Better Me เตรียมตัวสูงวัย อย่างมีคุณภาพและความสุข

Better Me เตรียมตัวสูงวัย อย่างมีคุณภาพและความสุข

เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ก็เกิดคำถามว่า คนไทยพร้อมแค่ไหนกับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ

KEY

POINTS

  • เตรียมตัวให้พร้อม!  Better Me ภายใต้แนวคิด “เตรียมตัวสูงวัยอย่างมีคุณภาพและความสุข”  ในงานมหกรรมด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability Expo 2024 (SX2024) ระหว่างวันที่ 27 ก.ย.-ต.ค.2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ปีที่ 5
  • กิจกรรมอัดแน่นในแต่ละโซน ไม่ว่าจะเป็น อาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) ซึ่งเป็นเทรนด์อาหารแห่งยุคเพื่อสุขภาพและชีวิตที่ยืนยาว และอาหารชะลอวัย หรือพบกับ Sati App แอปพลิเคชั่นที่วางตัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิจ
  • สำหรับ การวางแผนก่อนตาย ปีนี้ ชีวามิตร จัดขึ้นร่วมกับ 10DK Home Tidying และร้านปันกัน นำเสนอ Dealth Cleaning และนำเสนอ Living & Leaving Note สมุดบันทึกสำหรับวางแผนชีวิตให้ “อยู่ดี ตายดี” 

เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ก็เกิดคำถามว่า คนไทยพร้อมแค่ไหนกับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ดังนั้น การจัดงานมหกรรมด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability Expo 2024 (SX2024) ระหว่างวันที่ 27 ก.ย.-ต.ค.2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ปีที่ 5 โดยโซน Better Me จะเป็นการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย ด้วยวิธีองค์รวมที่นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันง่ายๆ

โดยออกแบบโซน  Better Me ภายใต้แนวคิด “เตรียมตัวสูงวัยอย่างมีคุณภาพและความสุข”  ผู้เข้าชมจะได้สาระความรู้มากมาย รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถปรับตัวและวางแผนชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพทั้งกายและใจ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดง พื้นที่แลกเปลี่ยนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิด 10 โซน SX2024 เดินหน้าเป้าหมายพัฒนาโลกยั่งยืน

SX 2024: รวมพลังเพื่ออนาคตและโลกที่ดีกว่า "ความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน"

อาหารฟังก์ชั่น เพื่อชีวิตที่ยืนยาว

ส่วนที่เป็นนิทรรศการหลัก จะพาผู้ชมไปเรียนรู้อาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารฟังก์ชั่น (Functional Food)ซึ่งเป็นเทรนด์อาหารแห่งยุคเพื่อสุขภาพและชีวิตที่ยืนยาว และอาหารชะลอวัย พบกับนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ หุ่นยนต์ดินสอ หรือ หุ่นยนต์ AI ที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุ ทั้งเป็นเพื่อนและคอยช่วยแจ้งเตือนเรื่องสุขภาพ, Mr. Muse หุ่นยนต์โรโบเทสเปียน ฮิวมานอยด์อัจฉริยะ ที่สามารถพัฒนาต่อยอดในหลากหลายมิติ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ พัฒนาโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช.

Sati App พื้นที่ปลอดภัยผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต

อีกไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดชมก็คือ Sati App แอปพลิเคชั่นที่วางตัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่เป็นใครก็ตามที่อยู่ในภาวะเครียด และต้องการหาเพื่อนพูดคุย โดยจับคู่กับอาสาสมัครที่ผ่านมการฝึกอบรมในการเป็นผู้ฟังมาแล้ว

ขณะที่ Stress Challenge เป็นการตรวจวัดระดับความเครียด โดย Canvas Longevity (Gebfosis) บริการสุขภาพที่นำการวิเคราะห์ชีวข้อมูล (Biological Data) หรือข้อมูลด้านสุขภาพเฉพาะบุคคล มาใช้ในการออกแบบบริการสุขภาพเฉพาะบุคคลในด้านต่างๆ เพื่อให้การดูแลสุขภาพได้ตรงจุด และง่ายมากที่สุด

แน่นอน ความมั่นคงทางการเงิน (Financial sesurity) ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งผู้เข้าชมงานจะพบกับบอร์ดข้อมูลการวางแผนวัยเกษียณ จะที่ช่วยให้ทุกคนมีความเข้าใจและสามารถการวางแผนทางการเงินได้ มีข้อมูลเกี่ยวกับบ้านพักคนชราเอกชน และสถิติเงินเก็บของคนแต่ละเจน

