‘หมู่เกาะแปซิฟิก’ ร้องศาลให้รับรอง ‘การทำลายสิ่งแวดล้อม’ เป็น ‘อาชญากรรม’

‘หมู่เกาะแปซิฟิก’ ร้องศาลให้รับรอง ‘การทำลายสิ่งแวดล้อม’ เป็น ‘อาชญากรรม’

วานูอาตู ฟิจิ และซามัว ต้องการให้ศาลอาญาระหว่างประเทศรับรองว่า “อีโคไซด์” (Ecocide) หรือ การทำลายสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรง เป็นอาชญากรรมร้ายแรงระดับ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

KEY

POINTS

  • วานูอาตู ฟิจิ และซามัว ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ขอเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่ ให้ “อีโคไซด์” (Ecocide) หรือ การทำลายสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรง เป็นอาชญากรรมรุนแรง
  • อีโคไซด์ ได้แก่ การรั่วไหลของน้ำมัน การตัดไม้ทำลายป่าในป่าแอมะซอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก ซึ่งทำให้ระบบนิเวศเสียหายอย่างร้ายแรงและไม่มีวันฟื้นคืนกลับมาให้เหมือนเดิมได้อีกต่อไป
  • 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่ารัฐบาลหรือผู้นำของธุรกิจขนาดใหญ่ที่อนุมัติหรืออนุญาตให้มีการกระทำที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อธรรมชาติและสภาพอากาศควรได้รับการลงโทษทางอาญาแล้ว

วานูอาตู ฟิจิ และซามัว กลุ่มประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกยื่นคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 ขอเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่ ให้ “อีโคไซด์” (Ecocide) หรือ การทำลายสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรง เป็นอาชญากรรมรุนแรงระดับ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และ “อาชญากรรมสงคราม

หากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวประสบความสำเร็จจะช่วยให้สามารถดำเนินคดีทางอาญากับบุคคลที่ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น บริษัทที่ก่อมลพิษปริมาณมาก หรือประมุขของรัฐได้ 

นี่ถือเป็นการดำเนินการในขั้นแรกเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกมีความเสี่ยงจะจมน้ำมากเป็นพิเศษ เพราะประเทศเหล่านี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำ ซึ่งปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและเกิดพายุที่รุนแรงขึ้น  ประเทศวานูอาตูเป็นแกนนำในการเสนอข้อเรียกร้องนี้ตั้งแต่ปี 2019

“ความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศในวานูอาตู กำลังทำลายเศรษฐกิจของประเทศ ทำลายดินแดน และคุกคามการดำรงชีพของเรา ดังนั้นการรับรองทางกฎหมายให้อีโคไซด์เป็นอาชญากรรมจะช่วยสร้างความยุติธรรม และที่สำคัญคือ ป้องกันการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม”
-ราล์ฟ เรเกนวานู ทูตพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของวานูอาตูกล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์

อาเธอร์ กัลสตัน นักชีววิทยาชาวอเมริกัน เป็นผู้บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นในปี 1970 ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเยลรณรงค์ให้หยุดใช้ Agent Orange สารฆ่าวัชพืชและเป็นสารเร่งใบร่วง (defoliant) ในสงครามสารฆ่าวัชพืชที่เรียกว่า ปฏิบัติการแรนช์แฮนด์ (Operation Ranch Hand) ระหว่างสงครามเวียดนาม

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทนายความด้านสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติได้ผลักดันให้อีโคไซด์เป็นความผิดที่ต้องรับโทษทั่วโลก ตามข้อเสนอที่เสนอต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อวันจันทร์ ได้เสนอให้ศาลอาญาระหว่างประเทศให้คำนิยามของ อีโคไซด์ ว่าเป็น

“การกระทำที่ผิดกฎหมายหรือด้วยความประมาทเลินเล่อที่กระทำโดยรู้ดีว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การกระทำนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงและแพร่หลาย หรือยาวนาน”

ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายระบุว่า การทำลายสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรง หรือ อีโคไซด์ ได้แก่ การรั่วไหลของน้ำมัน การตัดไม้ทำลายป่าในป่าแอมะซอน และบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลที่รู้ว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก แต่ก็ไม่ยอมหยุด ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้ระบบนิเวศเสียหายอย่างร้ายแรงและไม่มีวันฟื้นคืนกลับมาให้เหมือนเดิมได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศจะต้องมีการหารือละเอียด และการอภิปรายข้อเสนอนี้อาจกินเวลานานหลายปี และจะเผชิญกับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากหลายประเทศ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการคัดค้านเบื้องหลังก็ตาม เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่สามารถพูดออกมาต่อต้านอย่างเปิดเผยได้

