ปลาทั่วโลกตัวเล็กลง ผลกระทบจากโลกร้อน-น้ำทะเลอุ่นขึ้น

ปลาทั่วโลกตัวเล็กลง ผลกระทบจากโลกร้อน-น้ำทะเลอุ่นขึ้น

“ภาวะโลกร้อน” ส่งผลกระทบให้แก่สิ่งมีชีวิตทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำ เพราะเมื่อน้ำทะเลร้อนขึ้น จะทำให้ปลามีขนาดตัวเล็กลง

KEY

POINTS

  • การทำประมงเกินขีดจำกัดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ขนาดของปลาโตเต็มวัยลดลง คุกคามแหล่งโปรตีนอาหารสำคัญของผู้คนมากกว่า 3,000 ล้านคน และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  • น้ำทะเลอุ่นขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกือบสามในสี่ของปลาทะเลทั่วโลกมีขนาดลำตัวโดยเฉลี่ยเล็กลงในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
  • นักวิทยาศาสตร์เสนอทฤษฎีที่ทำให้ปลามีขนาดเล็กลงเมื่อเจอน้ำอุ่นไว้หลายทฤษฎี หนึ่งในทฤษฎีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ทฤษฎีเหงือกโตเร็วไม่ทัน โดยเชื่อว่าพื้นที่เหงือกมีขนาดจำกัดในการรับออกซิเจน ส่งผลให้ปลาต้องลดการเจริญเติบโตของร่างกายลง ทำให้พวกมันตัวเล็กกว่าที่ควรจะเป็น

“ภาวะโลกร้อน” ส่งผลกระทบให้แก่สิ่งมีชีวิตทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำ เพราะเมื่อน้ำทะเลร้อนขึ้น จะทำให้ปลามีขนาดตัวเล็กลง

จากการวิเคราะห์ที่เก็บข้อมูลปลาทะเลทั่วโลกระหว่างปี 1960-2020 พบว่า น้ำทะเลอุ่นขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกือบสามในสี่ของปลาทะเลทั่วโลกมีขนาดลำตัวโดยเฉลี่ยเล็กลง ไม่ว่าจะเป็น “ปลาแซลมอน” ในวงกลมแอนตาร์กติกบริเวณขั้วโลกเหนือมีขนาดเล็กลง เช่นเดียวกับปลาเชิงพาณิชย์หลายสายพันธุ์ในทะเลเหนือมีขนาดลดลงประมาณ 16% ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

ทั้งหมดเป็นผลจากการทำประมงเกินขีดจำกัด (overfishing) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ขนาดของปลาโตเต็มวัยลดลง คุกคามแหล่งโปรตีนอาหารสำคัญของผู้คนมากกว่า 3,000 ล้านคน และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อปลามีขนาดเล็กลง เนื้อในการนำมาปรุงอาหารก็ลดลง ขณะเดียวกันก็จับปลาได้น้อยลง นักวิทยาศาสตร์จึงกำลังทำงานร่วมกันเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา และหาคำตอบว่าทำไมอุณหภูมิในมหาสมุทรที่สูงขึ้นถึงทำให้ปลามีขนาดเล็กลง

ลิซ่า โคโมโรสกี และ โจชัว ลอนแธร์ นักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ แอมเฮิร์ส ทำการทดลองเลี้ยงปลาบรู๊คเทราต์ โดยแบ่งปลาออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะนำไปเลี้ยงในน้ำอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ในขณะปลาอีกกลุ่มอยู่ในน้ำ 13 องศาเซลเซียส ทั้งหมดได้รับอาหารแบบเดียวกัน เป็นเวลา 8 เดือน

ปลาเทราต์มีขนาดเล็กลง

ปลาเทราต์มีขนาดเล็กลง
เครดิตภาพ: มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ แอมเฮิร์ส

เมื่อสิ้นสุดการทดลอง พบว่า ปลาเทราต์ทั้ง 2 บ่อมีขนาดที่แตกต่างกัน โดยปลาเทราต์ที่เลี้ยงในน้ำอุ่นจะมีขนาดเล็กกว่าปลาอื่น ๆ โดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นไปตาม “Temperature-size rule” หรือ “TSR” ซึ่งอธิบายความสามารถของการเติบโตในสิ่งมีชีวิตเดียวกัน ที่เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ก็ทำให้มีขนาดแตกต่างกันไปด้วยย โดยในที่นี้ก็คือปลาที่อยู่ในอุณหภูมิต่ำกว่าเติบโตได้ดีกว่า ปลาที่อยู่ในอุณหภูมิที่สูงกว่า

“เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกกำลังเกิดขึ้น มหาสมุทรและแม่น้ำกำลังอุ่นขึ้น และเรารู้ว่าสัตว์หลายชนิด ไม่ใช่แค่ปลา มีขนาดตัวที่เล็กลงภายใต้อุณหภูมิที่อุ่นขึ้น เรารู้ว่ามันคือ TSR แม้จะมีการวิจัยมานานหลายทศวรรษ แต่เราก็ยังไม่เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร” ลอนแธร์กล่าว

