นักวิจัยศศินทร์ชี้ เชื้อเพลิงฟอสซิลยังสำคัญ แนะรัฐออกนโยบายคาร์บอนชัดเจน
การขยายตัวทางเศรษฐกิจปัจจุบันไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีพลังงานฟอสซิล และจะเป็นเช่นนี้ไปจนกว่าจะมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาทดแทน ดังนั้น การ co-exist ระหว่างพลังงานทดแทนและฟอสซิล จะยังเกิดขึ้นต่อไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า และรัฐจำเป็นต้องมีนโยบาย carbon ที่เหมาะสม
ภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นพายุ อุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงไฟป่า อากาศแล้งจนไม่สามารถเพาะปลูกได้ ทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่องช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของ Climate Change รวมถึงการออกนโยบายมุ่งสู่ Net Zero การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และการเรียกร้องให้หยุดใช้พลังงานจากฟอสซิล (Fossil) โดยสมบูรณ์
“ณรัล ลีลามานิตย์” ผู้อำนวยการโครงการ Sasin Management Consulting (SMC) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พลังงานทดแทนไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ในหลายพื้นที่มีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล นอกจากนี้รถไฟฟ้าอีวี (EV) ก็มีราคาถูกลง จนหลายรุ่นมีราคาเทียบเท่ากับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป
การลดลงของต้นทุนในการผลิตพลังงานทดแทน รวมไปการให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น นับว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อทั้งผู้บริโภค เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จนทำให้หลายคนคาดว่าในอนาคตเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการขยับสถานะทางสังคมของประชากร ในปัจจุบันไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีอุตสาหกรรมภาคพลังงานและปิโตรเคมีที่ใช้ fossil-based จนกว่าจะมีเทคโนโลยีที่จะมาทดแทนได้ ดังนั้น การ co-exist ระหว่างพลังงานทดแทนและฟอสซิล จะยังเกิดขึ้นต่อไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า และการจะบอกให้หลายประเทศหรือหลายอุตสาหกรรมเลิกใช้พลังงานฟอสซิลโดยสมบูรณ์คงเป็นไปไม่ได้
“กุญแจสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาภาวะ Climate Change และ Global Warming ในปัจจุบัน เป็นเรื่องของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) ผนวกกับการเพิ่มผลผลิตจากการใช้พลังงาน และหาเทคโนโลยีมาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมที่ยังจำเป็นต้องใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น Carbon Capture Storage ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) อย่างไรก็ตาม รัฐจำเป็นจะต้องมีนโยบายสนับสนุนและการบังคับของชัดเจน และนโยบายคาร์บอนที่เหมาะสม”
“ณรัล” ยกตัวอย่างความสำคัญของอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล ต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม การบริโภค รวมถึงคุณภาพชีวิต มีดังนี้
ภาคการขนส่งขนาดใหญ่
ของใช้รอบตัวในปัจจุบันอย่างน้อยหนึ่งชิ้นถูกขนส่งโดยการขนส่งที่ใช้พลังงานจากน้ำมันดิบ ไม่ว่าจะเป็นทางรถ เรือขนส่ง หรือเครื่องบิน โดยปัจจัยสู่ความสำเร็จของอุตสาหกรรมการขนส่งคือ ต้นทุนการขนส่งต่อระยะทาง ซึ่งพลังงานที่ภาคการขนส่งใช้อยู่ไม่ว่าจะเป็นดีเซล ล้วนเป็นพลังงานและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปีหรือเกือบร้อยปีล้วนมีน้ำมันดิบเป็นตัวตั้งต้น และทำให้ต้นทุนด้านพลังงานของภาคการขนส่งต่อระยะทางมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ ด้วยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในปัจจุบัน ภาคการขนส่งทางบกมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้า แต่ด้วยความจุของแบตเตอรี่น้อย น้ำหนักของแบตเตอรี่ที่มากจุดชาร์จที่ยังไม่เพียงพอ และใช้เวลาในการชาร์จนาน ทำให้การขนส่งระยะทางไกลด้วยรถบรรทุกไฟฟ้ายังไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมในปัจจุบัน และอาจต้องใช้เวลามากกว่า 5-10 ปี ถึงจะมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเดินทางไกลเกินกว่า 600 กิโลเมตรต่อวัน
