ประธาน อบก.ยกระดับคาร์บอนเครดิตไทย ชู Premium T-VER
ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 23 เมษายน ศกนี้ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ได้มอบนโยบายแก่คณะกรรมการชุดใหม่และคณะผู้บริหาร อบก
อบก. เป็นหน่วยงานปฏิบัติการ ที่จะต้องสนองนโยบายรัฐบาล และนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เพื่อให้การดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเป็นไปตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงปารีส
ที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี ขอชมเชย อบก ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตของไทยให้เป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับ โครงการ T-VER และ Premium T-VER กว่า 400 โครงการได้รับการรับรองและก่อให้เกิดคาร์บอนเครดิตได้ไม่ต่ำกว่า 18 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ให้การรับรองการใช้เครื่องหมาย Carbon Footprint ให้กับองค์กรและผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนกว่า 10,000 รายการ ซึ่งทำให้บริษัทและสินค้าและบริการของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ภารกิจข้างหน้าของ อบก ยังมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง Carbon Pricing ยังเป็นคำตอบสุดท้ายของการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero Emissions ตลาดคาร์บอนของไทยยังมีขนาดเล็กและขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อเตรียมการรองรับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอันใกล้ อบก จะต้องมุ่งเน้นภารกิจ ดังนี้
ประการแรก ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมดังนั้น การลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง อบก. จะต้องทำหน้าที่สร้างการรับรู้และการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ในภาคเกษตร ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5แล้ว ยังจะเป็นการยกระดับกระบวนการผลิตของภาคเกษตรกรรมให้มีผลผลิตทางการเกษตรด้วยมาตรฐานที่สูงขึ้น จะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย
ประการที่สอง สนับสนุนการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการลดก๊าซเรือนกระจก นับวันโครงการดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นโครงการพลังงานทดแทนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ก็จะเริ่มมีข้อจำกัดในการลดก๊าซเรือนกระจก แต่เทคโนโลยีใหม่ได้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีดูดกลับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage-CCS) แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้วและมีความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิค แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องต้นทุนที่สูงและระเบียบข้อบังคับ คาร์บอนเครดิตที่มีราคาเหมาะสมและการสนับสนุนจากภาครัฐจะทำให้โครงการเหล่านี้มีความเป็นไปได้ทางการเงินการลงทุน
ประการที่สาม การจัดการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะด้านการลดก๊าซเรือนกระจกแก่ภาคธุรกิจและประชาชนในวงกว้างให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้นในสภาวะแวดล้อมของโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งจำเป็นต้องมีการสร้างเครือข่าย(Networking) ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ และทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อยกระดับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่ทุกภาคส่วน และเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดด้านทรัพยากรของอบก. หากเป็นไปได้ควรพิจารณาการบริหารจัดการภารกิจการฝึกอบรมร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
ประการที่สี่ สถาบันการเงินและตลาดทุนมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสร้างสภาพคล่องให้ตลาดคาร์บอนและจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน ให้ก้าวไปสู่ธุรกิจสีเขียวและการลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ รวมทั้งกองทุน ESG สินเชื่อสีเขียว และ Green Bonds ในตลาดเงินตลาดทุนและหาก อบก. สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านี้ด้วยคาร์บอนเครดิต ก็จะช่วยสร้างเงื่อนไขและต้นทุนการดำเนินงานที่ผ่อนปรนยิ่งขึ้น
ประการสุดท้าย ประเทศไทยมีศักยภาพที่ควรต้องพัฒนาไปสู่ความเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนในระดับภูมิภาค (Carbon Trading Hub) และ อบก. จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศการสร้างความเชื่อมโยงของตลาดคาร์บอนข้ามพรมแดน รวมทั้งการลงทุนและการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