มนุษย์สอน ‘นกอพยพ’ ให้บิน หลังสูญพันธุ์ไปนาน จนไม่รู้ว่าต้องไปทางใด
“นกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือ” (Northern Bald Ibis) สูญพันธุ์ในภูมิภาคยุโรปกลางมาเป็นเวลา 300 ปีแล้ว แต่ตอนนี้มันกลับมาแล้ว และ นักวิทยาศาสตร์ต้องรับบท “พ่อแม่บุญธรรม” ขึ้นบินบนเครื่องบินลำเล็ก เพื่อสอนนกให้บินตามเส้นทางอพยพที่ไม่มีใครบินผ่านมานาน
KEY
POINTS
- “นกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือ” (Northern Bald Ibis) สูญพันธุ์ไปในยุโรปกลางกว่า 300 ปี แต่ในตอนนี้กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากการอนุรักษ์ของนักวิทยาศาสตร์
- เนื่องจากนกชนิดนี้สูญพันธุ์ไปนาน ทำให้พวกมันไม่รู้ว่าจะต้องบินไปทางไหน เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว นักวิทยาศาสตร์จึงต้องคอยบินนำทางให้พวกมันรู้จักเส้นทางอพยพ
- ลูกนกจะถูกแยกออกจากรังตั้งแต่อายุเพียงไม่กี่วัน และได้รับการดูแลจากมนุษย์เพื่อสร้างความคุ้นเคยและไว้วางใจมนุษย์มากพอที่จะบินตาม เมื่อต้องบินไปตามเส้นทางการอพยพ
“นกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือ” (Northern Bald Ibis) จำนวน 36 ตัว กำลังบินตามหลังเครื่องบินอัลตราไลท์ จากออสเตรียไปยังสเปน ด้วยระยะเวลา 2,800 กม. โดยการเดินทางอาจใช้เวลาถึง 50 วันจึงจะเสร็จสิ้น ซึ่งระหว่างเที่ยวบิน นักวิทยาศาสตร์จะรับบทเป็น “พ่อแม่บุญธรรม” คอยโบกมือและตะโกนให้กำลังใจนกขณะที่มันบิน
โยฮันเนส ฟริตซ์ นักชีววิทยาจาก Waldrappteam กลุ่มอนุรักษ์และวิจัยที่ตั้งอยู่ในออสเตรีย ผู้เสนอไอเดีย ทำหน้าที่บังคับเครื่องบินขนาดเล็ก ซึ่งมีมอเตอร์ขนาดเล็กคล้ายพัดลมอยู่ด้านหลังและร่มชูชีพสีเหลืองที่ช่วยให้เครื่องบินลอยขึ้นได้
“แทบไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เราได้อยู่บนท้องฟ้าร่วมกับนกเหล่านี้ ได้สัมผัสพวกมันในอากาศ พวกมันถูกสร้างมาอย่างสมบูรณ์แบบเพื่อการบิน เป็นประสบการณ์ที่ประทับใจและพิเศษมาก” ฟริตซ์กล่าว
ฟริตซ์ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง “Fly Away Home” ในปี 1996 ซึ่งตัวเอกบินเครื่องบินอัลตราไลท์เพื่อแสดงเส้นทางอพยพของห่านกำพร้า ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่อง “Father Goose” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1995 ผลงานของ บิล ลิชแมน นักธรรมชาติวิทยา ที่สอนห่านแคนาดาด้วยวิธีเดียวกันนี้เมื่อปี 1988
นกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือ หรือที่เรียกกันว่า “วัลเดรปป์” (Waldrapp) เคยเป็นนกที่พบเห็นได้ทั่วไปในแอฟริกาเหนือ คาบสมุทรอาหรับ และยุโรปส่วนใหญ่ แต่นกชนิดนี้ถูกล่าเป็นจำนวนมากและแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมันถูกทำลาย จนพวกมันสูญพันธุ์จากธรรมชาติไปในแถบยุโรปกลาง เป็นเวลากว่า 300 ปี เหลืออยู่เพียงไม่กี่ตัวในสวนสัตว์เท่านั้น
นกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือกำลังบินตามนักวิทยาศาสตร์ในเส้นทางอพยพ
เครดิตภาพ: Antoine Joris / Waldrappteam
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สามารถผสมพันธุ์นกชนิดนี้ได้สำเร็จ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 300 ตัว เปลี่ยนสถานะจาก “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง” เป็น “ใกล้สูญพันธุ์” แต่เนื่องจากไม่มีบรรพบุรุษในป่าคอยชี้นำ เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูอพยพ พวกมันจึงไม่รู้ว่าจะต้องบินไปทางไหน หลายครั้งที่พวกมันหลงทางไม่ได้บินไปยังแหล่งที่เหมาะสมสำหรับการจำศีลในฤดูหนาว เช่น ทัสคานี ประเทศอิตาลี ทำให้พวกมันต้องตายไป
