‘เอธิโอเปีย’ ผลักดันให้คนใช้ ‘รถEV’ แต่ทั้งประเทศมี ‘สถานีชาร์จไฟ’ แค่ 50 แห่ง
“เอธิโอเปีย” กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ห้ามนำเข้ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้ “รถยนต์ไฟฟ้า” ตามนโยบาย “EV or Nothing” แต่ปัญหาอยู่ที่ทั้งประเทศมีสถานีชาร์จไฟเพียงประมาณ 50 แห่งเท่านั้น
KEY
POINTS
- รัฐบาลเอธิโอเปียสั่งห้ามนำเข้ารถยนต์ที่ไม่ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้ “รถยนต์ไฟฟ้า” แต่ปัญหาอยู่ที่ทั้งประเทศมีสถานีชาร์จไฟเพียงประมาณ 50 แห่งเท่านั้น
- นักลงทุนเชื่อว่านโยบายบังคับใช้รถอีวีของเอธิโอเปียเกิดขึ้นเร็วเกินไป จนโครงสร้างพื้นฐานรองรับไม่ทัน แถมในประเทศยังไม่มีกำลังไฟฟ้าเพียงพอสำหรับชาร์จไฟ
- ชาวเอธิโอเปียบางส่วนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว กำลังวางแผนจะขายรถยนต์ และเปลี่ยนกลับไปใช้รถยนต์ไฮบริดหรือรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแทน เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถหาสถานีชาร์จที่เชื่อถือได้
“เอธิโอเปีย” กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ห้ามนำเข้ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้ “รถยนต์ไฟฟ้า” ตามนโยบาย “EV or Nothing” แต่ปัญหาอยู่ที่ทั้งประเทศมีสถานีชาร์จไฟเพียงประมาณ 50 แห่งเท่านั้น
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 รัฐบาลเอธิโอเปียสั่งห้ามนำเข้ารถยนต์ที่ไม่ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ตามนโยบาย “EV or Nothing” เพื่อลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าเชื้อเพลิงมูลค่า 7,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 ซึ่งจะประโยชน์ต่อประเทศในเชิงเศรษฐกิจ แม้ว่าประเทศนี้จะกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่หยุดการเข้ามาของยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นโดยที่ประเทศยังไม่มีความพร้อม
“ข้อดีก็คือมันบังคับให้คนทั้งประเทศหันมาใช้รถไฟฟ้า แต่ลูกค้าและภาคส่วนต่าง ๆ กำลังประสบปัญหาจากการขาดโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบสำหรับรถไฟฟ้า” ยาซากิ ยูมะ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Dodai บริษัทระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้าของเอธิโอเปียเปิดเผยกับ Rest of World สื่อด้านเทคโนโลยี
ปัจจุบันเอธิโอเปียมีสถานีชาร์จไฟเพียงประมาณ 50 แห่งเท่านั้น Rest of World พบว่ามีสถานีชาร์จแบตอย่างน้อย 4 แห่งที่เป็นของรัฐบาล แต่มีเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่ยังใช้งานได้ ส่วนที่เหลือเป็นของบริษัทเอกชน เช่น TotalEnergies, Green Tech Africa และ Haile Motors ซึ่งก็ยังไม่เพียงพออยู่ดีสำหรับการก้าวไปสู่ประเทศที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100%
รัฐบาลออกมาตราการดึงดูดให้คนหันใช้รถอีวี
อาจเป็นเพราะยังไม่ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนมากเท่าที่ควร รัฐบาลเอธิโอเปียจึงออกนโยบายเพื่อดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก เช่น การลดภาษีนำเข้ารถยนต์อีวี ให้เหลือเพียง 15% ซึ่งถูกกว่ารถยนต์สันดาปที่มีภาษีสูงถึง 200% ตามข้อมูลของกระทรวงการคลังของประเทศ
รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถไฟฟ้าที่ประกอบในเอธิโอเปียในอัตราต่ำมาก เกือบจะอยู่ในระดับ “0%” ผู้จัดการของบริษัท Belayneh Kindie Group บริษัทประกอบรถยนต์ในเอธิโอเปียเปิดเผยกับ CNN ว่า บริษัทนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศจีน
“ผู้บริโภคตั้งคำถามว่าตอนนี้ภาครัฐพร้อมสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้แล้วหรือยัง? ในเมื่อทั้งประเทศมีที่ชาร์จรถแค่ไม่กี่แห่งเท่านั้น แต่ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะสร้างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาคธุรกิจได้ ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ยังคอยดูว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรหรือไม่” แซม รอสมาริน ผู้ประกอบการและนักลงทุนด้านสภาพอากาศกล่าว
