ส่องร่าง พ.ร.บ. Climate Change ภาคเอกชนควรเตรียมพร้อมอย่างไร?

ส่องร่าง พ.ร.บ. Climate Change ภาคเอกชนควรเตรียมพร้อมอย่างไร?

พ.ร.บ. Climate Change (ร่าง พ.ร.บ.) ซึ่งคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีภายในกลางปีนี้ ซึ่งจะส่งผลดีการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจในด้านต้นทุน ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องเตรียมพร้อม รับมืออย่างไร

ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change (ร่าง พ.ร.บ.) ซึ่งคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีภายในกลางปีนี้ จะสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว จะส่งผลดีการลด GHG ของประเทศที่จะเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอีก 3 เท่าภายในปี ค.ศ.2040 ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมไทย ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจำนวน 14 อุตสาหกรรม ที่มีมูลค่า 6.5 ล้านล้านบาท หรือ 37% ของ GDP จะเผชิญกับต้นทุนการดำเนินกิจการที่เพิ่มสูงขึ้น จากการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบภาษีคาร์บอน

 

การดำเนินการเพื่อลด GHG จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการควรมีการตรวจวัดคาร์บอนฟุทพริ้นต์อย่างสม่ำเสมอ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หันมาลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

พ.ร.บ. Climate Change กระทบต่อต้นทุน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. จะส่งผลดีต่อภาพรวมในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และสามารถบรรลุเป้าหมายในปี ค.ศ.2065 อย่างไรก็ดี จะกระทบโดยตรงต่อต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ

 

1.จัดทำบัญชี GHG ภาคบังคับ

จากเดิมที่การตรวจวัด GHG ตามความสมัครใจ และเผยแพร่ในรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ร่าง พ.ร.บ. จะให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจขอข้อมูลการปล่อย GHG ของกิจกรรม 5 ประเภท ในอุตสาหกรรมที่กำหนด

 

ในประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) เพื่อให้ได้ปริมาณ GHG จะต้องมีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อวัดและรับรองปริมาณ GHG เป็นประจำทุกปีๆ ละ 1 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท  ขณะที่ประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (CFP) ประเมิน 2 ปี 1 ครั้ง (ใช้ระยะเวลาประเมิน 2 วัน หากมีโครงสร้างธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์มีความซับซ้อนจะใช้ระยะเวลาประเมินมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น) ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายโดยการให้เงินสนับสนุนหรือนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้

 

2. กองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กองทุนฯ)

การสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการลด GHG ที่ในปัจจุบันหน่วยงานรัฐทำโดยสนับสนุนได้เฉพาะเครื่องมือที่อยู่ในอำนาจของตนเอง เช่น

  • การยกเว้นภาษีผ่าน BOI
  • การให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของกรมสรรพสามิต
  • สนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ให้เฉพาะหน่วยงานรัฐ  

 

โดยกองทุนฯ จะทำให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านการลด GHG ที่ครอบคลุมในทุกมิติ ทุกอุตสาหกรรมทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน เช่น โครงการคาร์บอนเครดิตประเภทการปลูกป่าที่ไม่เคยมีการสนับสนุนทางการเงิน การตรวจวัด และรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นต้น

 

รวมถึงบทบาทของกองทุนฯ ในการสนับสนุนการลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลจะมีส่วนสำคัญในการลด GHG ของประเทศ ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 68% ในปี ค.ศ.2040 และ 74% ปี ค.ศ.2050


3.กลไกกำหนดราคาคาร์บอน

ได้แก่ ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) และภาษีคาร์บอน

  • ETS เป็นตลาดคาร์บอนภาคบังคับที่ใช้ในสหภาพยุโรป ที่จะให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ปล่อย GHG ที่กำหนดจะต้องส่งมอบสิทธิในการปล่อย GHG ต่อรัฐบาลทุกปี โดยสิทธิมาจากการจัดสรร ประมูล หรือซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการ
  • ภาษีคาร์บอน เป็นการเก็บภาษีตามปริมาณ GHG ที่ประเมินจากวัฏจักรของสินค้า สามารถจัดเก็บได้ทั้งสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ เหมือนมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU-CBAM)

ในปัจจุบันประเทศไทยมีภาษีที่คำนวณจากปริมาณการปล่อย CO2 ในภาษีสรรพสามิตรถยนต์


 อย่างไรก็ดี มาตรการ ETS หรือภาษีคาร์บอน หากนำมาใช้ควบคู่กันจะก่อให้เกิดต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ทับซ้อน ควรกำหนดให้ค่าใช้จ่ายจาก ETS หรือภาษีคาร์บอนสามารถนำไปลดหย่อนค่าใช้จ่ายในอีกมาตรการได้ เนื่องจากมาตรการ ETS จะรวมการปล่อย GHG จากทั้งการผลิตสินค้า และการดำเนินธุรกิจอื่นๆ ของผู้ประกอบการ ซึ่งหากมีการเก็บภาษีคาร์บอนด้วย ผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีจากการปล่อย GHG ของสินค้าอีกรอบ