Better Me เตรียมตัวสูงวัย อย่างมีคุณภาพและความสุข

วางแผนชีวิตให้อยู่ดี - ตายดี

สำหรับการวางแผนก่อนตาย ปีนี้ ชีวามิตร จัดขึ้นร่วมกับ 10DK Home Tidying และร้านปันกัน นำเสนอ Dealth Cleaning โดยนำแนวคิดเรื่อง dostadning ของชาวสวีเดน หรือ การเก็บกวาดทำความสะอาดก่อนตาย ด้วยการนำสิ่งของที่ไม่จำเป็นในชีวิตออกไปเมื่อคิดว่าเวลาที่ตัวเองต้องจากโลกนี้ไปใกล้เข้ามาแล้ว การวางแผนจัดการกับข้าวของต่างๆ ช่วยปลดภาระทั้งทางกายและทางใจให้กับตัวเองและคนที่ข้างหลัง เพราะข้าวของในชีวอตที่น้อยลงทำให้ภาระที่เราแบกไว้ลดน้อยลงไปด้วย

นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอ Living & Leaving Note สมุดบันทึกสำหรับวางแผนชีวิตให้ “อยู่ดี ตายดี” และสื่อสารกับความต้องการที่แท้จริงไปยังคนใกล้ชิด เป็นเครื่องมือใหม่ ที่ชีวามิตรพัฒนาขึ้นให้เหมาะสมกับสังคมไทย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยบันทึกข้อมูลสำคัญและลงมือวางแผนชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่นเดียวกับในประเทศญี่ปุ่นที่ส่งเสริมให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุใช้สมุดบันทึก Ending Note แล้วนำข้อมูลนั้นไปเชื่อมโยงกับภาครัฐ เพื่อให้สามารถจัดการดูแลคุณภาพชีวิตระยะสุดท้ายได้อย่างมีคุณภาพ

หากสนใจรายละเอียด ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช้อปได้ในวันจันทร์ที่ 30 กันยายน 2567 ที่โซนไอเดียแล็บ (Idea Lab) ชั้น G  

Lifelong Learning

พื้นที่แลกเปลี่ยนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำเสนอนวัตกรรมเพื่อสังคม ได้แก่ Finlab พื้นที่การเรียนรู้และเสริมสร้างทักษะด้านการเงินให้กับเยาวชนและคนรุ่นใหม่ในระดับมัธยมศึกษา และ Scamtify แพลตฟอร์มตรวจจับสแกมเมอร์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นผลงานจาก 88 Sandbox มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจน นวัตกรรมจากการแก้ปัญหาความเครียดของคนวัยเรียนและวัยทำงาน ผ่านคอนเซ็ปต์ “From Houseplant to New Pet” , Mind Shoes แผ่นรองพื้นรองเท้าอัจฉริยะสำหรับผู้สูงวัยแบบ all-in-one, และยาดมเลิกบุหรี่ไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

นอกจากนี้ ยังจัดแสดงโมเดลการทำงานร่วมกับชุมชนและผู้สูงวัย ผ่านโครงการ Creative Young Designer ได้แก่ การทำงานร่วมกันระหว่างนิสิตนักศึกษา กับชุมชน เกิดเป็นโครงการที่นำงานหัตถกรรมของชุมชนมาต่อยอดด้วยการดีไซน์ และวางแผนการตลาด จนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ x หลุ่มปั้นหม้อเขียนสี ชุมชนหนองหาน จ.อุดรธานี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย x กลุ่มทอฟ้าบ้านใหม่ราษฎร์บำรุง อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา

Better Me เตรียมตัวสูงวัย อย่างมีคุณภาพและความสุข

'โภชนาการ’ ครบถ้วนสูงวัยสุขภาพดี

เมื่อเริ่มอายุมากขึ้น ร่างกายคนเราจะเสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ ‘ผู้หญิง’ ทั้งการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ภาวะกระดูกอ่อน โครงสร้างผิว ฯลฯ ดังนั้น ‘โภชนาการ’ ที่ครบถ้วนและเพียงพอถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดในการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี   

“อาหารและโภชนาการ” จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้สูงวัย เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น ความเสื่อมของร่างกาย สภาวะทางใจ ฯลฯ ที่อาจทำให้ความอยากอาหารของผู้สูงวัยลดลง นำไปสู่ภาวะขาดสารอาหาร และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของผู้สูงวัยได้ ดังนั้น คนรอบข้างต้องใส่ใจเรื่องโภชนาการ และหมั่นสังเกตหากผู้สูงวัยน้ำหนักลดลงมากผิดปกติ