ปลาต่างจากมนุษย์ตรงที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิน้ำสูงขึ้น พวกมันจึงจำเป็นต้องการออกซิเจนมากขึ้นตามไปด้วย แดเนียล พอลลี นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย จึงเสนอทฤษฎีเหงือกโตเร็วไม่ทัน (Gills don’t go as fast as volume) โดยพอลลีเชื่อว่าพื้นที่เหงือกมีขนาดจำกัด ไม่สามารถเติบโตขึ้นได้ทันกับความต้องการออกซิเจนในการสร้างร่างกายให้เติบโตขึ้นได้ ส่งผลให้ปลาต้องลดการเจริญเติบโตของร่างกายลง ทำให้พวกมันตัวเล็กกว่าที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ดูจะไม่ตรงกับความจริงที่โคโมโรสกีและลอนแธร์พบ หลังจากชำแหละปลาเทราต์ ซึ่งพบว่าเหงือกของปลาที่เลี้ยงในน้ำอุ่นนั้นมีขนาดใหญ่เพียงพอในการเจริญเติบโตของปลา โดยลอนแธร์กล่าวว่า “หากเป็นทฤษฎีระดับโลก ทฤษฎีนี้ก็ควรใช้ได้กับทุกสายพันธุ์ ไม่สำคัญว่าจะเป็นปลาเทราต์ในลำธาร ปลาซาร์ดีน หรือสายพันธุ์อื่นใด

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าอัตราการเผาผลาญพลังงานของปลาในบ่อน้ำอุ่นจะสูงขึ้น ซึ่งบ่งชี้ถึงการใช้ออกซิเจนที่สูงขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วอัตรานี้จะกลับมาคงที่หลังจากผ่านไปแล้ว 6 เดือน ดังนั้นการปรับตัวนี้แสดงให้เห็นว่าปลาเทราต์สามารถปรับตัวทางสรีรวิทยาให้เข้ากับสภาพอากาศที่อุ่นขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

ทั้งนี้ พอลลีกล่าวว่ามีวิธีการแปลข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเผาผลาญพลังงานขั้นพื้นฐานของปลาแตกต่างกันไป และการศึกษาอีกหลายชิ้นก็สนับสนุนทฤษฎีของเขาเช่นกัน

นอกจากทฤษฎีดังกล่าวแล้ว ก็มีนักวิทยาศาสตร์ให้คำอธิบายไว้ว่า ปลาวิวัฒนาการให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้สามารถอยู่รอดในช่วงที่ร้อนจัด หรือระบบอื่น ๆ ของร่างกายนอกเหนือจากเหงือกกำลังจำกัดการดูดซึมออกซิเจนและการเจริญเติบโต

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สิ่งหนึ่งรู้แน่ชัดคือปลาไม่ได้ตัวเล็กลงเพื่อรอดพ้นจากการจับโดยมนุษย์ เพราะมีปลาหลายชนิดในแม่น้ำหลายสายของฝรั่งเศสที่มนุษย์ไม่ได้จับกิน ก็มีขนาดเล็กลงในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาที่มีอุณหภูมิน้ำสูงขึ้นเช่นกัน 

นอกจากนี้ เมื่อปลาตัวเล็กลง ก็จะผลิตไข่ได้น้อยลง ทำให้มีปลาจำนวนลดลง ขณะเดียวกันชาวประมงก็ได้รับปัญหาด้วยเช่นกัน เพราะปลาตัวเล็กลงก็จะทำให้ขายได้ราคาถูกลง อาร์ต บลูม ชาวประมงผู้จับปลาแซลมอนในอ่าวบริสตอล รัฐอะแลสกา กล่าวว่า นี่เป็นมันเป็นปัญหาสำหรับการประมง โดยเขาต้องเปลี่ยนจากการใช้อวนที่มีช่องเปิด 5¼ นิ้ว มาใช้อวนที่มีช่องเปิด 4¾ นิ้วแทน เนื่องจากปลาแซลมอนที่เขาจับได้มีขนาดเล็กลง

อย่างไรก็ตาม อิเนส มาร์ตินส์ นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยยอร์กในประเทศอังกฤษ พบว่า ปลาหลายชนิดถึงแม้จะมีขนาดเล็กลง แต่ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่น ถึงจะเป็นเช่นนั้น ความร้อนในมหาสมุทรก็ยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่ เพราะหากปลาไม่สามารถทำให้ตัวเล็กลงเรื่อย ๆ ได้ตลอดไป หากถึงขีดจำกัด พวกมันจะไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ และจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ 

หากแหล่งที่อยู่อาศัยทั้งหมดร้อนเกินไป สัตว์เหล่านี้จะสูญพันธุ์ในที่สุด

 

ที่มา: EarthPhysThe Washington PostThe Conversation