‘ภาวะโลกร้อน’ ส่งผลให้สมองทำงานแย่ลง คนเป็นโรคระบบประสาทเร็วมากขึ้น
วิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีอิทธิพลต่อโรคทางระบบประสาท และความผิดปกติด้านสุขภาพจิต ซึ่งทำให้อาการของโรครุนแรงยิ่งขึ้น และมีคนป่วยเป็นโรคเพิ่มขึ้น
KEY
POINTS
- วิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีอิทธิพลต่อโรคทางระบบประสาท และความผิดปกติด้านสุขภาพจิต ซึ่งทำให้อาการของโรครุนแรงยิ่งขึ้น และมีคนป่วยเป็นโรคเพิ่มขึ้น
- เมื่อความร้อนเพิ่มขึ้นสมองของเราตอบสนองต่อความเครียด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบ และความเสื่อมในรูปแบบอื่นๆ ทำให้การรับรู้ลดลง และผู้ป่วยจะมีอายุลดลงเรื่อยๆ
- คาดว่าภายในปี 2050 ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม และลมบ้าหมูเพิ่มขึ้นจนมากกว่า 150 ล้านคน
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้โรคติดเชื้อ และโรคทางเดินหายใจแย่ลง แต่ล่าสุดนักวิจัยพบว่าภาวะโลกร้อนส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทด้วยเช่นกัน
ในการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน พบว่า ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีอิทธิพลต่อโรคทางระบบประสาทที่สำคัญ และความผิดปกติด้านสุขภาพจิต ซึ่งไม่ได้ทำให้คนป่วยเป็นโรคเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความรุนแรงของโรค จนทำให้ต้องรักษาในโรงพยาบาล ความพิการ และแม้กระทั่งการเสียชีวิตอีกด้วย
สมองของเรามีหน้าที่จัดการกับความสมดุลสิ่งแวดล้อมที่เราเผชิญ เมื่ออุณหภูมิ และความชื้นที่สูงขึ้น ร่างกายของเราจะส่งสัญญาณ เช่น เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ร่างกายจะกระตุ้นให้เหงื่อออก และบอกให้เราย้ายออกจากแสงแดด และไปอยู่ในที่ร่ม
“สมองจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม หากสมองมีความผิดปรกติ สมองจะควบคุมอุณหภูมิได้แย่ลง และจะยิ่งชัดเจนเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น” ซานเจย์ ซิโซดิยา ศาสตราจารย์จากสถาบันประสาทวิทยา UCL Queen Square ผู้นำการวิจัย กล่าว
โลกร้อนทำสมองทำงานผิดปรกติ
เมื่อสภาพอากาศสุดขั้วเริ่มรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องปรกติ การหาความสัมพันธ์ระหว่างผิดปกติทางระบบประสาทกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากสำหรับการดูแลประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด กลุ่มเด็ก และผู้สูงอายุ
สำหรับการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยได้ตรวจสอบรายงาน 332 ฉบับ โดยพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสภาวะทางระบบประสาท 19 ประการ รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ และภาวะสมองเสื่อมในรูปแบบอื่นๆ ไมเกรน โรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อีกทั้งนักวิจัยยังรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และโรคจิตเภท เนื่องจากความผิดปกติทางจิตเวชมักเกี่ยวข้องโรคทางระบบประสาทบ่อยครั้ง
การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อแต่ละโรคในลักษณะที่แตกต่างกัน แต่ภาวะส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องในวงกว้างกับความชุกสูงขึ้น และอาการที่แย่ลง
ผลการวิจัยพบว่าผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ พยายามปรับตัวในช่วงที่อากาศร้อนจัด เช่น การขอความช่วยเหลือ การสวมเสื้อผ้าบาง และการดื่มน้ำมากขึ้น นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นยังมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตหรือทำให้พิการได้
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ตอนกลางคืนมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยโรคลมบ้าหมูมีอาการแย่ลงจากการอดนอน (การวิจัยยังพบว่าความเย็นจัดสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน)
โลกร้อนกระตุ้นปัญหาสุขภาพจิต
อุบัติการณ์ความผิดปกติด้านสุขภาพจิต และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมีความสัมพันธ์อย่างมากกับอุณหภูมิแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น รายงานฉบับหนึ่งแสดงให้เห็นว่าการเรียกร้องค่าประกันสุขภาพของสหรัฐจากการเข้ารับการตรวจในห้องฉุกเฉิน ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต ระหว่างปี 2010-2019 เพิ่มขึ้นในวันที่อากาศร้อนจัด
นอกจากนี้ภัยพิบัติจากสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พายุ ไฟป่า คลื่นความร้อน น้ำท่วม สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการวิตกกังวล ความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึมเศร้า และความคิดฆ่าตัวตาย
เบอร์ซิน อิคิซ นักประสาทวิทยาที่ศึกษาผลกระทบของรูปแบบสิ่งแวดล้อมในสมองกล่าวว่า เมื่อความร้อนเพิ่มขึ้นสมองของเราตอบสนองต่อความเครียด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบ และความเสื่อมในรูปแบบอื่นๆ ทำให้การรับรู้ลดลง
“สิ่งที่ทำให้ฉันกลัวมากที่สุดเกี่ยวกับสถานการณ์นี้คือ ภายในปี 2050 ผู้คนจะมีความผิดปกติทางระบบประสาทเพิ่มมากขึ้น และคนที่ป่วยจะมีอายุลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ 40-50 ปี แทนที่จะเป็น 70-80 ปี เพราะสมองของเราถูกโจมตีด้วยความเครียดที่แตกต่างกัน เช่น ความร้อน มลภาวะ และไมโครพลาสติก”
ผู้ที่มีภาวะทางระบบประสาท และจิตเวชที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกมีจำนวนมาก โดยคาดว่าภายในปี 2050 ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม และลมบ้าหมูเพิ่มขึ้นจนมากกว่า 150 ล้านคน โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่สอง และเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการทั่วโลก
ซิโซดิยาและอิกิซ เรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติม และการแทรกแซงเชิงนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเกิดขึ้นต่อบุคคลและระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ยากจน
ในขณะที่โลกเผชิญกับความร้อนระอุในฤดูร้อนที่ทำลายสถิติอีกรอบ ผู้คนก็สามารถดำเนินการเพื่อป้องกันความร้อนจัดได้เช่นกัน เช่น การอยู่ในที่ร่มระหว่างวัน ไม่ออกไปอยู่กลางแจ้ง ปิดหน้าต่างหรือบานประตูหน้าต่าง ใช้สิ่งของเพื่อให้เย็น และชุ่มชื้น และเก็บยาไว้ใกล้ตัว
แต่วิธีจะลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดี และได้ผลมากที่สุด คือ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล หยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอากาศ
ที่มา: Bloomberg, Fast Company, The Conversation
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์