เปิด  4 ประเทศเตรียมใช้มาตรการ”CBAM”ตามรอย"EU"

เปิด  4 ประเทศเตรียมใช้มาตรการ”CBAM”ตามรอย"EU"

ไทยเตรียมรับมือ 4 ประเทศ “สหรัฐ สหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย” ประกาศใช้ CBAM ตามรอยสหภาพยุโรป เผยสินค้ากลุ่มเหล็ก และเหล็กกล้า ซีเมนต์ อะลูมิเนียม เป็นสินค้าที่เข้าข่าย เก็บภาษีคาร์บอน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แนะ ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวรับมาตรการ

 รายงานข่าวจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์ได้รวบรวมข้อมูลความคืบหน้ามาตรการด้านสิ่งแวดล้อม Green Law ที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์หรือ Climate Change จนทำให้สินค้าไทยต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหม่หลังประเทศคู่ค้าที่สำคัญนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff Barriers/Non-tariff Measures) มาบังคับใช้ โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม

สหภาพยุโรปหรืออียู เป็นหัวหอกสำคัญในการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ โดยประกาศนโยบาย European Green Deal  ของสหภาพยุโรป ซึ่งมีข้อเสนอทางกฎหมายรวม 13 ฉบับ ที่จัดทำขึ้นเพื่อการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจากให้ได้อย่างน้อย 55 % ภายในปี 2573 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2563  ซึ่งมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน ซึ่งประกาศใช้ไปแล้วในปี 2566 ที่ผ่านมา  

โดยมาตรการ CBAM กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. เหล็กและเหล็กกล้า 2. อะลูมิเนียม 3. ซีเมนต์ 4. ปุ๋ย 5. ไฟฟ้า และ 6. ไฮโดรเจน ต้องแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาในอียู และปริมาณปล่อยก๊าซ เรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้านั้น

เปิด  4 ประเทศเตรียมใช้มาตรการ”CBAM”ตามรอย\"EU\"

สำหรับประเทศอื่นๆที่มีแผนเริ่มใช้มาตรการCBAM แบบอียู คือ

สหรัฐ  เมื่อเดือนก.ค. 2564 และมิ.ย. 2565 สมาชิกรัฐสภาและวุฒิสภา ได้เสนอร่างกฎหมาย FAIR Transition and Competition Act (FTCA) และ Clean Competition Act (CCA) ตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง เช่น เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์  ก๊าซธรรมชาติและปิโตรเลียม อย่างไรก็ดีร่างกฎหมายทั้ง สองฉบับยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ

สหราชอาณาจักร หลังจากได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะเมื่อเดือนมี.ค. –มิ.ย.  2566 รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศว่าจะเริ่มใช้มาตรการ CBAM ภายในปี2570 โดยในเบื้องต้น จะบังคับใช้กับสินค้าในกลุ่มเหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์  เซรามิก ปุ๋ย กระจก และไฮโดรเจน โดยจะเริ่มต้นกระบวนการปรึกษาหารือเกี่ยวกับรายละเอียดของมาตรการในปี2567 ต่อไป

แคนาดา  เมื่อเดือนส.ค. 2564 – ม.ค. 2565 กระทรวงการคลังและกระทรวงสิ่งแวดล้อมของ แคนาดาได้เริ่มกระบวนการปรึกษาหารือภายในประเทศเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน อย่างไรก็ดีจนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม

ออสเตรเลีย  เมื่อเดือนก.ย. 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ พลังงาน ได้ประกาศเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการ CBAM โดยอาจเริ่มต้นกับ 2 กลุ่มสินค้า  ได้แก่ เหล็กกล้าและซีเมนต์ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายให้จัดทำรายงานผลการพิจารณา เรื่องนี้ภายในไตรมาส 3 ของปี2567

ทั้งนี้นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์  รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้มีข้อแนะนำให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องเตรียมพร้อมและรับมือกับมาตรการซีแบม โดยใช้แนวคิด BCG model เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและลดก๊าซเรือนกระจก การปรับปรุงองค์กรและการที่ภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งจะเป็นจุดขายที่ช่วยดึงดูดผู้บริโภคและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ

ติดตามและศึกษาพัฒนาการของแนวโน้มนโยบายและมาตรการด้านการค้าใหม่อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมปรับตัวรองรับ รวมทั้งแสวงหาโอกาสใหม่เกี่ยวกับธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม ปล่อยคาร์บอนต่ำ