‘มลพิษทางอากาศ’ คร่าชีวิต ‘เด็กเล็ก’ วันละเกือบ 2,000 คน
ในทุก ๆ วันเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเกือบ 2,000 คนเสียชีวิตจาก “มลพิษทางอากาศ” สูงเป็นอันดับ 2 การเสียชีวิตของเด็กเล็กทั่วโลก เป็นรองเพียงแต่ “ภาวะทุพโภชนาการ”
KEY
POINTS
- การศึกษา ระบุว่า ในปี 2564 เด็กและผู้ใหญ่มากกว่า 8.1 ล้านรายเสียชีวิตจาก “มลพิษทางอากาศ” โดยในจำนวนนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตถึง 709,000 ราย หรือเฉลี่ยมีเด็กเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศเกือบ 2,000 คนต่อวัน
- เด็กประมาณ 500,000 คน เสียชีวิตในปี 2564 เพราะอากาศสกปรกภายในอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรุงอาหารด้วยเชื้อเพลิงสกปรกที่ก่อให้เกิดควันอันตรายเมื่อเผา รวมถึงการเผาชีวมวล ถ่าน พาราฟิน และถ่านหิน
- ขณะที่ “PM2.5” เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มากกว่า 90% คนทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ และเป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจหลายโรค
ปัจจุบัน “มลพิษทางอากาศ” ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนทั่วโลก ที่น่ากังวลไปกว่านั้นมีเด็กเล็กเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ ทั้ง PM2.5 และควันจากการทำอาหารภายในบ้าน
สถาบันผลกระทบด้านสุขภาวะ (Health Effect Institute) เผยแพร่การศึกษา State of Global Air ระบุว่า ในปี 2564 เด็กและผู้ใหญ่มากกว่า 8.1 ล้านรายเสียชีวิตจาก “มลพิษทางอากาศ” โดยในจำนวนนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตถึง 709,000 ราย หรือเฉลี่ยมีเด็กเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศเกือบ 2,000 คนต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 15% ของการเสียชีวิตทั่วโลกในกลุ่มอายุนี้
เด็กเล็กเสียชีวิตเพราะ “มลพิษทางอากาศ”
มลภาวะทางอากาศเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของกลุ่มเด็กเล็กทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยากจนโดยเฉพาะในแอฟริกา มีอัตราการเสียชีวิตของเด็กที่เกิดจากมลพิษทางอากาศสูงกว่าประเทศที่มีรายได้สูงถึง 100 เท่า
ปัลลาวี ปันต์ หัวหน้าฝ่ายสุขภาพทั่วโลกของ HEI และผู้เขียนรายงาน ระบุว่ารายงานชิ้นนี้ทำให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง เพราะการเสียชีวิตมากกว่า 70% เชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศในครัวเรือน ซึ่งเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงที่ไม่สะอาด
เด็กประมาณ 500,000 คน เสียชีวิตในปี 2564 เพราะอากาศสกปรกภายในอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรุงอาหารด้วยเชื้อเพลิงสกปรกที่ก่อให้เกิดควันอันตรายเมื่อเผา รวมถึงการเผาชีวมวล ถ่าน พาราฟิน และถ่านหิน
ควันพิษจากการทำอาหารเป็นสาเหตุอันดับ 3 ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของโลก โดย 60% ของผู้เสียชีวิตอยู่ในแอฟริกา ทำให้การสูดดมควัน และมลพิษทางอากาศภายในอาคารกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนในแอฟริกา รวมถึงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหอบหืดในเด็ก
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ประมาณการว่าเพื่อให้ชาวแอฟริกัน 250 ล้านคน สามารถเข้าถึงการปรุงอาหารที่สะอาดปลอดภัย ภายในปี 2573 โดยในเดือนพ.ค. ได้จัดการประชุมสุดยอดระดับโลก เพื่อระดมทุนจนได้ 2,200 ล้านดอลลาร์ สำหรับทำโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนผู้คนทั่วทั้งทวีปให้หันมาใช้วิธีที่สะอาดยิ่งขึ้น
