‘กาแฟ’ ราคาพุ่ง เซ่นพิษ ‘โลกรวน’ หลังบราซิลแล้ง - เวียดนามเจอพายุถล่ม

‘กาแฟ’ ราคาพุ่ง เซ่นพิษ ‘โลกรวน’ หลังบราซิลแล้ง - เวียดนามเจอพายุถล่ม

ราคากาแฟแต่ละแก้วอาจพุ่งสูงขึ้นอีก หลังจากราคาเมล็ดกาแฟแพงขึ้นประมาณ 40% ในปีนี้ เนื่องจากประเทศผู้ผลิตหลักอย่างบราซิล และเวียดนามได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเลวร้าย

KEY

POINTS

  • ราคาเมล็ดกาแฟพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกาแฟอย่างบราซิลประสบภัยแล้ง ส่วนเวียดนามถูกพายุพัดถล่ม
  • หลายประเทศเริ่มปรับราคากาแฟให้สูงขึ้น ถามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
  • ภายในปี 2050 พื้นที่ ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟอาจหดตัวลงถึง 50% และในบราซิลพื้นที่ที่สามารถปลูกกาแฟได้อาจจะลดลงถึง 80% 

ราคากาแฟแต่ละแก้วอาจพุ่งสูงขึ้นอีก หลังจากราคาเมล็ดกาแฟแพงขึ้นประมาณ 40% ในปีนี้ เนื่องจากประเทศผู้ผลิตหลักอย่างบราซิล และเวียดนามได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเลวร้าย

ราคากาแฟอาราบิก้าในตลาดล่วงหน้าในนิวยอร์กพุ่งสูงในรอบ 13 ปี ที่มากกว่า 2.60 ดอลลาร์ต่อปอนด์ในวันจันทร์ ขณะที่ราคากาแฟโรบัสต้าในลอนดอนพุ่งสูงถึง 5,000 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากราคาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกิดจากภัยแล้งรุนแรงในบราซิล และพายุไต้ฝุ่นยางิในเวียดนาม 

ตามรายงานของ Bloomberg พบว่าในปี 2024 ราคาเมล็ดกาแฟพรีเมียมพุ่งสูงขึ้นประมาณ 40% ขณะเดียวกันเมล็ดกาแฟโรบัสต้าที่ราคาถูกกว่าก็ขาดแคลนเช่นกัน ราคากาแฟพุ่งสูงขึ้นมาจากความหวาดกลัวว่าจะขาดกาแฟ หลังจากต้นกาแฟในประเทศผู้ส่งออกหลักอย่าง บราซิล และเวียดนาม กำลังได้รับผลกระทบจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตกาแฟอาราบิก้ารายใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเผชิญกับภัยแล้งรุนแรง โดยเฉพาะในรัฐมีนัชเจไรช์ แหล่งผลิตกาแฟอาราบิก้าเกือบหนึ่งในสามของบราซิล มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติมาก ตามรายงานของหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของบราซิล

ภัยแล้งครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับกาแฟอาราบิก้าที่ปลูกในปี 2025-2026 โดยคาร์ลอส เมรา นักวิเคราะห์สินค้าเกษตรจาก Rabobank บริษัทบริการทางการเงินข้ามชาติ เปิดเผยกับ Bloomberg ว่าสถานการณ์ในตอนนี้ “กำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย” เพราะวิกฤติในครั้งนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาด้านการขนส่ง 

การโจมตีเรือในทะเลแดงของกลุ่มกบฏฮูตีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 ทำให้เรือที่แล่นระหว่างเอเชีย และยุโรปถูกบังคับให้ใช้เส้นทางที่ยาวกว่ามากผ่านแหลมกู๊ดโฮปแทนที่จะผ่านคลองสุเอซ รวมถึงปัญหาท่าเรือคับคั่ง และตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งทั่วโลกขาดแคลน ทำให้การขนส่งกาแฟไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกทำได้ยากขึ้น

ส่วนในเวียดนาม ผู้ผลิตกาแฟโรบัสต้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ก็ถูกพายุไต้ฝุ่นยางิทำลายพื้นที่ปลูกกาแฟของประเทศจำนวนมาก พร้อมคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 200 ราย ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ต่อราคากาแฟทั่วโลกเพิ่มขึ้นไปอีก หลังจากในตอนนี้กาแฟโรบัสต้า ซึ่งเป็นกาแฟที่ใช้ในการทำกาแฟสำเร็จรูปเริ่มขาดแคลนแล้ว 

 

