ธารน้ำแข็งละลายเกลี้ยง ทำ ‘สวิส-อิตาลี’ ต้องขีดเส้นพรมแดนใหม่
ธารน้ำแข็งตามแนวพรมแดนอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ละลาย ทำให้ทั้งสองประเทศต้องกำหนดพรมแดนใหม่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมตามแนวภูเขาแมทเทอร์ฮอร์นเปลี่ยนแปลงไป
พรมแดนส่วนหนึ่งระหว่างอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ ต้องขีดเส้นแบ่งแดนใหม่อีกครั้ง เนื่องจากธารน้ำแข็งที่ทำเครื่องหมายแบ่งเขตแดนละลาย ถือเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่ามนุษย์เปลี่ยนแปลงโลกไปมาก ด้วยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้โลกร้อน
แม้ว่าพรมแดนของประเทศมักเป็นเขตแดนที่กำหนดแบบตายตัว แต่พรมแดนระหว่างอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ส่วนใหญ่กำหนดจากธารน้ำแข็งและพื้นที่หิมะ
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ทั้งสองประเทศเห็นพ้องต้องกันที่จะเปลี่ยนเส้นพรมแดนตามแนวภูเขาแมทเทอร์ฮอร์น ซึ่งเป็นหนึ่งในภูเขาที่สูงที่สุดในโลกในเทือกเขาแอลป์
รัฐบาลสวิสแถลงเมื่อวันศุกร์ (27 ก.ย.) ว่า น้ำแข็งละลาย ทำให้องค์ประกอบสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงต้องกำหนดพรมแดนประเทศใหม่
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงพรมแดนได้รับความเห็นชอบตั้งแต่ปี 2566 และรัฐบาลสวิสได้อนุมัติการปรับเปลี่ยนพรมแดนอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่อตาลีกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ
หากข้อตกลงปรับเปลี่ยนเขตแดนได้รับการลงนามเสร็จสิ้นแล้ว ข้อตกลงและรายละเอียดการแบ่งพรมแดนนี้จะได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะ
ซีเอ็นเอ็นระบุว่า น้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์ละลายในอัตราที่น่ากังวล โดยเมื่อปีก่อนประเทศสูญเสียปริมาตรธารน้ำแข็งไป 4% รองจากการสูญเสียธารน้ำแข็งสูงสุด 6% ในปี 2565
แมตเธียส ฮัสส์ นักธารน้ำแข็งวิทยาจากมหาวิทยาลัย ETH Zürich และผู้อำนวยการ GLAMOS เครือข่ายที่คอยจับตาดูธารน้ำแข็งในสวิส บอกว่าแนวโน้มดังกล่าวยังไม่มีท่าทีที่จะจบลง
“ในปี2567 ธารน้ำแข็งยังคงละลายอย่างรวดเร็ว แม้มีหิมะตกหนักในฤดูหนาวตามที่คาดไว้ว่าจะพอช่วยบรรเทาได้บ้าง แต่ธารน้ำแข็งบางส่วนแยกออกจากกันแล้ว และธารน้ำแข็งชิ้นส่วนเล็กๆก็ละลายหายไปแล้ว” ฮัสส์ กล่าว
ปรากฏการณ์นี้ทำให้ภูมิประเทศไม่มีความมั่นคงมากขึ้น และเสี่ยงทำให้เกิดดินและหิมะถล่ม โดยในปี 2565 เกิดเหตุหิมะถล่มในเทือกเขาแอลป์ฝั่งอิตาลี คร่าชีวิตผู้คนไป 11 ราย
ซีเอ็นเอ็นย้ำด้วยว่า แม้มีความพยายามดำเนินการเกี่ยวกับสภาพอากาศมากเพียงใด ธารน้ำแข็งของโลกก็อาจละลายหายไปมากถึง 50% ภายในปี 2643