“PM2.5” คร่าชีวิตคนมากที่สุด
รายงานพบว่าอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กที่เรียกว่า “PM2.5” ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มากกว่า 90% คนทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ
PM2.5 สามารถเข้าสู่กระแสเลือดและส่งผลต่ออวัยวะทั่วร่างกาย ซึ่งไม่ได้ทำให้เป็นโรคปอดเท่านั้น แต่ยังทำให้เป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน โรคสมองเสื่อม และการแท้งบุตร อีกทั้งมลพิษทางอากาศยังทำให้การรับรู้ของมนุษย์แย่ลง
ในปัจจุบันฝุ่น PM2.5 ฟุ้งกระจายทั่วโลกในระดับสูง จึงไม่น่าแปลกใจนัก หากจะมีผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น ตามรายงาน พบว่าการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเชื่อมโยงกับโรคระบบทางเดินหายใจหลายโรค ไม่ว่าจะเป็น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (48%) การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง (30%) และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (28%) โดยประเทศในเอเชียใต้และแอฟริกาเผชิญกับภาระโรคสูงสุด อีกทั้ง
การศึกษาพบว่าผู้คนในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางต้องเผชิญกับ PM2.5 ในสภาพแวดล้อมที่สูงกว่า 1.3-4 เท่า
คิตตี้ ฟาน เดอร์ ไฮจ์เดน รองผู้อำนวยการบริหารของ Unicef กล่าวว่า “การนิ่งเฉยไม่แก้ปัญหาของเราจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนรุ่นต่อไป นี่เป็นปัญหาเร่งด่วนระดับโลก รัฐบาลและภาคธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาและดำเนินการช่วยเหลือ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็กเป็นหลัก เพื่อลดมลพิษทางอากาศและปกป้องสุขภาพของเด็ก”
ขณะเดียวกัน วิกฤติสภาพภูมิอากาศยังทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงอีกด้วย รายงานพบว่า เมื่อภัยแล้งรุนแรงและยาวนานขึ้น ผืนดินแห้งแล้งกว่าเดิม ไฟป่ารุนแรงมากขึ้น ยิ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หมอกควัน และมลพิษสู่อากาศมากขึ้น อีกทั้งพายุฝุ่นพัดถล่มที่ราบ อุบัติภัยเหล่านี้ทำให้ฝุ่นฟุ้งอยู่ในอากาศยาวนานกว่าที่เคย
นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนขึ้นในช่วงฤดูร้อน ยังทำให้มลพิษในอากาศสร้างผลกระทบที่รุนแรงกว่าเดิม เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะทำให้ก๊าซนี้เปลี่ยนเป็น ก๊าซโอโซนได้ง่ายขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดการระคายเคืองเมื่อหายใจเข้าไป ทั้งนี้การสัมผัสกับโอโซนเป็นระยะเวลานาน มีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 500,000 คนในปี 2564
มลพิษทางอากาศยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกหลายประการ ทั้งก่อให้เกิดฝนกรด ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อดินและพืช ไปจนถึงเกิดโรคในสัตว์ พิการแต่กำเนิด และระบบสืบพันธุ์ล้มเหลว ส่วนพืชก็มีความเสี่ยงเป็นโรคจากรังสียูวีที่เพิ่มขึ้น จากการสูญเสียโอโซน
ฟาติห์ บิรอล กรรมการบริหารของ IEA เปิดเผยว่า รัฐบาลและองต์การระดับโลกต้องเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ปัญหา เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงความเท่าเทียมกันทางเพศ เนื่องจากผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมักได้รับมอบหมายหน้าที่ในการหาฟืนและทำอาหาร โดยบิรอลกล่าวว่า “นี่เป็นปัญหาที่ถูกละเลยมานานเกินไป”
ที่มา: Earth, The Guardian, Unicef