ราคากาแฟทั่วโลกพุ่งสูง

ราคากาแฟต่อแก้วพุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยผู้ค้าปลีกอย่าง JM Smucker บริษัทแม่ของ Dunkin’ และ Café Bustelo ได้ปรับขึ้นราคาถึง 2 ครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากต้นทุนกาแฟที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วน Pret A Manger ร้านอาหารสหราชอาณาจักร หยุดให้สมัครสมาชิกบริการสั่งกาแฟได้ 5 แก้วต่อวัน

ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคในอิตาลีเริ่มไม่พอใจหลังจากที่ราคาเอสเพรสโซในร้านกาแฟในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ตั้งแต่ปี 2021 เนื่องจากต้องเผชิญกับต้นทุนพลังงานและราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้กิจวัตรประจำวันของประชาชนหลายล้านคนเปลี่ยนไป หลายคนตัดสินใจซื้อเครื่องชงกาแฟไว้ที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม เจ้าของร้านกาแฟในอิตาลีไม่สามารถขึ้นราคาเอสเพรสโซได้มากนัก เพราะผู้คนคุ้นชินกับเอสเพรสโซที่ราคาถูกจากมาตรการควบคุมราคาเอสเพรสโซ เพื่อให้ทุกคนสามารถซื้อได้ และแม้ว่าการควบคุมราคาจะสิ้นสุดลงไปแล้วหลายสิบปีแล้วก็ตาม ดังนั้นร้านกาแฟจึงพยายามคงราคาเอสเพรสโซให้ถูกที่สุด แล้วไปขึ้นราคากับเมนูอื่นๆ เช่น คาปูชิโน และขนมแทน

การปรับราคากาแฟขึ้นของหลายแบรนด์ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ นั่นคือ ผลผลิตกาแฟกำลังถูกคุกคามจากวิกฤติสภาพอากาศมากขึ้น เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น และสภาพอากาศที่คาดเดาได้ยาก เริ่มทำให้ประเทศแถบพื้นที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรที่สามารถปลูกกาแฟได้กว่า 40 ประเทศ หรือที่เรียกว่า “Bean Belt” เริ่มไม่เหมาะสมต่อการปลูกกาแฟ

ต้นกาแฟอาจสูญพันธุ์

แบบจำลองสภาพอากาศแสดงให้เห็นว่า ภายในปี 2050 พื้นที่ ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟอาจหดตัวลงถึง 50% และในบราซิล พื้นที่ ที่สามารถปลูกกาแฟได้อาจจะลดลงถึง 80% ซึ่งจะทำเสียตำแหน่งประเทศส่งออกกาแฟรายใหญ่ของโลก

ยิ่งไปกว่านั้น กาแฟป่า ซึ่งเป็นทรัพยากรทางพันธุกรรมที่สำคัญสำหรับเกษตรกรอาจสูญพันธุ์ภายในปี 2080 ผู้คนมากกว่า 120 ล้านคนทั่วโลกพึ่งพาการปลูกกาแฟเพื่อยังชีพอาจไม่มีงานทำ

กาแฟอาราบิก้า” ขึ้นชื่อว่ามีรสชาติดี แต่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ โดยจะสามารถเติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 18-23 องศาเซลเซียส และในระดับระหว่าง 1,000-2,000 เมตร และต้องการอุณหภูมิเฉพาะระหว่าง เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นกว่าขีดจำกัดเหล่านี้ ต้นกาแฟจะประสบกับภาวะเครียดจากความร้อน ส่งผลให้ผลผลิตลดลง

กาแฟโรบัสต้า” ซึ่งสามารถทนความร้อนได้ดีกว่า แต่ใช้น้ำในการเพาะปลูกมาก ดังนั้นภัยแล้งที่เกิดบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น สร้างความท้าทายให้แก่เกษตรกรที่ต้องดิ้นรนหาทางรักษาปริมาณผลผลิตไว้ให้ได้ โดยไม่ต้องเพิ่มการชลประทาน

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเนื่องจากกาแฟไม่ได้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากนัก พันธุ์กาแฟอาราบิก้าและโรบัสต้าคิดเป็น 99% ของผลผลิตกาแฟทั่วโลก ทำให้พืชชนิดนี้มีความเสี่ยงสูงต่อแมลง โรค และวิกฤติสภาพอากาศ

นักวิจัยกำลังทำงานเพื่อพัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่ทนทานมากขึ้น แต่สายพันธุ์ป่าที่จำเป็นสำหรับการผสมพันธุ์ก็ตกอยู่ในอันตราย ตามข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) พบว่า สายพันธุ์กาแฟป่ามากกว่า 60% มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทำให้ศักยภาพในการปรับปรุงพันธุกรรมมีจำกัด


ที่มา: BBC, Financial Times ,Independent

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์