พบ ‘ตะกั่ว-แคดเมียม’ ใน ‘ดาร์กช็อกโกแลต’ ทำลายสมอง ลดไอคิวเด็กได้

พบ ‘ตะกั่ว-แคดเมียม’ ใน ‘ดาร์กช็อกโกแลต’ ทำลายสมอง ลดไอคิวเด็กได้

พบ “สารตะกั่ว” และ “โลหะหนัก” ใน “ดาร์กช็อกโกแลต” แม้แต่ในแบรนด์ที่อ้างว่าเป็นออร์แกนิกก็ตาม ช็อกโกแลตอาจไม่ใช่อาหารเพื่อสุขภาพที่คิด

KEY

POINTS

  • การศึกษาพบ “สารตะกั่ว” และ “โลหะหนัก” ใน “ดาร์กช็อกโกแลต” แม้แต่ในแบรนด์ที่อ้างว่าเป็นออร์แกนิกก็ตาม
  • ตะกั่วและแคดเมียมเป็นธาตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สามารถพบได้ในเปลือกโลก ดังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เจอสารเหล่านี้ในผลผลิตทางการเกษตร
  • ปรกติแล้วร่างกายของเราสามารถขับโลหะหนักออกจากร่างกายได้ เช่น เหงื่อและปัสสาวะ ดังนั้นจึงสามารถกินช็อกโกแลตได้ในปริมาณไม่มาก แต่สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยบางประเภท ควรหลีกเลี่ยง

ดาร์กช็อกโกแลต” เป็นที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพ และช็อกโกแลตเลิฟเวอร์ที่ไม่ชอบกินหวาน อีกทั้งยังอุดมไปด้วยสารอาหารจากพืชที่เรียกว่าฟลาโวนอยด์ สารต้านอนุมูลอิสระ และแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ ช่วยให้สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้น แต่งานวิจับล่าสุดพบ “โลหะหนัก” เช่น ตะกั่วและแคดเมียมในดาร์กช็อกโกแลต

การศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน และ ConsumerLab องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ให้บริการการทดสอบผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและโภชนาการ พบว่า 43% ของดาร์กช็อกโกแลตมีสารตะกั่วที่ยอมรับได้ และ 35% มีแคดเมียมเกินระดับที่ยอมรับได้ ตามแนวทางปฏิบัติด้านอาหารที่เข้มงวดของรัฐแคลิฟอร์เนีย

ทั้งตะกั่วและแคดเมียม เป็นโลหะหนักที่เป็นพิษต่อระบบประสาท และทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ รวมถึงโรคมะเร็ง ตลอดจนปัญหาการสืบพันธุ์และพัฒนาการในเด็ก โดยโลหะหนักในช็อกโกแลตอาจเป็นอันตรายต่อเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยบางประเภท 

องค์การอนามัยโลกระบุว่า เด็กมีความเสี่ยงเป็นพิเศษจากโลหะหนักในช็อกโกแลต เนื่องจากร่างกายของเด็กสามารถดูดซึมสารตะกั่วที่กินเข้าไปได้ทั้ง 100% หากกินในขณะท้องว่าง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาพัฒนาการทางสมองและทำลายระบบประสาท และลดไอคิวของเด็กลงได้

อีกทั้งแคดเมียมยังเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และสามารถทำลายระบบส่วนใหญ่ของร่างกาย รวมถึงปอด กระดูก และไต

ตะกั่วและแคดเมียมเป็นธาตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สามารถพบได้ในเปลือกโลก ดังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เจอสารเหล่านี้ในผลผลิตทางการเกษตร แต่ระดับความเข้มข้นของโลหะเหล่านี้ในพืชผลต่าง ๆ จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของดิน ซึ่งอาจรุนแรงขึ้นได้ หากใช้ปุ๋ยที่มีโลหะหนักเป็นส่วนผสม หรือปนเปื้อนมลพิษทางอุตสาหกรรม

การศึกษายังพบว่า ผลิตภัณฑ์ดาร์กช็อกโกแลตออร์แกนิก กลับมีโลหะหนักปนเปื้อนมากที่สุด แม้จะปลูกในสภาพแวดล้อมที่มียาฆ่าแมลงและสารปนเปื้อนน้อยกว่าก็ตาม

