“ภากร” พิสูจน์ 8 ปี ตลาดทุน หนุนความยั่งยืน-ฟื้นความเชื่อมั่น

“ภากร” พิสูจน์ 8 ปี ตลาดทุน หนุนความยั่งยืน-ฟื้นความเชื่อมั่น

ตลาดหุ้นไทยกำลังทะยาน เม็ดเงินลงทุนเพิ่มน้ำหนักในตลาดหุ้นไทย ดัชนีและมูลค่าการซื้อขายกลับมาฟื้นตัวในรอบปี ล้วนแต่เป็นภาพบรรยากาศของตลาดหุ้นไทยนาทีนี้ที่มีแต่ความหวังในเชิงบวกจากแรงขับเคลื่อนของนโยบายตลาดทุนและเศรษฐกิจหลังนายกฯและรัฐบาลมีความชัดเจน

KEY

POINTS

  • 8 ปีตลาดหุ้นไทยภายใต้บทบาท "ดร.ภากร ปีตธวัชชัย" ผู้จัดการตลท.คนที่13  เผชิญปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่พลิกโฉมหน้าตลาดหุ้นไทย
  • ผลงานหนุนความยั่งยืน - เติบโต ภายใต้ยุคดิจิทัล-เทคโนโลยี ผ่านงานระบบดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพระบบซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งตลาดแรกและตลาดรอง 
  • ขับเคลื่อนปรับเกณฑ์กำกับซื้อขาย-รับบจ.ใหม่และดำรงอยู่ รับกับความคาดหวังของนักลงทุนที่หลังตลาดหุ้นขาลง ปัญหา Short sell บจ.ไร้ความน่าเชื่อถือ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นช่วง หมดวาระ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย “ผู้จัดการตลท. คน 13” วันที่ 16 ก.ย. 2667 พร้อมกับเกษียณอายุไปพร้อมกันเป็นการจบภาระกิจที่พร้อมเตรียมส่งต่อให้กับผู้จัดการตลท. คนที่ 14 “อัสสเดช คงสิริ” วันที่ 19 ก.ย. 2567

ตลอดระยะเวลา 8 ปี เข้ารับตำแหน่ง 2 วาระ ( 2561 – 2567) เผชิญปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่เปลี่ยนโฉมหน้าตลาดทุนไทยในรอบ 4 ทศวรรษ

“ภากร” พิสูจน์ 8 ปี ตลาดทุน หนุนความยั่งยืน-ฟื้นความเชื่อมั่น

จากการเป็นหน้าด่านการซื้อขายและการกำกับซื้อขาย ผ่านทั้งช่วงดีสุด จาก “มูลค่าระดมทุนสูงสุดในอาเซียน” ” “มูลค่าซื้อขายเฉลี่ย 90,000 ล้านบาทต่อวัน”   จนเผชิญช่วง  “หุ้นไทยไร้เสน่ห์ “ “  ต่างชาติเมินลงทุน “ “รายย่อยเจ็บหนัก” เพราะหุ้นและผู้บริหาร  “ไร้ธรรมาภิบาล “

ภายใต้ตำแหน่งที่รับผิดชอบต่อตลาดทุน  “ดร.ภากร  พูดถึงการทำงาน 8 ปีที่ผ่านมา ” พัฒนาตลาดทุนพลักดันสินค้าเข้ามาระดมทุนเป็นทางเลือกนักลงทุน  ส่วนหลายเคสที่เกิดขึ้นมีคนไม่ดีตั้งใจทำซึ่งสามารถเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยและตลาดต่างประเทศ  ซึ่งตลท.ใส่ความระมัดระวังให้มากขึ้น -ปรับตัวให้เร็วตาม ทั้งวิธีการทำงาน การดำเนินการ ภายใต้ยังมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องไม่ใช่แค่ตลท. แล้วจะดำเนินการสำเร็จ เพราะมีทั้งก.ล.ต. บริษัทจดทะเบียนผู้บริหาร ผู้สอบบัญชี โบรกเกอร์ กองทุน ที่เข้ามาทำงานรวมกันและไปในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะงานตรวจสอบและดำเนินการผู้กระทำความผิดที่ชัดเจน สามารถลงโทษจนเกิดความยำเกรงได้มากขึ้น

“ผมขอใช้คำว่า  a blessing in disguise จุดที่ทำให้ปรับตัวถ้าไม่เกิดเหตุการณ์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง  โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกันต้องทำงานแบบประสานและไร้รอยต่อตอบสนองเร็วขึ้นและชัดเจน หาการป้องกันที่ดีที่สุด แก้ไขได้ สามารถลงโทษให้ถูกต้องและรุนแรง " กล่าวทิ้งท้ายก่อนหมดวาระ 

หากย้อนไป ปี 2559-2565 ตลาดหุ้นไทยมีศักยภาพดึงดูดการลงทุนอันดับต้นๆ ของโลก แม้จะเผชิญวิกฤติโควิดแต่ดัชนีสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว มาร์เก็ตแคปทะลุ 20 ล้านล้านบาท มูลค่าการซื้อขายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อวันมูลค่าการระดมทุน ผ่านบริษัท จดทะเบียนเข้าใหม่ (IPO) กว่า 5.55 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 8 ของ โลก และอันดับ 1 ในอาเซียน ปี 2563 จำนวนผู้ลงทุน ปี 2564 บัญชีซื้อขาย หลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบัญชี หรือเพิ่มขึ้น 49% จากปี 2563 บัญชีทั้งหมดเพิ่มเป็น 5.2 ล้านบัญชี เติบโตมากที่สุดในประวัติการณ์

พร้อมกับการเปิดกว้างเข้าสู่ยุคดิจิทัล-เทคโนโลยี เต็มตัว ผ่านงานระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบซื้อขายหลักทรัพย์ ปรับปรุงระบบซื้อขายสำหรับบริษัทสมาชิกหรือโบรกเกอร์ และพัฒนาระบบ Creation Redemption Platform เพื่อเชื่อมโยงธุรกรรมระหว่าง ตลาดแรกและตลาดรองของตราสารทุน

“ผลงานที่โดดเด่น” และยัง “หนุนการลงทุนอย่างยั่งยืน”  (sustainable investment) เพื่อ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างสมดุล ส่งเสริมการเปิดเผย ข้อมูลด้าน ESG อย่างโปร่งใส ตลอดจนสนับสนุนการประเมินด้าน ESG จนเป็นที่มาดัชนี SET ESG และจัดตั้งกองทุน ThaiESG ตามมา

“ภากร” พิสูจน์ 8 ปี ตลาดทุน หนุนความยั่งยืน-ฟื้นความเชื่อมั่น

ตลาดหุ้น ปี 2566- ครึ่งปีแรก 2567 พลิกเป็นขาลง มูลค่าการซื้อขายเริ่มชะลอ พร้อมกับปัญหาที่สร้างความระส่ำระสายมากที่สุดในตลาดหุ้นไทย จากปัจจัยภายนอก สงครามทางภูมิรัฐศาสตร์ เผชิญเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐลุกลามไปยังล้มของสถาบันการเงินของโลกจากดอกเบี้ยขาขึ้นต่อเนื่อง

รวมทั้งปัจจัยเฉพาะสร้างความข้อกังขา การขายชอร์ต (Short Selling) ที่เพิ่มสูงขึ้นและใช้ช่องโหว่งทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายพรบ .หลักทรัพย์ “Naked Short” หลังมีการจับโยงสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นแบบผิดหูผิดตาที่ 55 % ส่วนรายย่อยเหลือ 33 % เทียบกับปี 2560 ที่ 48 % และต่างชาติ 30 % พร้อมกับโบรกเกอร์ใหญ่ที่มีลูกค้าต่างชาติมีสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์รายวันเพิ่มสูงขึ้นจนทิ้งห่างอันดับ 2 เป็นเท่าตัวจนมีการเปิดเผยรูปแบบการลงทุนแบบ High-Frequency Trading (HFT) ของต่างชาติที่ทำให้ตลาดทุนตระหนักว่าเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย

กรณีเกิด เคสกระทบธรรมภิบาลหน้าประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นไทย ทั้ง หุ้น MORE และ STARK จนกลายเป็นภาวะ “ไร้ความเชื่อมั่น” ต่อตลาดทุนไทยของนักลงทุนรายย่อย ผนวกกับทิศทางการเมืองที่สั่นคลอน เศรษฐกิจเผชิญสุญญากาศยิ่งทำให้ตลาดหุ้นไทยสะท้อนปัจจัยต่างๆเหล่านี้ผ่านตัวเลขดัชนี

ปี 2566 ถือว่าหนักหนาสาหัสสำหรับตลาดหุ้นไทยด้วยผลตอบแทนติดลบ 20% รั้งตลาดหุ้นที่มีผลตอบแทนน้อยที่สุดในโลกไปครองสำคัญ ดัชนีหลุดนิวโลว์ 1,500 จุด มาแตะ1,400 จุด และนิวโลว์ ในรอบ 3 ปี ที่ 1,366 จุด จนครึ่งปีแรก 2567 ดัชนีทำนิวโลว์ใหม่รอบเกือบ 4 ปี ที่ 1,282 จุด (ส.ค. 2567 )

การเคลื่อนไหวของ “นักลงทุนรายย่อย “ ต่อระบบการซื้อขาย HFT และ Robot Trade ด้วยจำนวนเงินที่มากกว่า –เทคโนโลยีที่ดีกว่า แต่กลับสามารถทั้ง Short sell และ SBL ได้ไม่มีลิมิต จนทำให้เกิดความกังขาถึงธุรกรรมประเภท Naked Short  จนหน่วยงานตลาดทุนออกมาแถลงข่าวแทบจะรายวันจนสะเทือนไปถึงบอร์ดตลท. ต้องมีการ “ปรับเปลี่ยนนโยบายกำกับซื้อขาย รับบริษัทจดทะเบียน ให้คลอบคลุมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปครั้งใหญ่” 

การกำกับดูแล short selling และ program trading ทั้งทบทวนคุณสมบัติหลักทรัพย์ที่สามารถขายชอร์ตได้ ราคากำหนดราคาหุ้นขายชอร์ตลดลงมากกว่า 10% จากราคาปิดก่อนหน้า กำหนดให้ราคาขายชอร์ตต้องเป็นราคาที่สูงกว่าราคาล่าสุด (uptick rule) ถือว่าได้ผลทันทีจากปริมาณการขายชอร์ตลดวูบเหลือ 3-4 % จากเดิม 10-11 %

รวมทั้งการกำกับดูแล program trading เพิ่มเพดานการเคลื่อนไหวของราคาระหว่างวัน (dynamic price band) ขึ้นทะเบียนกลุ่ม HFT และจัดทำรายชื่อผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสมให้แก่โบรกเกอร์ทุกราย

ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยกลับมามีความหวังดัชนีกำลังจะเข้าสู่ภาวะขาขึ้น วอลุ่มการซื้อขายกลับมาเฉลี่ยมากกว่า 50,000 ล้านบาทต่อวัน สะท้อนความเชื่อมั่นกลับสู่ตลาดหุ้นไทยได้อีกครั้ง กล่าวได้ว่าตลอด 8 ปีในตลาดหุ้นไทยและบทบาท “ผู้จัดการคนที่ 13 ” ทั้งพัฒนาตลาดทุนและกู้ภาพ “ป้องกันกำกับซื้อขายให้กับตลาดทุน” ได้

@ผ่าบทเรียนตลาดหุ้นเผชิญผลกระทบลงทุน 

ตลาดทุนไทยเผชิญปัจจัยลบใหญ่ จากปฎิกิริยาของนักลงทุนรายย่อยที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง -มาตรการกำกับที่รัดกุมมากขึ้นเพื่อลงโทษผู้กระทำและเอาเปรียบผู้ถือหุ้นอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายในช่วงปี 2566 -ครึ่งปีแรก 2567   จนยกให้เป็น “เคสขึ้นหิ้งบทเรียน” ให้กับตลาดหุ้นไทย

เริ่มจากสถานการณ์โกงโบรกเกอร์ จากหุ้น MORE มูลค่า 4,350 ล้านบาท ผ่านกลไกนำหุ้น MORE ขอสินเชื่อ หรือมาร์จิน 11 โบรก แต่สุดท้ายไม่มีการส่งมอบเงินเพื่อชำระค่าหุ้นจนเกิดการฟ้องร้อง และยึดทรัพย์ดังกล่าว พร้อมสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษกลุ่มบุคคลกรณีร่วมกันสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE 32 ราย

 มหากาฬทุจริต STARK ที่ทำเอาหน่วยงานตลาดทุนตั้งรับเกือบไม่ทันเพราะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้ถือหุ้นจนถึงผู้บริหารระดับสูงตกแต่งบัญชีเพื่อนำเงินระดมทุนหุ้นกู้ -เพิ่มทุน -สินเชื่อ ยักยอกเงินออกจากบริษัท  ซึ่งเป็นการจุดฉนวน “หุ้นกู้ระส่ำระสายตามมา” ทั้ง กรณี  ALL -JKN -ITD   

หุ้นถูก Short sell ตามมาด้วยการถูกบังคับขายหุ้น หรือ Force sell กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่กระทบหุ้นที่สร้าง “คอนเนอร์” ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม   JMART ผู้บริหารถูก Force sell หุ้นตัวเองเกิดการขายหุ้นบิ๊กล็อตออกมา  หุ้น MGI ราคาหุ้นออลไทม์ไฮ 65 บาทจากไอพีโอ 4.95 บาท ดิ่งทันทีหลังมาตรการหยุดพักซื้อขายที่ 17.60 บาทการ Short sell จนถูก Force sell กันแน่

หุ้น SABUY เผชิญ Force sell เผชิญ Force sell จากผู้ถือหุ้นใหญ่ มีพอร์ตลงทุนด้วยมาร์จิน และมีการเทขายหุ้นจนเกือบหมดพอร์ตจนมีการเปลี่ยนมือเจ้าของ ตามมาด้วยเปิดงบ SBNEXT มีรายการนำเงินจากการกู้กลุ่ม SABUY และซื้อหุ้นเดียวกันกลายเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์  ​เคสดังกล่าวยังเป็นการ เปิดมุมสีเทา ในตลาดหุ้นไทยจากการที่ “เจ้าของนำหุ้นตัวเองไปจำนำ” เพื่อนำเงินมาใช้สุดท้ายเสียหุ้นในมือไม่ว่าจะเป็น YGG -ZIGA -WARRIX หรือ  NRF 

จนมาถึงเคสใหญ่ NEX และ  EA  ที่เผชิญข่าวลบทุกอย่างตั้งแต่  Short sell ตามด้วย Force sell  เจ้าของนำหุ้นไปจำนำตามมาด้วยการกล่าวโทษ “สมโภชน์ อาหุนัย”และพวก ต่อ DSI และส่งเรื่อง ปปง. พบทุจริตจัดซื้อจัดจ้างมูลค่า 3,466 ล้านบาท จนต้องยุติบทบาทผู้บริหารบจ. ไปต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ตัวเอง จนเผชิญปัญหาผิดนำชำระหนี้ตั๋วบีอี และหุ้นกู้ ตามมา   

อย่างไรก็ตาม เคสบทเรียนที่เกิดขึ้น เกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นและนักลงทุนจนได้รับความเสียหายจำนวนมาก แต่เป็นการ  “กระตุ้น”  มาตรการป้องกัน-ป้องปราบ และ “ฉุดคิด” ก่อนลงทุนได้เป็นอย่างดี