นักลงทุนบางรายได้แสดงความกังวลว่าเอธิโอเปียยังคงไม่มีกฎหมาย นโยบาย และกลไกการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การดำเนินธุรกิจยากขึ้น ฮานนา อารายาเซลาซซี หัวหน้าคณะกรรมาธิการการลงทุนของเอธิโอเปีย เชื่อว่านโยบายบังคับใช้รถอีวีของเอธิโอเปียเกิดขึ้นเร็วเกินไป จนโครงสร้างพื้นฐานรองรับไม่ทัน อีกทั้งทั่วโลกยังมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้มากเท่ากับรถยนต์สันดาป
เช่นเดียวกับอดิส โยฮันเนส ผู้บริหารตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ออนไลน์ในเอธิโอเปีย ที่กล่าวว่า นโยบายนี้เกิดขึ้นเร็วเกินไป จะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะดันให้ค่าซ่อมมีราคาสูงลิ่ว
ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับรถอีวี
รัฐบาลเอเธิโอเปียก็รับทราบปัญหานี้ดี ยิเซนกาว ยิตาอิห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาวุโส จากกระทรวงคมนาคมและโลจิสติกส์ของเอธิโอเปียกล่าว กล่าวว่ารัฐบาลกำลังทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
ตามแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี รัฐบาลเอธิโอเปียจะจัดตั้งสถานีชาร์จทั้งหมด 2,226 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งเป็น 1,176 สถานีในกรุงแอดดิสอาบาบา เมืองหลวงของประเทศ และ 1,050 สถานีในเมืองใหญ่ตามภูมิภาค
ในปี 2565 รัฐบาลเอธิโอเปียได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีรถยนต์ไฟฟ้า 150,000 คันบนท้องถนนภายในปี 2573 และเมื่อเดือนที่แล้ว บาเรโอ ฮัสเซน รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและโลจิสติกส์เคลมว่า ตอนนี้มีรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 100,000 คันแล้ว และตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเป็น 500,000 คันใน 10 ปี
ขัดแย้งกับข้อมูลที่ยิตาอิห์เปิดเผยกับ Rest of World ว่าจำนวนรถอีวีในประเทศปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 70,000 คันเท่านั้น ซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนรถทั้งหมดที่มีในเอธิโอเปีย จำนวน 1.2 ล้านคันในเอธิโอเปีย โดยรถยนต์บนท้องถนนส่วนใหญ่เป็นรถนำเข้ามือสองที่มีอายุมากกว่า 20 ปี และมักปล่อยควันดำออกมาจากท่อไอเสียตลอดเวลา
อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ยากกว่าเดิม ก็คือ การขาดแคลนกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัญหาที่กัดกินประเทศมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหลวง แต่สถานการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านกลับแย่ลงอย่างมาก ในเดือนมีนาคม 2567 มีรายงานไฟฟ้าดับหลายครั้งทั่วประเทศ
ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวเอธิโอเปียบางส่วนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว กำลังวางแผนจะขายรถยนต์ และเปลี่ยนกลับไปใช้รถยนต์ไฮบริดหรือรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแทน เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถหาสถานีชาร์จที่เชื่อถือได้ อีกทั้งอัตราอายุการใช้งานแบตเตอรี่ลดลงอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถขับไปไกล ๆ ได้
ขณะเดียวกันรถยนต์ไฟฟ้ายังคงมีราคาแพงอยู่ แม้ว่ารัฐบาลจะลดหรือยกเลิกภาษีบางส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าแล้ว “คนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูงทั้งนั้น” อิมาน อาบูเบเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งอย่างยั่งยืนของ World Resources Institute ซึ่งประจำอยู่ในเอธิโอเปียกล่าว
ดังนั้นกลุ่มของ อาบูเบเกอร์และคนอื่น ๆ กำลังผลักดันให้รัฐบาลเอธิโอเปียหันมาผลักดันให้ระบบขนส่งมวลชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้คนทุกระดับรายได้สามารถใช้ยานพาหนะที่มีประสิทธิภาพได้ และลดปัญหาด้านการชาร์จแบตลง
ที่มา: CNN, Rest of World, Xinhua