คนซักเสื้อผ้าบ่อยเกินไป ไม่คิดถึงสิ่งแวดล้อม กลัวถูกมองว่าสกปรก

คนซักเสื้อผ้าบ่อยเกินไป ไม่คิดถึงสิ่งแวดล้อม กลัวถูกมองว่าสกปรก

คนส่วนใหญ่ซักเสื้อผ้าบ่อยเกินไป เพราะกลัวสังคมมองว่าเป็น “คนสกปรก” โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

KEY

POINTS

  • ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่าการโดนรังเกียจและถูกทำให้อับอายจากการใส่เสื้อผ้าสกปรก จะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้คนซักผ้าบ่อยขึ้น แม้แต่ในกลุ่มที่ใส่ใจเรื่องภาวะโลกร้อนก็ตาม
  • หลายคนไม่คิดว่าการซักเสื้อผ้าเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม แม้ว่าความจริงแล้ว การปล่อยไมโครพลาสติกทั่วโลกจากการซักผ้าจะสูงถึง 16–35% อีกทั้งเครื่องซักผ้าจะใช้พลังงานและน้ำจำนวนมาก
  • สังคมตั้งบรรทัดฐานด้านความสะอาดไว้ ทำให้คนเรารู้สึกว่าตนเองจะถูกรังเกียจ หรือการใส่เสื้อผ้าสกปรกจะทำให้พวกเขาอับอาย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกดดันให้ผู้คนซักผ้าบ่อยครั้ง จนไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งที่พวกเขาอาจมีความตั้งใจเหล่านี้อยู่

หลังจากใส่เสื้อผ้าเสร็จแล้วในแต่ละวัน ผู้คนมักจะโยนเสื้อผ้าที่เต็มไปด้วยเหงื่อไคลและเลอะคราบต่าง ๆ เพื่อนำไปซัก แม้จะใส่ไปแค่ครั้งเดียวก็ตาม ซึ่งการซักผ้าบ่อย ๆ ก็ทำให้ปล่อย “ไมโครพลาสติก” ออกมาเป็นจำนวนมาก 

ดูเหมือนว่าการรักษาความสะอาดจะสวนทางกับการรักษ์โลก เพราะการวิจัยใหม่แสดงให้เห็นว่าการโดนรังเกียจและถูกทำให้อับอายจากการใส่เสื้อผ้าสกปรก จะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้คนซักผ้าบ่อยขึ้น แม้แต่ในกลุ่มที่ใส่ใจเรื่องภาวะโลกร้อนก็ตาม

นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,000 คน เมื่อร้องขอให้กลุ่มผู้เข้าทดสอบไม่ซักผ้า แต่เปลี่ยนเป็นการผึ่งเสื้อผ้าสกปรกของพวกเขาแทน พบว่า คนส่วนใหญ่ปฏิเสธ เพราะกลัวถูกสังคมมองว่าเป็นคนสกปรก ไม่รักษาความสะอาด

“ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ยิ่งเรารู้สึกโดนรังเกียจมากเท่าไร เราก็จะยิ่งซักผ้าบ่อยขึ้นเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าปรกติแล้วเราจะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน สุดท้ายแล้วความกลัวที่โดนมองว่าเป็นคนน่ารักเกียจก็เอาชนะความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมได้” เอริค คลินต์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชาลเมอส์ ในสวีเดน และผู้เขียนรายงานวิจัยกล่าว

ยิ่งรู้สึกถูกรังเกียจ ยิ่งซักผ้าบ่อย

เมื่อพูดถึงประเด็นความยั่งยืนในวงการแฟชั่น ผู้คนมักจะพุ่งเป้าไปที่ “ฟาสต์แฟชั่น” เป็นอันดับแรก ขณะที่การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองจากการซักผ้าบ่อย ๆ กลับไม่เคยถูกมองว่าเป็นปัญหา ครัวเรือนในยุโรปโดยเฉลี่ยซักผ้า 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ 

แม้ว่าความถี่ในการซักของชาวยุโรปจะเท่าเดิมมาตลอด 20 ปี แต่ปริมาณการซักกลับเพิ่มขึ้น ตามข้อมูลจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศสพบว่า ในปี 2547 เครื่องซักผ้าขนาด 6 กิโลกรัม มีส่วนแบ่งยอดขายเพียง 2% แต่ในปี 2558 ยอดขายกลับพุ่งไปเป็น 64% ในปี 2558 

ขณะเดียวกัน คนทั่วโลกก็เข้าถึงเครื่องซักผ้ามากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 30% ของครัวเรือนทั่วโลกในปี 2553 เป็น 80% ในปี 2567

