ก้าวสำคัญ อุตสาหกรรมอาหาร เส้นทางสู่ความยั่งยืนและการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์

ก้าวสำคัญ อุตสาหกรรมอาหาร เส้นทางสู่ความยั่งยืนและการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์

อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก (carbon footprint) ขนาดใหญ่ที่นำไปสู่การซ้ำเติมภาวะโลกร้อน (global warming) ที่เป็นปัญหาระดับสากลในปัจจุบัน

ทั้งผู้บริโภคและหน่วยงานต่างๆ ในหลายประเทศต่างให้ความสำคัญและร่วมกันหาแนวทางแก้ไขในขณะนี้ โดยเฉพาะตลาดขนาดใหญ่จากประเทศพัฒนาแล้ว (developed countries) อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดาและญี่ปุ่น

ผู้บริโภคในตลาดโลกมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ และพิจารณาระดับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ผ่านการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณน้อย หรืออาหารทางเลือกอื่น ๆ

อย่างโปรตีนจากพืช (plant-based protein) เพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง อย่างเนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ (ภาพที่ 1)

การประเมินระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการผลิตของกิจการ สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในตลาดโลกได้

การที่ผลิตภัณฑ์มีการเปิดเผยข้อมูลระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และพยายามลดระดับการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ยิ่งเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ยอมรับและสนใจในสินค้าดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใจถึงระดับการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และวางแผนแก้ไขลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ตรงจุด ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้กิจการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ และใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint) และการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถูกขับเคลื่อนหลักโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

ปัจจุบัน การวัดระดับคาร์บอนฟุตพริ้นท์สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก คือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ของบริการ และของผลิตภัณฑ์ ซึ่งการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ค่อนข้างเป็นที่นิยม และมีแนวโน้มจะถูกนำไปบังคับใช้เป็นหนึ่งในมาตรฐานการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารในหลายประเทศได้

ขณะนี้ในหลายประเทศได้มีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ไปแล้ว อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี และมีการเรียกร้องให้สินค้านำเข้าจากไทยต้องติดเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วย

ก้าวสำคัญ อุตสาหกรรมอาหาร เส้นทางสู่ความยั่งยืนและการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์

แม้ปัจจุบันการบังคับใช้อาจยังไม่เกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์อาหารโดยตรง แต่ในอนาคตอันใกล้มีโอกาสสูงมากที่จะมีการบังคับใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          ปัจจุบัน ทาง อบก. มีการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (ที่ยังอยู่ในอายุสัญญา) ไปแล้วกว่า 6,512 รายการ  ซึ่งเป็นฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ทั้งสิน 4,732 รายการ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 73 ของฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นทั้งหมด

หากเปรียบเทียบจำนวนฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนตามรายอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมอาหารมีการออกฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์มากเป็นอันดับสอง (670 ผลิตภัณฑ์) รองจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง 

โดยเป็นของ 39 กิจการในอุตสาหกรรมอาหาร ที่ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งยังถือว่ามีการขึ้นทะเบียนในจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนกิจการทั้งหมดในอุตสาหกรรมอาหารที่มีกว่าแสนราย

ความท้าทายในการสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการอาหารของไทย

การสร้างความตื่นตัวกับเกษตรกรและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ที่ส่วนใหญ่ อาจจะยังไม่ตระหนักว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารเป็นปัญหาที่สำคัญ

และไม่เล็งเห็นโอกาสในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้ง การเข้าร่วมประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ค่าใช้จ่ายคิดตามรายการสินค้า และมีอายุสัญญาระยะสั้น

การเตรียมความพร้อมด้านแรงงาน (ผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนตรวจสอบข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์) ในการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอน กิจการสามารถจ้างทีมที่ปรึกษาที่ได้รับการรับรองจากทาง อบก. ในการจัดการข้อมูลการปล่อยคาร์บอนอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล

ปัจจุบันไทยมีที่ปรึกษาประเภทบุคคลที่ผ่านการรับรองเพียง 149 คน ประเภทนิติบุคคล 8 ราย และในบรรดาที่ปรึกษาเหล่านี้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มประมาณ 77 รายเท่านั้น

การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ยังไม่เกิดความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างนักพัฒนาเทคโนโลยีกับภาคอุตสาหกรรมอาหารโดยตรง

ก้าวสำคัญ อุตสาหกรรมอาหาร เส้นทางสู่ความยั่งยืนและการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักพัฒนาเทคโนโลยีของไทยมีศักยภาพ ที่จะเข้ามาช่วยจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นในภาคอุตสาหกรรมอาหารได้ใน 2 แนวทางหลัก คือ 1.การใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจวัดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการจัดเก็บข้อมูล

เพราะกิจการต่าง ๆ จะต้องทำการรวบรวมและบันทึกข้อมูลที่จำเป็นตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ เพื่อนำมาคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

และ 2.การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพราะเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าและการผลิตจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดและนำของเหลือใช้จากการผลิตกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

เริ่มเตรียมความพร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก: ภาครัฐจะช่วยอะไรได้บ้าง ?

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่เกิดขึ้นในขั้นตอนการทำเกษตรและปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์ประเภทวัว และการปลูกข้าว รวมถึงก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากการหมักปุ๋ยเพื่อทำการเกษตร และที่เกิดจากใช้เครื่องจักร ซึ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐควรเข้าไปสนับสนุนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอาหารและเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการผลิตนี้ส่วนใหญ่เป็น SMEs ไม่พร้อมจะเข้าร่วมการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หากไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างตรงไปตรงมา

นอกจากนั้น หากไทยจะขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการหันมาประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากขึ้น โครงสร้างพื้นฐานด้านการประเมินฯ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น รวมถึงการเข้าถึงการประเมินต้องไม่มีต้นทุนที่สูงเกินไปจนเป็นภาระสำหรับผู้ประกอบการ

ก้าวสำคัญ อุตสาหกรรมอาหาร เส้นทางสู่ความยั่งยืนและการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์

ภาครัฐสามารถเข้ามาสนับสนุนได้อย่างน้อยใน 6 ด้านต่อไปนี้

1.การออกแบบเครื่องมือที่สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แรงจูงใจที่ชัดเจนในเรื่องผลตอบแทนที่เกษตรจะได้รับ ด้วยกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนในการเข้าใจ ไม่ใช่เพียงการจัดอบรมสัมมา และเชิญชวนให้เข้าร่วม

อาทิ การใช้กลไกราคาเข้ามาช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผ่านคาร์บอนเครดิต ที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ด้วยการปรับการผลิตให้มีคาร์บอนฟรุตพริ้นท์น้อยลง

ทั้งนี้ การส่งเสริมอาจเริ่มที่ภาคเกษตรในพืชเศรษฐกิจส่งออกที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในอนาคต อาทิ การเพาะเลี้ยงกุ้ง การเลี้ยงไก่ และการปลูกข้าว

2.การอุดหนุนการเข้าร่วมประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์และการต่อสัญญา เพื่อลดภาระต้นทุนผู้ประกอบการในการเข้าร่วมติดฉลากคาร์บอน และดึงฐานข้อมูลของกิจการขนาดเล็กเข้าสู่ระบบการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์

3.การพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่ผ่านการรับรองโดยหน่วยงานรัฐ และสนับสนุนกิจการเมื่อมีการพัฒนาบุคลากรในการจัดการด้านข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยเฉพาะ

4.การมีหน่วยงานเจ้าภาพที่จะเป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และผู้ประกอบการอาหารได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเครื่องมือในการประเมิน ตรวจวัดระดับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้ตรงตามความต้องการของกิจการในทางปฏิบัติ

5.การสนับสนุนให้ อบก. สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างชาติในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เป็นสากล และทำให้ฉลากคาร์บอนของไทยเป็นที่ยอมรับกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันมาทำการประเมินและติดฉลากคาร์บอนมากขึ้น

เพราะหากมาตรการทางการค้าด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์มีการบังคับใช้ในสินค้าอาหาร ก็จะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการไทยในการได้ฉลากคาร์บอนของตลาดประเทศนั้น ๆ

ก้าวสำคัญ อุตสาหกรรมอาหาร เส้นทางสู่ความยั่งยืนและการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์

6.การออกแบบมาตรการกระตุ้นความต้องการ (demand) สินค้าอาหารภายในประเทศที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ระดับต่ำ เพราะตลาดภายในประเทศเป็นตลาดหลักของผู้ประกอบการขนาดเล็ก

หากสินค้าอาหารดังกล่าวมีขนาดตลาดที่ใหญ่มากพอ จะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีแรงจูงใจเข้าร่วมทำการประเมินและติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และเพิ่มการแข่งขันกันลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในตลาด

การสนับสนุนดังกล่าวควรเกิดขึ้นอย่างความต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวและเข้าร่วมกระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาครัฐจึงควรเน้นการให้ความรู้ การสร้างแรงจูงใจ และการสนับสนุนทางการเงินให้กับกลุ่ม SMEs อย่างเพียงพอ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการประเมินและลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างครอบคลุม ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างประเทศ

ผู้ประกอบการอาหารของไทยจึงจะสามารถแข่งขันได้ในเวทีต่างประเทศ และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศทางการเกษตรและอาหารได้ในอนาคต.

ก้าวสำคัญ อุตสาหกรรมอาหาร เส้นทางสู่ความยั่งยืนและการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการศึกษาโครงการการติดตามการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมไทย โดยศูนย์ความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)