น้ำกำลังล้นมหาสมุทร เสียงเตือนจากเกาะทะเลใต้
“น้ำกำลังล้นมหาสมุทร... ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เป็นวิกฤติอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์เราทั้งสิ้น วิกฤติซึ่งในเวลาอีกไม่นานจะเพิ่มความร้ายแรง จนถึงขั้นแทบเกินจินตนาการและปราศจากเรือชูชีพ ที่จะนำเรากลับมาสู่ความปลอดภัย”
เป็นคำเตือนของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เมื่อต้นสัปดาห์นี้ที่ประเทศตองงา หนึ่งในเกาะขนาดเล็กในย่านตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก
เลขาธิการสหประชาชาติเปล่งคำเตือนดังกล่าวเนื่องในโอกาสเข้าร่วมการประชุมผู้นำของ 18 ประเทศในย่านนั้น รวมทั้งนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย คำเตือนวางอยู่บนฐานของรายงานขององค์การสหประชาชาติและองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเกี่ยวกับ ภาวะโลกร้อน และ ภูมิอากาศโลก ผลกระทบที่จะเกิดกับเกาะเหล่านั้น รายงานชี้ชัดว่า
ภูมิอากาศโลกที่ร้อนขึ้นในขณะนี้มีผลสูงต่อน้ำในมหาสมุทร 3 ด้านคือ
(1) อุณหภูมิน้ำทะเล สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะน้ำทะเลดูดซับราว 90% ของความร้อนอันเกิดจากการเผาผลาญถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติเพื่อเอาพลังงาน
(2) ระดับน้ำทะเล สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะน้ำขยายตัวจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นพร้อมกับการละลายของธารน้ำแข็งในหลายพื้นที่และแผ่นน้ำแข็งในย่านขั้วโลก
(3) น้ำทะเลเป็นกรด มากขึ้นจากการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาผลาญดังกล่าว
รายงานบ่งบอกด้วยว่า อุณหภูมิของมหาสมุทรในย่านทะเลใต้เพิ่มขึ้นราว 3 เท่าของการเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉลี่ยในช่วงเวลา 45 ปีที่ผ่านมา และระดับน้ำทะเลในย่านนั้นเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าของการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยทั่วโลก
ภาวะเหล่านั้นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ รวมทั้งคลื่นความร้อนในอากาศซึ่งเกิดบ่อยขึ้นด้วยระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นและอยู่นานขึ้น ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกระทบสูงมากต่อชีวิตของชาวเกาะ
ซึ่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติประสบด้วยตนเองในระหว่างการเข้าร่วมประชุม เมื่อพายุใหญ่ทำให้ฝนตกหนักจนน้ำท่วมอาคารศูนย์การประชุมสร้างใหม่ที่ใช้ในการประชุม ส่งผลให้การประชุมต้องหยุดชะงัก
ชาวเกาะในย่าน “ทะเลใต้” กำลังได้รับผลกระทบร้ายแรงจากภาวะโลกร้อนมากกว่าชาวโลกโดยทั่วไป ทั้งที่แทบไม่มีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น
เนื่องจากการเผาผลาญเชื้อพลังงานส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศร่ำรวย ซึ่งให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบร้ายแรงนั้น พร้อมกับลดการเผาผลาญเชื้อพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่การช่วยเหลือยังเชื่องช้าและต่ำกว่าความจำเป็นมาก
นอกจากนั้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่มีทีท่าว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ ณ นครปารีสเมื่อ 9 ปีก่อน ตรงข้าม เมื่อปีที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 1%
ด้วยเหตุนี้ โอกาสที่โลกจะไม่ร้อนขึ้นเกินเป้าที่ตั้งไว้จึงแทบไม่มี ฉะนั้น เราอาจคาดเดาได้ว่าในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าโลกจะถูกถล่มอย่างต่อเนื่องจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงสูงตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้
ในภาวะเช่นนี้ นอกจากจะวิงวอนให้ชาวโลกเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญต่อไปแล้ว
รายงานและการประชุมดังกล่าวจึงเสนอให้บรรดาเกาะและประเทศต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนของภูมิอากาศสร้างระบบเตือนภัยในระยะสั้น ตามด้วยมาตรการในด้านการฟื้นฟูและปรับตัวเมื่อได้รับผลกระทบ
เรามิอาจฟันธงได้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทางภาคเหนือของไทยในช่วงนี้ และแผ่นดินถล่มที่เกาะภูเก็ตซึ่งเพิ่งผ่านไป ภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยมากน้อยเพียงไร
แต่เราอาจใช้มันเป็นจุดตั้งต้นในการพิจารณาว่าประเทศเราอยู่ ณ ตรงไหนในด้านการเตือนภัยและด้านการฟื้นฟูและปรับตัวหลังจากถูกผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยตรง
เราไม่อาจพึ่งความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เพราะหลายประเทศที่จนกว่าและเผชิญปัญหาสาหัสกว่าเรายังได้รับอย่างจำกัด รัฐบาลไทยจึงต้องเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งพร้อมด้วยปัญญาและสัมมา
จากมุมของผู้อยู่ภายนอก สิ่งที่เห็นจำพวกการออกไปทำข้าวผัดแจกชาวบ้านของหัวหน้ารัฐบาลและการเอาแต่ชิงอำนาจกันเสมือนสุนัขแย่งกระดูกอย่างต่อเนื่องของนักการเมือง
ไม่ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะออกนำให้เกิดความพร้อมเผชิญกับโลกในภาวะใหม่ ประชาชนโดยทั่วไปจึงต้องเตรียมภูมิคุ้มกันเอง.