‘ภากร’ เล็งสังคายนาตลาดทุน ปิดช่องโหว่ ป้องซ้ำรอย ‘STARK - MORE’
"ตลท." ชี้ หน่วยงานกำกับตลาดทุน ต้องปรับ “การตรวจสอบ - แก้กฎหมาย“ เพื่อปิดช่องโหว่ ป้องไม่ให้ซ้ำรอย”สตาร์ค - มอร์” พร้อมหารือ "สมาคม บลจ. - สมาคมโบรกเกอร์" หนุนผู้ถือหุ้นดำเนินคดีแบบกลุ่ม ด้าน "สตาร์ค" กล่าวโทษต่อดีเอสไอ - ปอศ - ก.ล.ต. หวังนำผู้กระทำผิดลงทุน - ทวงคืนทรัพย์สิน
บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้มีการร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ปอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) ให้สืบสวน และสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี และลงโทษตามกฎหมายจนถึงที่สุด
หลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทได้รับทราบจากหนังสือของผู้สอบบัญชี ว่าผู้สอบบัญชีได้ตรวจพบพฤติการณ์อันควรสงสัยในประเด็นการดำเนินงาน และได้ปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการ และหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทตามนัยมาตรา 89/25 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2565
รวมถึงบริษัทได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงในเชิงลึกประกอบการสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) โดยบริษัทได้ให้ความร่วมมือกับDSI และปอศ. รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท ผู้ถือหุ้น ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับบริษัทสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีลงโทษได้ตามกฎหมาย ตลอดจนสามารถติดตามเอาทรัพย์สิน ที่ถูกกระทำโดยทุจริตจากผู้กระทำความผิดคืนกลับให้แก่บริษัทเพื่อเป็นการเยียวยาบรรเทาความเสียหายที่บริษัทได้รับ
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางตลท.ยังไม่ได้รับการติดต่อจากทั้ง 3 หน่วยงานในการนำส่งข้อมูลเพิ่มเติม แต่หลังจากนี้ทาง ตลท. คงจะติดต่อกลับไปว่ามีส่วนไหนบ้างที่ทาง ตลท.จะสนับสนุนการดำเนินงานของทั้ง 3 หน่วยงาน
ส่วนทางด้านผู้ถือหุ้น STARK ที่ได้รับผลกระทบนั้น ทาง ตลท.กำลังอยู่ระหว่างหารือกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ( ASCO) เพื่อหาแนวทางที่จะสนับสนุนการทวงสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action ) หรือฟ้องแพ่งแบบกลุ่ม ซึ่งในวันนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นทางตลท.ยังต้องรอข้อมูลต่างๆ เพิ่มทั้งจาก STARKและผู้สอบบัญชี เพื่อที่ว่า ตลท. จะสามารถดำเนินการต่อไปอย่างไรได้บ้าง
"ตลท. ได้ให้เปิดเผยข้อมูลของ STARK ที่แจ้งมาล่าสุดโดยเปิดเผยผ่านระบบ ตลท.เมื่อช่วงเช้าวานนี้ และคงต้องคอยติดตามว่าบริษัทจะมีผลความคืบหน้าอย่างไร ในเรื่องการส่งงบการเงินอย่างถูกต้อง และครบถ้วน ที่รายงานมาที่ ตลท. เพื่อตรวจสอบตามปกติ และหลังจากนั้น ตลท.จะเปิดเผยข้อมูลในระบบของตลท.ให้นักลงทุนรับทราบอย่างทั่วถึงกันต่อไป"
นายภากร กล่าวว่า ในช่วง 1 เดือน (1-30 มิ.ย.) ตลท. เปิดการซื้อขายหุ้น STARK เป็นการชั่วคราวนั้น กระบวนการตรวจสอบราคาหุ้น STARK ยังเป็นปกติ และยังคงตรวจสอบเหมือนช่วงการเปิดการซื้อขายหุ้นตามปกติ มีการขึ้นเครื่องหมาย NC (ข้อมูลไม่ครบถ้วน) รวมถึง ซื้อขายด้วยระบบเงินสด (แคชบาลานซ์) และ ในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ คงติดตามดูว่าบริษัทจะส่งงบการเงินได้หรือไม่
ทั้งนี้หากไม่สามารถส่งงบการเงินได้ หลังจากครบกำหนดเปิดเทรดชั่วคราว ตลท.จะมีการขึ้นเครื่องหมาย SP เพื่อหยุดพักการซื้อขายชั่วคราวจนกว่าบริษัทจะสามารถส่งงบการเงิน
"เกณฑ์การเปิดเทรดหุ้นชั่วคราว ในช่วงที่ยังไม่ส่งงบการเงินได้ภายในกำหนด ซึ่งเกณฑ์นี้ ปฏิบัติกันมาอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2562 ก่อนหน้านี้ มี 5 หลักทรัพย์เข้ามาอยู่ในเกณฑ์นี้ และวันก่อนที่จะเปิดการซื้อขายหุ้นชั่วคราว เราได้มีการปรึกษาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า งบการเงินของบริษัทจะออกในวันที่ 16 มิ.ย. ได้หรือไม่ และไม่ทราบว่า งบการเงินจะออกมาหน้าตาอย่างไร"
ดังนั้น ตลท.จึงให้ STARKให้ข้อมูลกับนักลงทุนในวันที่ 30 พ.ค. และประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ในวันที่ 31 พ.ค.เพื่อนักลงทุนที่เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน ก่อนเปิดเทรดชั่วคราว 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. - 30 มิ.ย.2566
อย่างไรก็ตามจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับSTARK ต่อเนื่องจาก บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนนั้น นายภากร กล่าวว่า ตลาดทุนไทยและตลาดทุนทั่วโลก ต้องระมัดระวังมากขึ้นต่อการทำอะไร ที่อาจจะไม่ถูก ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ต่างๆ
ดังนั้นในฐานะสายงานกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศ ต้องมีการปรับตัวมากขึ้น ให้สอดคล้องกับสภาพตลาดและวิธีการของแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนต้องปรับ เพื่ออุดช่องโหว่ของปัญหา ซึ่งต้องมีการปรับการทำธุรกิจ ,วิธีการตรวจสอบ และการควบคุมดูแล รวมถึง การแก้กฎระเบียบ และกฎหมายต่างที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน
"การควบคุมดูแลที่มากขึ้นของเรา ก็ต้องไม่ทำให้ผู้ที่ทำธุรกิจอย่างถูกต้อง และสุจริตได้รับผลกระทบไปด้วย โดยยังต้องเข้าถึงตลาดทุนได้คล่องตัว และลดต้นทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคำนึงถึงตลอด หลังจากนี้แต่ละผู้เล่นที่อยู่ในตลาดทุน คงต้องปรับกระบวนการทำงาน ปรับระบบร่วมกัน รวมถึงการแก้กฎระเบียบ และกฎหมายต่างที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน เรียกว่า ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนต้อง สังคายนากันทั้งหมดให้สอดคล้องกันมากขึ้น เพื่ออุดช่องโหว่ไม่ให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำ"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์