โจโจ เมห์ตา ผู้ก่อตั้งร่วมของกลุ่มรณรงค์ Stop Ecocide International และผู้สังเกตการณ์ของ ICC กล่าวกับ The Guardian ว่าการเคลื่อนไหวของทั้ง 3 ประเทศนี้ ถือเป็น “ช่วงเวลาสำคัญ” ในการต่อสู้เพื่อให้เกิดการยอมรับว่า อีโคไซด์เป็นอาชญากรรม

เมห์ตากล่าวเสริมว่าในตอนนี้ ยังไม่มีประเทศใดประกาศต่อสาธารณะว่าพวกเขาข้อเสนอนี้ แต่เธอคาดว่าจะมีการต่อต้านและการล็อบบี้อย่างหนักจากธุรกิจที่ก่อมลพิษสูง รวมถึงบริษัทน้ำมัน ซึ่งผู้บริหารอาจต้องถูกดำเนินคดี หากมีการรับรองว่าอีโคไซด์มีความผิด

ฟิลิปป์ แซนด์ส ทนายความระดับนานาชาติและศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ทำหน้าที่เป็นประธานร่วมของคณะผู้เชี่ยวชาญอิสระสำหรับคำจำกัดความทางกฎหมายของอีโคไซด์ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิ Stop Ecocide เปิดเผยกับ The Guardian ว่าเขา “มั่นใจ 100%” ว่าสุดท้ายแล้ว ศาลจะยอมรับการทำลายสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรง เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

“ตอนแรกผมค่อนข้างลังเล แต่ตอนนี้ผมเชื่อจริง ๆ แล้ว ว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะตอนนี้มีบางประเทศได้ใส่เรื่องนี้ไว้ในกฎหมายแล้ว ผมคิดว่านี่เป็นแนวคิดที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม”

เบลเยียมเพิ่งประกาศให้อีโคไซด์เป็นอาชญากรรม ขณะที่สหภาพยุโรปได้เปลี่ยนแปลงข้อแนะนำบางอย่างเกี่ยวกับอาชญากรรมระหว่างประเทศเพื่อให้อีโคไซด์เข้าข่ายคุณสมบัติของการกระทำความผิด ส่วนเม็กซิโกก็กำลังพิจารณากฎหมายดังกล่าวเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงกฎของ ICC ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย เนื่องจากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาที่เป็นรากฐานของศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเรียกว่า “ธรรมนูญกรุงโรม” เพื่อรับรองการทำลายล้างระบบนิเวศก่อน และต่อให้รับรองอีโคไซด์แล้ว ก็อาจจะไม่ได้ผลมากนัก เพราะสหรัฐ จีน อินเดีย รัสเซีย และประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่รายอื่น ๆ ไม่ได้เป็นภาคีของ ICC

 

คนทั่วโลกอยากให้ “อีโคไซด์” เป็นอาชญากรรม

ไม่ใช่แค่ 3 ประเทศนี้เท่านั้นที่อยากให้อีโคไซด์มีความผิดทางอาญา แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยเช่นกัน การสำรวจของ Ipsos บริษัทการวิจัยตลาดข้ามชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก Earth4All และ Global Commons Alliance (GCA) ทำการสัมภาษณ์ผู้คน 22,000 คนจาก 22 ประเทศ รวมถึงประเทศ G20 จำนวน 18 ประเทศ 

พบว่า 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่ารัฐบาลหรือผู้นำของธุรกิจขนาดใหญ่ที่อนุมัติหรืออนุญาตให้มีการกระทำที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อธรรมชาติและสภาพอากาศควรได้รับการลงโทษทางอาญาแล้ว ส่วนอีก 59% ยังกล่าวว่าพวกเขากังวลมากเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในปัจจุบัน

ขณะที่ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 52% รู้สึกว่าชีวิตของพวกเขามีความเสี่ยงต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมมากหรือน้อย ซึ่งหมายความว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตในแต่ละวัน โดย 69% เชื่อว่าโลกใกล้ถึงจุดเปลี่ยนของสภาพอากาศและธรรมชาติแล้ว โดยประชากรในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย เคนยา และตุรกี รู้สึกว่าตนเองสัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าคนในยุโรปและสหรัฐอย่างมาก 

“ผู้คนทั่วโลกต่างกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสภาพของโลกของเรา และพวกเขารู้สึกเจ็บปวดที่รู้ว่าโลกของเรากำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยน เช่นเดียวกับความกังวลว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญอื่นมากกว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม” เจน แมดจ์วิก ผู้อำนวยการบริหารของ GCA กล่าว

แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วอาจต้องใช้เวลาถึงหนึ่งทศวรรษกว่าที่จะมีคนถูกตั้งข้อหาทำลายล้างระบบนิเวศ แต่ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างบรรทัดฐานของกฎหมายทั่วโลก เพราะปัจจุบันนี้ผู้คนตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดจากอีโคไซด์มากขึ้น และพวกเขาก็ไม่อยากให้โลกที่อยู่อาศัย

 

ที่มา: Euro NewsThe GuardianThe Washington Post