ในขณะที่การขนส่งทางทะเลผ่านเรือขนส่งขนาดใหญ่ ถึงแม้จะมีเรือต้นแบบอย่าง Yara Birkeland แต่ก็เป็นเพียงการวิ่งขนปุ๋ยระหว่างโรงงานใน Porsgrunn ไปสู่ท่าเรือที่ Brevik ในประเทศนอร์เวย์ และขนตู้คอนเทนเนอร์ได้แค่ 120 ตู้ (TEU) ได้เท่านั้น โดยที่ความเร็วในการเดินเรือคือ 30 Nautical Mile ไม่ใช่การวิ่งข้ามมหาสมุทร ส่วนเครื่องบินก็ยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะมาแทนที่การใช้พลังงานจากฟอสซิลได้ในอนาคตอันใกล้ ถึงแม้จะมีนวัตกรรม Sustainable Aviation Fuel (SAF) ออกมาแล้ว แต่ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของปริมาณการบริโภคโดยรวมในปัจจุบัน
พลังงานทดแทนที่มาจากลม
หนึ่งในพลังงานทดแทนที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำที่สุดในปัจจุบัน คือ พลังงานหมุนเวียนที่มาจากลม อย่างไรก็ตาม พลังงานจากลมก็ยังต้องพึ่งพา Fossil Base เป็นหลัก เพราะการสร้าง Wind Turbine ขนาด 5 Megawatt ประกอบไปด้วยเหล็กโดยเฉลี่ย 150 ตันสำหรับการสร้างฐาน เหล็กอีก 250 ตันใน Rotor Hubs และ Nacelles และเหล็กอีก 500 ตันสำหรับเสากังหันลม ซึ่งเหล้กทั้งหมดถูกขนส่งโดยรถบรรทุกหรือเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานจากฟอสซิล
โดยตัวเหล็กที่ใช้ในการสร้างก็จำเป็นที่จะต้องผลิตและใช้พลังงานในการผลิตจากฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็น Coking Coal ที่ใช้ใน Blasted Furnace และค่าความร้อนสูงที่ใช้ Natural Gas โดยจากการประมาณคร่าวๆ ในปัจจุบัน เหล็ก 1 ตันที่ใช้ในการก่อสร้างกังหัน ใช้พลังงานสูงถึง 35 Gigajoules และยังไม่มีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานประเภทอื่นแทนได้
ดังนั้น แม้เราจะสนับสนุนให้เรามีการใช้ Renewable Energy มากขึ้นเท่าไหร่ อุตสาหกรรมนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้หากไม่มีอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และปิโตรเคมี
อุตสาหกรรมปุ๋ย
ประชากรบนโลกเพิ่มขึ้น 3 เท่าในระยะเวลา 70 ปี จาก 2.5 พันล้านคนในปี 1950 สู่ 8.1 พันล้านคนในปี 2024 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากรตามมาด้วยความต้องการการบริโภคอาหารที่มากขึ้น
การที่ภาคการเกษตรสามารถเพิ่มปริมาณอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้นได้นั้น ก็มาจากความสามารถในการผลิตปุ๋ยที่เรียกว่า Synthetic Nitrogenous Fertilizers ที่มาจากการใช้ Ammonia (NH3) ผ่านกระบวนการเป็นองค์ประกอบขึ้นโดยการเปลี่ยนก๊าซไนโตรเจนในอากาศมาเป็นแอมโมเนียเหลวได้สำเร็จโดยกระบวนการที่เรียกว่า Haber-bosch Process ที่ใช้วิธีการดึงไนโตรเจนออกมาจากอากาศ และไฮโดรเจนของก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงยังใช้พลังงานความร้อนของแก๊สในการทำกระบวนการ Synthesis ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีทดแทนที่เป็น Carbon Free และเนื่องจากพืชทางการเกษตรคิดเป็น 85% ของแหล่งโปรตีนทางอาหารของประชากรทั้งโลก ดังนั้นหากไม่มีการผลิตปุ๋ย Nitrogen ที่ผ่านกระบวนการดังกล่าว ก็คงไม่สามารถที่จะผลิตอาหารเพียงพอให้ประชากรบนโลกได้
จีนขยายโรงไฟฟ้าถ่านหิน
แม้แต่ประเทศจีนที่ใช้ Renewable Energy เยอะที่สุดในโลก โดยมีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 216.9 GW ในปี 2023 เพิ่มขึ้นจากปี 2022 เกินกว่าสองเท่าและมากกว่าการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ของทั้งโลก รวมถึงมีการติดตั้งพลังงานหมุนเวียนที่มาจากลมกว่า 76.0 GW ซึ่งเยอะกว่าทวีปอเมริกาและยุโรปรวมกัน แต่อุปสงค์น้ำมันเบนซินและดีเซลเพิ่มขึ้นกว่า 15% เมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19
นอกจากนั้น ประเทศจีนในปี 2023 ยังได้ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งถือว่าเป็นพลังงานที่สกปรกที่สุดในกลุ่มเชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มขึ้นถึง 70 GW และอีก 47 GW ที่ได้เริ่มผลิตไฟไปแล้ว ซึ่งคิดเป็นถึง 70% ของจำนวนโรงไฟฟ้าจากถ่านหินที่เพิ่มขึ้นของทั้งโลก
แสดงให้เห็นถึงการคงอยู่ร่วมกันของทั้งพลังงานทดแทนและพลังงานฟอสซิลจากประเทศที่เป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนอันดับหนึ่งของโลกได้เป็นอย่างดี
“ณรัล” กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจาก 3 อุตสาหกรรมข้างต้นยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการบริโภคที่ยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาพลังงานรวมถึงวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล