เมื่อการรื้อถอนเป็นความก้าวหน้ากว่าการสร้าง
การรณรงค์ขององค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีความคิดในแนวทวนกระแสที่มักเรียกรวม ๆ กันว่าเป็นพวก “หัวก้าวหน้า” (progressive) มีบทบาทสำคัญในการรื้อถอนเขื่อนในประเทศก้าวหน้าทั้งในอเมริกาเหนือและในยุโรปดังที่คอลัมน์นี้อ้างถึงเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
แน่นอน การรื้อถอนเขื่อนจะดำเนินต่อไปในหลายภาคส่วนของโลก นอกจากการรื้อถอนเขื่อนแล้ว ยังมีการรื้อถอนสำคัญอันเกิดจากการสนับสนุนอย่างแข็งขันขององค์กรเอกชนหัวก้าวหน้าที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นทั่วสหรัฐอีกด้วย
กล่าวคือ การรื้อถอนสนามโรงเรียนจำพวกเทคอนกรีต ลาดด้วยยางแอสฟัลท์ และปูด้วยแผ่นยางพารากับหญ้าเทียม คาดว่าการรื้อถอนด้านนี้จะดำเนินต่อไปแบบคู่ขนานกับการรื้อถอนเขื่อน
โครงการรื้อถอนเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดซึ่งเพิ่งเสร็จสมบูรณ์เมื่อสัปดาห์ก่อนอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วสหรัฐว่ามีความคิดก้าวหน้ากว่ารัฐอื่น การรื้อถอนสนามโรงเรียนด้วยการสนับสนุนขององค์กรเอกชนหัวก้าวหน้าจึงกำลังเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นที่สุดในรัฐนี้เช่นกัน
ย้อนไปหลายทศวรรษ ความสะดวกในการใช้พร้อมกับความง่ายในการรักษาและซ่อมบำรุงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนสนามโรงเรียนที่เคยเป็นลานดิน หญ้าและต้นไม้ หรืออยู่ในสภาพใกล้ธรรมชาติให้เป็นสนามเต็มไปด้วยวัสดุต่าง ๆ ดังกล่าวจนโรงเรียนบางแห่งแทบไม่มีส่วนของสนามแบบธรรมชาติเหลืออยู่
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวจนนำไปสู่การรื้อถอนสนามเหล่านั้น ได้แก่ ความร้อนระอุที่ตามมาทั้งในสนามเองและในอาคารใกล้เคียง ภาวะโลกร้อนในตอนนี้ทำให้ความร้อนกลางสนามสูงจนถึงกับเป็นอันตราย
การวิจัยสรุปว่าโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาของนครลอสแอนเจลิสและปริมณฑล ซึ่งมีสนามลาดยางแอสฟัลท์เป็นส่วนใหญ่ ความร้อนระดับ 62 องศาเซลเซียสเกิดขึ้นบ่อยจนเป็นปกติ ส่วนในสนามลาดด้วยยางแอสฟัลท์และปูด้วยแผ่นยางพาราและพื้นหญ้าเทียมร้อนกว่านั้นอีก
การวัดอุณหภูมิที่สร้างความตกใจเกิดขึ้นในสนามโรงเรียนชั้นประถมแห่งหนึ่งในเดือนพฤษภาคมเมื่อ 3 ปีก่อนซึ่งพบว่าร้อนถึง 71 องศาเซลเซียส
ข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้เกิดโครงการปรับเปลี่ยนสนามโรงเรียน กลับไปให้เป็นแบบมีหญ้าและต้นไม้อย่างเร่งด่วน ส่วนที่ยังทำไม่ได้ก็อาจใช้การพ้นไอน้ำเย็นพร้อมกับใช้การกางเต็นท์ขนาดใหญ่ไปก่อน
เขตพื้นที่การศึกษานครลอสแอนเจลิสและปริมณฑล คาดว่าจะใช้งบประมาณในโครงการนี้ถึง 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มจากงบประมาณของรัฐบาลของรัฐแคลิฟอร์เนีย นอกจากนั้น การดำเนินงานยังได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรอีกด้วย ทำให้ประหยัดงบประมาณได้มาก
การปรับเปลี่ยนสนามโรงเรียนให้กลับไปมีสภาพสีเขียวตามธรรมชาติ ไม่จำกัดอยู่แค่ในรัฐแคลิฟอร์เนียเท่านั้น หากยังกำลังกระจายไปทั่วสหรัฐ อีกทั้งยังไม่จำกัดอยู่แค่โรงเรียนในใจกลางเมืองใหญ่ ๆ หรือป่าคอนกรีตซึ่งร้อนกว่าพื้นที่นอกเมือง
องค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรชื่อ The Trust for Public Land รายงานว่าตนได้เข้าร่วมกับโรงเรียนและประชาชนในชุมชนรอบโรงเรียนปรับเปลี่ยนสนามโรงเรียนกลับสู่สภาพพื้นที่สีเขียวแบบธรรมชาติแล้วกว่า 300 แห่งใน 23 รัฐและพื้นที่ในเขตปกครองตนเองของชาวพื้นเมืองดั้งเดิมซึ่งโดยทั่วไปอยู่ในชนบท
องค์กรนี้ชี้ว่า กระบวนการปรับเปลี่ยนเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเนื่องจากความต้องการมีสูงมากและเร่งด่วน ท่ามกลางสภาพของผิวโลกที่ร้อนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อทำสำเร็จ พื้นที่สีเขียวจะเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากสนามโรงเรียนรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนไปสู่การปูด้วยวัสดุต่าง ๆ รวมกันได้ถึงราว 5 ล้านไร่ หรือใกล้ 2.5 เท่าของรัฐโรดไอแลนด์
พื้นที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐตั้งอยู่ในเขตอบอุ่น จึงร้อนน้อยกว่าพื้นที่ของประเทศกำลังพัฒนาที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนรอบเส้นศูนย์สูตรรวมทั้งไทย
ผลการวิจัยและการรื้อถอนเพื่อปรับเปลี่ยนสนามโรงเรียนดังที่อ้างถึง จึงน่าจะเป็นที่ประจักษ์แก่ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นแล้วว่า การรักษาสภาพใกล้ธรรมชาติเอาไว้ในสนามโรงเรียนเป็นความก้าวหน้าอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทุ่มงบประมาณสร้างเป็นแบบเทคอนกรีต ลาดด้วยยางแอสฟัลท์ หรือปูด้วยแผ่นยางพาราและพื้นหญ้าเทียมซึ่งอีกไม่นานจะต้องรื้อทิ้ง ยิ่งในประเทศที่ต้องมีเงินทอนทุกขั้นตอนของงานยิ่งไม่ควรสร้างอย่างเด็ดขาด.