โดยปกติผู้สูงอายุควรได้รับพลังงานวันละ 1,500-2,000 กิโลแคลอรี่ จากการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ที่หลากหลาย ทุกมื้อควรมีผักผลไม้เพื่อเพิ่มกากใยอาหาร และระมัดระวังการทานอาหารรสหวานจัดรวมถึงรสเค็มจัดที่อาจเสี่ยงต่อโรคเบาหวานความดันโลหิต รวมถึงโรคไต

สำหรับผู้สูงวัยที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร แนะนำให้เข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อค้นหาสาเหตุและรักษาที่สาเหตุนั้น เช่น รักษาช่องปากเพื่อช่วยเรื่องบดเคี้ยว การใช้น้ำลายเทียม การให้ข้อมูลโภชนาการที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลซึ่งต้องทำความเข้าใจร่วมกับครอบครัวด้วย รวมถึงการพิจารณาเสริมอาหารทางการแพทย์ (Oral nutritional supplement) โดยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อลดปัญหาการขาดสารอาหารให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรได้รับอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ดังนี้  

  • อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต หรือแป้ง กลุ่มอาหารให้พลังงาน เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว เผือก และมันสำปะหลัง ผู้สูงอายุจึงควรรับประทานอาหารกลุ่มนี้แต่พออิ่ม
  • อาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์และถั่วและงา อาหารกลุ่มนี้ช่วยในการซ่อมแซม และสร้างเนื้อเยื่อที่สำคัญต่อร่างกาย เนื้อสัตว์ที่ผู้สูงอายุควรรับประทานคือ เนื้อสัตว์ที่ไม่มีหนังหรือไขมันมากเกินไป โดยเฉพาะเนื้อปลาและถั่วชนิดต่างๆ ควรได้รับโปรตีน วันละ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • อาหารประเภทไขมัน ได้แก่ ไขมันจากพืช และไขมันจากสัตว์ จะให้พลังงานแก่ร่างกายและยังช่วยในการดูดซึมวิตามินบางอย่างด้วย ผู้สูงอายุก็ควรจำกัดอาหารประเภทไขมัน ควรใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไลโนเลอิค ประมาณ 2-2.5 ช้อนโต๊ะต่อวัน
  • อาหารประเภทผักต่างๆ ผักจะให้วิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย และมีใยอาหารช่วยให้ระบบขับถ่ายขับถ่ายเป็นปกติ ไม่ควรกินผักดิบเพราะมีกากอาหารมากเกินไปย่อยยาก อาจทำให้ท้องอืดเพราะมีก๊าซมาก
  • อาหารประเภทผลไม้ ให้วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร ผู้สูงอายุควรเลือกรับประทานผลไม้ที่เนื้อนุ่มเคี้ยวง่าย ได้แก่ มะละกอ กล้วยสุก ส้ม และควรรับประทานอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 6-8 ชิ้น/คำ

Better Me เตรียมตัวสูงวัย อย่างมีคุณภาพและความสุข

12เทคนิคจัดอาหารที่เหมาะสมกับสูงวัย

1) จัดอาหารให้ครบ 5 กลุ่ม คือ ข้าว-แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์นม โดยจัดให้หลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม

2) เลือกข้าวไม่ขัดสีเป็นหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน วุ้นเส้น เป็นต้น

3) เลือกปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเมล็ดแห้ง มาปรุงประกอบอาหารเป็นประจำ

4) จัดเมนูผักให้มีความหลากหลายสี และสลับชนิดกันไป

5) จัดผลไม้รสไม่หวานจัด วันละ 1-3 ส่วน (ผลไม้ 1 ส่วน ประมาณ 6-8 ชิ้นพอดีคำ)

6) จัดนมรสจืด วันละ 1-2 แก้ว และจัดอาหารแหล่งแคลเซียม เช่น ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง

7) หั่นอาหารเป็นชิ้นขนาดเล็ก ทำให้อ่อนนุ่มด้วยการต้ม นึ่ง ลวก เพื่อง่ายต่อการเคี้ยวและย่อย

8) กรณีที่กินมื้อหลักได้ไม่เพียงพอ อาจจัดให้กินครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง แบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ วันละ 5-6 มื้อ

9) ลดการปรุงอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม ใช้สมุนไพรในการเพิ่มรสชาติ ลดหรือเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารแปรรูป

10) ปรุงอาหารสุกใหม่ เน้นลวก ต้ม นึ่ง อบ จัดเมนูผัดและแกงกะทิแต่พอควร เลี่ยงอาหารทอด

11) ให้ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 แก้ว เลี่ยงเครื่องดื่มชา กาแฟ ในช่วงเย็นถึงค่ำ

12) งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง