งจะเป็นการนำค่าปรับที่ได้จากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถจัดทำรายงานคาร์บอนและดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป

ดังนั้น กฎหมายนี้จึงกำหนดหมวดต่างๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนานโยบายและแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การปรับปรุงการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมอบอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนแก่หน่วยงานต่างๆ ระบบภาษีคาร์บอน และบทลงโทษว่าด้วยโทษปรับสำหรับผู้ที่ยังไม่ยอมเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชน บทลงโทษตรงนี้เองที่ทำให้กฎหมายใหม่นี้เป็นที่จับตาจากภาคเอกชนที่ต้องปฏิบัติตาม

ส่อง “กฎหมายโลกร้อน” ไทยฉบับแรก...เข้มแต่ดี

บทกำหนดโทษที่กำหนดตามร่างกฎหมายโลกร้อน ฉบับที่ใช้เพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทั่วประเทศระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ - 27 มีนาคม 2567 (อาจมีการปรับแก้อีกครั้งก่อนเสนอ ครม.) มีดังนี้

ผู้ใดไม่จัดเก็บหรือรายงานข้อมูลกิจกรรมภายในระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือแจ้งเตือนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องชำระค่าระวางโทษปรับทางปกครองตั้งแต่หนึ่งหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ผู้ใดจงใจรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อมูลอันพึงรายงาน เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด ต้องชำระค่าระวางโทษปรับทางปกครองตั้งแต่สามหมื่นถึงสามแสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกินสามพันบาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติถูกต้อง บรรดาความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ ให้คณะกรรมการพิจารณาค่าปรับทางปกครอง มีอำนาจออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองตามอัตรา หลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

แน่นอนว่าในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานและปรับใช้หลักเกณฑ์ใหม่ๆ เหล่านี้ มีความเข้มข้นและส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระบบภาษีคาร์บอน ซึ่งให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีหน้าที่เสียภาษีคาร์บอนแบบอัตราก้าวหน้าแก่กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และกรมสรรพากร รวมถึงกิจการบางประเภทอย่างผู้ประกอบการพลังงานและผู้ประกอบกิจการโรงงาน ที่ พ.ร.บ. กำหนดให้ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดตั้งฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

แม้ทั้งหมดนี้เสมือนเป็นการ “บังคับ” ให้เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่สำหรับองค์กรต่างๆ ในไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ร.บ. นี้เป็นการกำกับควบคุมที่จำเป็นเพื่อเร่งลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วยกลไกทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ยังมีเวลาเตรียมตัวกันอีกหลายปีก่อนที่จะบังคับใช้จริง โดยเริ่มใช้มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) เป็นจุดอ้างอิงก่อน เพื่อให้พร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ. นี้ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ครับ