ทีมวิจัยของคลินต์เรียนรู้จากงานวิจัยครั้งก่อนว่า หลายคนไม่คิดว่าการซักเสื้อผ้าเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม แม้ว่าความจริงแล้ว การปล่อยไมโครพลาสติกทั่วโลกจากการซักผ้าจะสูงถึง 16–35% อีกทั้งเครื่องซักผ้าจะใช้พลังงานและน้ำจำนวนมาก รวมถึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชัน (Eutrophication) หรือสาหร่ายสะพรั่งก็ตาม 

“แม้ว่าปัจจุบันเครื่องซักผ้าพลังงานมากขึ้น แต่ความถี่ในการซักนั้นมีผลกระทบต่อสภาพอากาศมากที่สุด เราไม่เคยซักผ้ามากเท่าทุกวันนี้ และคนส่วนใหญ่ไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซักผ้าเพื่อลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ” คลินต์กล่าว

การวิจัยพบว่า สาเหตุที่ทำให้ซักผ้าบ่อย เกิดจากบรรทัดฐานด้านความสะอาดที่สังคมตั้งไว้ พวกเขารู้สึกว่าตนเองจะถูกรังเกียจ หรือการใส่เสื้อผ้าสกปรกจะทำให้พวกเขาอับอาย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกดดันให้ผู้คนซักผ้าบ่อยครั้ง จนไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความตั้งใจที่เป็นนามธรรม เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การไม่ได้รับการยอมรับ หรือถูกสังคมรังเกียจ สามารถผลักดันพฤติกรรมของคนเราอย่างมาก เพราะเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขตามวิวัฒนาการ ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อหรือสารอันตราย เมื่อรวมกับความอับอายหรือความกลัวว่าคนอื่น ๆ จะไม่มายุ่งคนสกปรก ไม่ดูแลสุขอนามัย จะยิ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมากขึ้น

“ไม่สำคัญว่าคุณมีข้อโต้แย้งที่สมเหตุสมผลและมีหลักฐานยืนยัน แต่ถ้ามันขัดกับแรงขับที่มีอยู่ เช่น ความปรารถนาที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ข้อต่อแย้งเหล่านั้นก็จะไม่มีผลต่อพฤติกรรม” คลินต์กล่าว

 

ปรับมุมมองการซักผ้า

ตามการสำรวจจาก Unilever พบว่า เสื้อผ้าประมาณ 70% ถูกเข้าเครื่องซักผ้าทั้งที่ไม่มีคราบที่มองเห็น ทั้งที่ความจริงแล้ว มีเสื้อผ้าหลายชนิดที่สามารถใส่ซ้ำหลาย ๆ ครั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นกางเกงยีนส์ผ้าเดนิม เสื้อกันหนาว และผ้าขนสัตว์

คลินต์กล่าวว่า วิธีที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนได้ คือการปรับมุมมองเกี่ยวกับการซักผ้า นำเสนอวิธีการทำความสะอาดเสื้อผ้าใหม่ ๆ เช่นเสื้อผ้าที่ใส่ได้ซ้ำหลายครั้งสามารถใช้ “การทำความสะอาดเฉพาะจุด” แทนได้การซักตั้งแต่ครั้งแรกที่สวมใส่ได้ โดยการใช้น้ำสบู่แปรงลงบนคราบดังกล่าว จะช่วยลดจำนวนเสื้อผ้าที่ต้องซักลงได้ 

รวมถึงการตากผ้า การปัดฝุ่น ขณะเดียวกันจะต้องสร้างการรับรู้ในหมู่คนทั่วไปว่า การซักผ้าบ่อยเกินไปจะทำให้เนื้อผ้าถูกทำลาย และมีอายุการใช้งานสั้นกว่าปรกติ

แม้ในระยะแยกอาจจะต้องเผชิญหน้ากับความกลัวจากการละเมิดบรรทัดฐานความสะอาดของสังคม แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก พวกเขาก็ตระหนักว่าไม่มีใครสังเกตเห็น

อันที่จริงไม่มีกฎตายตัวว่าควรซักเสื้อผ้าบ่อยแค่ไหน แต่การลดความถี่ในการซักผ้ามีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมได้มาก ตามรายงานจากหน่วยงานวิจัยของรัฐสภายุโรป ระบุว่าเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์สามารถปล่อยเส้นใยไมโครพลาสติกได้ 700,000 เส้น ในการซักเพียงครั้งเดียว ขณะที่ Levi's แนะนำให้ซักกางเกงยีนส์หลังจากใส่ไปแล้ว 10 ครั้ง แทนที่จะซักหลังจากใส่ไปเพียง 2-3 ครั้ง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำลงได้ 3 ใน 4


ที่มา: Euro NewsPhysThe Guardian