เพื่อเตรียมลูกนกให้พร้อมเดินทาง ลูกนกจะถูกแยกออกจากรังตั้งแต่อายุเพียงไม่กี่วัน จากนั้นจึงนำไปไว้ในกรงนกขนาดใหญ่และได้รับการดูแลจากพ่อแม่บุญธรรมซึ่งเป็นมนุษย์เพื่อสร้างความคุ้นเคย และทำให้นกไว้วางใจมนุษย์มากพอที่จะติดตามพวกเขา เมื่อต้องบินไปตามเส้นทางการอพยพ
การเดินทางในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 17 ที่มีมนุษย์เป็นไกด์นำทาง โดยเริ่มการเดินทางเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม และคาดว่าจะไปถึง เมืองเวเฮร์เดลาฟรอนเตรา แคว้นอันดาลูเซีย ในสเปน ช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้
บาร์บารา สไตนิงเกอร์ ผู้รับหน้าที่เป็นแม่บุญธรรม กล่าวว่า เธอเหมือนเป็น “แม่นก” ของพวกมัน และพัฒนาความสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวกับนกทุกตัว “เราให้อาหารพวกมัน ทำความสะอาดพวกมัน ทำความสะอาดรังของพวกมัน ดูแลพวกมันเป็นอย่างดี และตรวจดูให้พวกมันนกที่แข็งแรง” เธอกล่าว
นกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือกำลังบินอยู่บนฟ้า
เครดิตภาพ: Helena Wehner / Waldrappteam
เมื่อพวกมันมาถึงแหล่งอาศัยในฤดูหนาว นกจะเป็นอิสระอย่างเต็มที่และไม่ต้องการพ่อแม่บุญธรรมอีกต่อไป และพวกมันจะยังจำพ่อแม่บุญธรรมได้ไปอีกหลายปี พวกมันจะเข้ามาหาเพื่อทักทายอย่างกระตือรือร้น (นกมีวิธีทักทาย โดยจะสยายขนและโค้งคำนับพร้อมส่งเสียง “ชรุปป์”)
ประชากรนกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือในยุโรปกลางเพิ่มขึ้นจากศูนย์เป็นเกือบ 300 ตัว นับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2002 และในปี 2011 นกตัวแรกได้อพยพกลับไปยังบาวาเรียจากทัสคานีโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมนุษย์
นกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือชื่อว่า ลีอา ได้รับการดูแลอย่างดีจาก Waldrappteam
เครดิตภาพ: C. Esterer / Waldrappteam
นกรุ่นแรกเริ่มผสมพันธุ์ในป่าแล้ว และสอนนกรุ่นถัดไปให้รู้จักเส้นทางการอพยพที่พวกมันเรียนรู้จากมนุษย์ แต่ภาวะวิกฤติด้านภูมิอากาศทำให้การอพยพครั้งนี้มีความท้าทายมากขึ้น และหมายความว่ามนุษย์จำเป็นต้องชี้นำนกรุ่นหลังไปตามเส้นทางใหม่
นกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือจะอพยพในช่วงปลายฤดูกาล ซึ่งบังคับพวกมันต้องข้ามเทือกเขาแอลป์ในสภาพอากาศที่หนาวเย็นและอันตรายมากขึ้น เนื่องจากนกจะไม่มีกระแสลมอุ่นที่เรียกว่าเทอร์มอล ซึ่งพัดขึ้นด้านบนและช่วยให้นกบินได้โดยไม่ต้องใช้พลังงานเพิ่ม
เพื่อช่วยเหลือนก ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก Waldrappteam จึงได้นำร่องเส้นทางใหม่ในปี 2023 จากบาวาเรียไปยังอันดาลูเซียทางตอนใต้ของสเปนมีระยะทางประมาณ 2,800 กิโลเมตร ซึ่งยาวกว่าเส้นทางของปีที่แล้วประมาณ 300 กิโลเมตร
การนำทางช่วยนกอพยพนี้ไม่ได้จำกัดไว้สำหรับนกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือเท่านั้น แต่ยังเป็นการปูทางให้กับสายพันธุ์นกอพยพอื่น ๆ ที่ถูกคุกคามอีกด้วย ฟริตซ์กล่าว “วิธีการที่เราพัฒนาขึ้นกับนกช้อนหอยหัวล้านถิ่นเหนือนี้ สามารถนำไปใช้กับนกอพยพสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”
ฟริตซ์ต้องการทำโครงการเพิ่มเติมเกี่ยวกับห่าน นกกระเรียน นกกระสา หรือนกอีบิสชนิดอื่นๆ “ผมคิดว่าผมสามารถตกหลุมรักสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ผมทำงานด้วยได้ ผมอยากจะบินกับนกต่อไป” เขากล่าว
ที่มา: Euro News, South China Morning Post, The Guardian
เครดิตภาพ: C. Esterer / Waldrappteam