 

4.คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. คิดเป็นมูลค่า 6.5 ล้านล้านบาท หรือ 37% ของ GDP โดยการบังคับใช้คาดว่าจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 

  • ระยะที่ 1 อุตสาหกรรมที่ปล่อย GHG สูง และอุตสาหกรรมที่อยู่ใน EU-CBAM ภายในปี ค.ศ.2026 (พ.ศ.2569) ได้แก่ ภาคขนส่ง สาธารณูปโภค โลหะ และอโลหะ มีมูลค่าอุตสาหกรรมรวม 1.71 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของ GDP
  • ระยะที่ 2 อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะอยู่ใน EU-CBAM ระยะที่ 2 ได้แก่ สาขา ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยางและพลาสติก การขุดเจาะปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ เหมืองถ่านหิน และ กระดาษและเยื่อกระดาษ คิดเป็นมูลค่า 1.77 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของ GDP
  • ระยะที่ 3 อุตสาหกรรมในประเทศอื่นๆ ที่มีการปล่อย GHG เข้มข้นสูง ได้แก่ เกษตรและปศุสัตว์ อาหารและเครื่องดื่ม คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่า 3.02 ล้านล้านบาท หรือ 17% ของ GDP


ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมอย่างไร

1.การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการดำเนินธุรกิจ 

ถึงแม้ว่าปัจจุบันการตรวจวัด GHG จะเป็นการดำเนินการภาคสมัครใจ แต่แนวโน้มในอนาคตการตรวจวัด GHG ขององค์กรจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของที่จะต้องมีการรายงานเช่นเดียวกับการรายงานงบการเงิน มีชื่อว่า IFRS S1 และ S2 จัดทำโดย International Sustainability Standards Board (ISSB) ในปัจจุบันประเทศสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แคนาดา และออสเตรเลียกำลังศึกษาแนวทางในการนำมาตรฐานดังกล่าวมาบังคับใช้
 

2.การลด GHG ในกระบวนการผลิต และการดำเนินกิจการจะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

โดยแนวโน้มนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตจะทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ที่ปล่อย GHG สูงเพิ่มขึ้น และจะสูญเสียความสามารถในการแข่งกันต่อผู้ประกอบการที่ปล่อย GHG ต่ำ ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อลด GHG ทั้งในกระบวนการผลิต และการดำเนินกิจการอื่นๆ

ระยะสั้น ผู้ประกอบการสามารถลด GHG ได้ด้วยการใช้คาร์บอนเครดิตที่มีมาตรฐานรองรับ เช่น T-VER (องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก) VCS (VERRA) Gold Standard เป็นต้น หรือซื้อใบรองรองพลังงานหมุนเวียน (REC) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

ระยะยาว ผู้ประกอบการจะต้องมีการลงทุนเผื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการใช้พลังงานหรือเทคโนโลยีเพื่อลด GHG ได้แก่

  • เปลี่ยนเครื่องจักรที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้ไฟฟ้า
  • เปลี่ยนการขนส่งเป็นรถยนต์ Hybrid หรือรถยนต์ไฟฟ้า
  • ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทดแทนโดยการติดตั้ง Solar Roof หรือทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจากภาคเอกชน (Power Purchasing Agreement: PPA)
  • ใช้วัสดุทดแทนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ อย่างวัสดุ Recycle วัสดุเหลือใช้ เป็นต้น
  • เทคโนโลยีขั้นสูง Carbon Capture Utilization and Storage เชื้อเพลิงไฮโดรเจน


3.นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นตลอดเวลา

ผู้ประกอบการควรติดตามพัฒนาการของกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ นโยบาย EU-CBAM ที่จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2026 และจะขยายประเภทสินค้ามากขึ้น มาตรการ US-CBAM ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในระยะยาว

 

อย่างไรก็ดี คาดว่าร่าง พ.ร.บ. จะต้องใช้ระยะเวลา 1 - 2 ปี เพื่อพิจารณาในรายละเอียด แต่ผู้ประกอบการควรรีบดำเนินการ โดยเริ่มจากการตรวจวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั้งในระดับองค์กร และผลิตภัณฑ์เป็นอันดับแรก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูล โดยธุรกิจสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปแสดงในรายงานของกิจการหรือแสดงในฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของกิจการได้

 

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์