‘ลา’ ในเคนยาหาขยะกิน จนอุดตันลำไส้ตาย สะท้อนปัญหาพลาสติกอันตรายต่อสัตว์

‘ลา’ ในเคนยาหาขยะกิน จนอุดตันลำไส้ตาย สะท้อนปัญหาพลาสติกอันตรายต่อสัตว์

“ลา” เป็นสัตว์สำคัญของเกาะลามู ในประเทศเคนยา พวกมันทำหน้าที่เป็นพาหนะหลักสำหรับการขนส่งผู้อยู่อาศัยและสินค้า ซึ่งมีจำนวนเกือบ 3,000 ตัว แต่จำนวนของพวกมันกำลังตายจากการกินพลาสติกบนเกาะ

KEY

POINTS

  • ลามูมีลาอยู่จำนวนมาก สวนทางกับหญ้า อาหารหลักของพวกมันที่กำลังลดลงเรื่อย ๆ พวกมันจึงจำเป็นต้องกินขยะขวดพลาสติก ผ้าอ้อม และเศษผ้าที่ทิ้งไว้ข้างถนน เป็นอาหารแทน
  • เมื่อร่างกายลาได้รับพลาสติกมากเกินไป พวกมันจะเข้าไปอุดตันทางเดินอาหาร ส่งผลให้ขาดอาหารและตายในที่สุด
  • พลาสติกไม่เพียงแต่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของลสเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์ด้วย เพราะอาจจะได้รับไมโครพลาสติกจากการบริโภคเนื้อหรือนมของพวกมัน

ลา” เป็นสัตว์สำคัญของเกาะลามู ในประเทศเคนยา พวกมันทำหน้าที่เป็นพาหนะหลักสำหรับการขนส่งผู้อยู่อาศัยและสินค้า ซึ่งมีจำนวนเกือบ 3,000 ตัว แต่จำนวนของพวกมันกำลังตายจากการกินพลาสติกบนเกาะ และนักวิทยาศาสตร์เกรงว่าสัตว์บกอื่น ๆ อีกหลายชนิดก็ได้รับผลกระทบจากมลพิษจากพลาสติกที่มนุษย์ก่อขึ้นเช่นกัน

ย่านเมืองเก่าของเมืองลามู เป็นเมืองที่มีอายุ 700 ปี นับเป็นหนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในแอฟริกาตะวันออก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในฐานะเมืองที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวสวาฮีลีเอาไว้ เมืองแห่งนี้ไม่มีรถยนต์ ใช้ลาเป็นพาหนะหลักของเมือง

ลามูมีลาอยู่จำนวนมาก สวนทางกับหญ้า อาหารหลักของพวกมันที่กำลังลดลงเรื่อย ๆ พวกมันจึงจำเป็นต้องกินขยะขวดพลาสติก ผ้าอ้อม และเศษผ้าที่ทิ้งไว้ข้างถนน เป็นอาหารแทน

“ลาจะกินสารพัดสิ่ง ตั้งแต่พลาสติก เสื้อผ้า ไปจนถึงกล่องกระดาษแข็ง มันกินทุกอย่าง สิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหามากมาย และทำให้พวกมันตายได้” ดร.โอบาไดอาห์ ซิงโอเอย สัตวแพทย์ประจำ Donkey Sanctuary องค์กรการกุศลด้านสวัสดิการของลากล่าว 

เมื่อร่างกายได้รับพลาสติกมากเกินไป พวกมันจะเข้าไปอุดตันทางเดินอาหาร ส่งผลให้ขาดอาหารและตายในที่สุด

ลากินขยะ

ลากินขยะในประเทศเคนยา
เครดิตภาพ: เพจ Donkey Sanctuary

ปัจจุบันมีการศึกษาผลกระทบของมลพิษจากพลาสติกต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลจำนวนมาก แต่กลับไม่ค่อยมีการศึกษาผลกระทบในร่างกายสัตว์บกที่เกิดจากพลาสติก ในขณะนี้คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธและศูนย์อนุรักษ์ลากำลังตรวจสอบผลกระทบของมลพิษจากพลาสติกที่มีต่อสัตว์ในเคนยา โดยเน้นไปที่ลาและปศุสัตว์เป็นหลัก ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาฉบับเต็มของทีมงานจะได้รับการเผยแพร่ในช่วงปลายปีนี้ 

ในขณะนี้นักวิจัยได้บันทึกไว้ว่า มีลาอย่างน้อยสามตัวที่ตายจากอาการปวดท้องซึ่งสาเหตุมาจากการกินขยะ แต่ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้

ดร.ซิงโอเอยล่าวว่า “ข้อมูลที่เก็บมาได้เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เพราะถ้าคุณลองสุ่มถามเจ้าของลาในลามูดูสักคน พวกเขาจะบอกว่าลาของพวกเขาตายเพราะปวดท้องจากการกินพลาสติก