ทั้งนี้ การศึกษามุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ดาร์กช็อกโกแลต เนื่องจากมีโกโก้ในปริมาณสูง รวมถึงเมล็ดโกโก้ที่ยังไม่ได้แปรรูป โดยไม่รวมถึงลูกอมและช็อกโกแลตเหลวบริสุทธิ์ (Baking chocolate) ที่มีส่วนผสมอื่น ๆ 

เจน ฮูลิฮาน ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์และสุขภาพ ของ Healthy Babies Bright Futures องค์กรที่ออกแบบและดำเนินโครงการลดการสัมผัสสารเคมีในทารก กล่าวว่าระดับเฉลี่ยของตะกั่วและแคดเมียมที่พบในผลิตภัณฑ์ที่มีโกโก้ในการศึกษาครั้งนี้สูงกว่าปริมาณเฉลี่ยในอาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ทำการทดสอบเสียอีก

การศึกษาวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์โกโก้ทั้ง 72 รายการเพื่อหาระดับตะกั่ว แคดเมียม และสารหนูในช่วง 8 ปี (2014, 2016, 2018 และ 2020) พบว่า 43% มีสารตะกั่วสูงกว่าระดับที่กฎหมายกำหนด อีก 35% มีแคดเมียมสูง แต่โชคดีที่สารหนูยังไม่เกินระดับ

สอดคล้องกับการทดลองของ As You Sow มูลนิธิส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ได้ทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการอิสระของผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตมากกว่า 469 ตัวอย่าง พบว่าผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต 285 รายการ มีตะกั่วและ/หรือแคดเมียมสูงกว่ามาตรฐานของรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อช็อกโกแลตที่มีโลหะหนักได้ที่นี่

อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ผลิตลูกกวาดขนมหวานแห่งสหรัฐ (NCA) ยังคงยืนยันว่าผู้บริโภคสามารถกินช็อกโกแลตได้อย่างสบายใจ “สามารถรับประทานช็อกโกแลตและโกโก้ได้อย่างปลอดภัยเหมือนที่เคยเป็นมาหลายศตวรรษ ความปลอดภัยของอาหารและคุณภาพผลิตภัณฑ์ยังคงมีความสำคัญสูงสุดของเรา และเรายังคงมุ่งมั่นที่จะมีความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อสังคม” คริสโตเฟอร์ กินเดิลสเปอร์เกอร์ รองประธานอาวุโสฝ่ายกิจการสาธารณะและการสื่อสารของ NCA กล่าว

เทโวดรอส โกเดโบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านธรณีเคมีสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยทูเลน กล่าวกับ CNN ว่า “แน่นอนว่าเราไม่ต้องการให้มีสารพิษในอาหาร แต่เป็นไปไม่ได้ ทุกสิ่งที่เรากินอาจมีสารปนเปื้อนเหล่านี้อยู่บ้าง แต่มันเป็นความเสี่ยงสัมพัทธ์” โกเดโบกล่าว

ไปในทิศทางเดียวกับ ข้อมูลของนักวิจัย ที่ระบุว่า ปริมาณโลหะหนักที่พบในช็อกโกแลตที่ศึกษาไม่น่าจะมี “นัยสำคัญทางชีวภาพ” ด้วยตัวมันเอง เนื่องจากคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะบริโภคผลิตภัณฑ์ไม่บ่อยนัก และบริโภคในปริมาณเล็กน้อย แต่การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการมีมาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านอาหารที่เกี่ยวกับการปนเปื้อนของโลหะหนักที่ดีมากขึ้น

ปรกติแล้วร่างกายของเราสามารถขับโลหะหนักออกจากร่างกายได้ เช่น เหงื่อและปัสสาวะ แต่หากสะสมในระดับสูงเกินไป อาจทำให้เกิดความเสียหายได้เช่นกัน วิธีที่จะช่วยหลีกเลี่ยงการสัมผัสโลหะหนักได้ดี คือ การเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย และไม่กินอาหารที่มีโลหะหนักปริมาณค่อนข้างสูง 

ที่มา: CNNFast CompanyForbes