ปรกติแล้วเจ้าของลามักจะไม่พาพวกมันมาที่คลินิกนอกจากไม่มีทางเลือกอื่นแล้วจริง ๆ และกว่าที่เจ้าของจะพาลาหาหมอได้ ก็มักสายเกินไปแล้ว ดร.ซิงโอเอยเปิดเผยว่าเขาเจอหลายตัวดิ้นทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวด หายใจลำบาก หรือขยับตัวไม่ได้ และเมื่อไหร่ก็ตามที่จะต้องถึงขั้นผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ก็ให้เจ้าของทำใจไว้ได้เลย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นวิกฤติสำหรับสวัสดิภาพของลา

“ถ้าพาลามาเร็วกว่านี้ เราก็อาจจะช่วยชีวิตมันได้” ซิงโอเอยกล่าว

ฮูเฟดา อับดุล มาจิด เจ้าของลาอายุ 27 ปี เพิ่งสูญเสียลาตัวหนึ่งจากอาการปวดท้องเมื่อเดือนพฤษภาคม กล่าวว่า “ผมเป็นห่วงเรื่องพลาสติกมาก เพราะก่อนหน้านี้การอุดตันของลำไส้มันอาจเกิดจากสารอินทรีย์ ซึ่งพวกเราสามารถจัดการมันได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว”

ปู่ของมาจิดได้มอบลาให้กับเขา และตอนนี้เขาก็มีลา 25 ตัว และใช้ขนของ “การสูญเสียลาเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยากมาก พวกมันเหมือนกับสมาชิกในครอบครัว ต่อไปนี้ผมจะไม่ปล่อยให้ลาออกไปเที่ยวในเมืองอีกต่อไปแล้ว เพราะไม่มีทางรู้ว่ามันจะกินอะไรเข้าไปอีก” มาจิดกล่าว

ขณะที่ ศาสตราจารย์ริชาร์ด ทอมป์สัน จากมหาวิทยาลัยพลีมัธกล่าวว่า “ถึงแม้ตอนนี้ เราจะมีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากขยะพลาสติกในสัตว์บก น้อยกว่าระบบนิเวศทางทะเล แต่จากการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับผลกระทบของพลาสติกต่อพื้นดิน แสดงให้เห็นว่าขยะพลาสติกอาจแพร่กระจายไปทั่วเช่นกัน”

ในปี 2022 นักวิจัยในสหราชอาณาจักรพบว่า มากกว่าครึ่งของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่ทดสอบกินพลาสติกเข้าไป โดยประเภทของพลาสติกที่พบมากที่สุดคือโพลีเอสเตอร์ ซึ่งน่าจะมาจากเสื้อผ้า

ส่วนที่อินเดีย นักวิทยาศาสตร์พบขยะในมูลช้างหนึ่งในสามตัวที่นำมาทดสอบ รวมถึงแก้ว ยาง และพลาสติก ขณะที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธและฮาซานุดดินกำลังศึกษาว่าพลาสติกส่งผลต่อลิงแสมในสุลาเวสี ของอินโดนีเซียอย่างไร

ในหลายประเทศไม่มีการจัดการบ่อขยะที่ดี ยังมีสัตว์ต่าง ๆ ที่ไปหาอาหารในกองขยะและหลุมฝังกลบ ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของพวกมันเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์ด้วย เพราะอาจจะได้รับไมโครพลาสติกจากการบริโภคเนื้อหรือนมของพวกมัน

แม้จะมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับมลพิษจากพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์และมนุษย์ แต่เจ้าของปศุสัตว์บนเกาะลามู ก็ยอมรับว่าพวกเขาไม่มีเงินมากพอที่จะซื้ออาหารเลี้ยงพวกมัน จึงจำเป็นต้องปล่อยให้พวกมันเล็มหญ้าตามกองขยะ เมื่อสองปีก่อน นักวิจัยเล่าว่า ในกระเพาะอาหารของวัวที่ถูกเชือดบนเกาะลามู มีผ้าอ้อมและถุงปนอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่ของเกาะลามู ชาวบ้านจัดตั้งสมาคมเก็บขยะขึ้น เช่นในเขตเมืองเก่าที่เป็นมรดกโลก ขณะที่องค์กรลดการใช้พลาสติกของเคนยาอย่าง FlipFlopi เข้ามาทำหน้าที่เก็บขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิล

ดร.ซิงโอเอยตั้งข้อสังเกตว่าปริมาณขยะสัมพันธ์กับจำนวนลาที่ปวดท้อง “เมื่อก่อนรถแทรกเตอร์จะวิ่งไปเก็บขยะทุก ๆ สองหรือสามวัน ซึ่งทำให้ปัญหาลากินพลาสติกลดลงไปได้บ้าง แต่ตอนนี้ขยะกลับมาล้นอีกแล้ว และก็ทำให้ลากินพลาสติกมากขึ้น” 


ที่มา: PortThe Guardian

‘ลา’ ในเคนยาหาขยะกิน จนอุดตันลำไส้ตาย สะท้อนปัญหาพลาสติกอันตรายต่อสัตว์