ภาพถ่าย 15 ปี ชี้ ‘โลกร้อน’ คุกคามธรรมชาติ ‘ธารน้ำแข็ง’ ในสวิสหายเกือบหมดภูเขา

ภาพถ่าย 15 ปี ชี้ ‘โลกร้อน’ คุกคามธรรมชาติ ‘ธารน้ำแข็ง’ ในสวิสหายเกือบหมดภูเขา

นักท่องเที่ยวโพสต์ภาพถ่ายอันน่าตะลึงและเศร้า ของธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์ที่ตอนนี้แทบไม่เหลือหิมะปกคลุมอยู่เลย ทั้งที่เมื่อ 15 ปีที่แล้วยังเต็มไปด้วยหิมะสีขาวเต็มภูเขา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” กำลังทำลายธรรมชาติอย่างรวดเร็ว

KEY

POINTS

  • นักท่องเที่ยวโพสต์ภาพถ่ายที่ถ่ายที่จุดเดียวกันบนธารน้ำแข็งโรนที่ห่างกัน 15 ปี ในปัจจุบันธารน้ำแข็งโรนหดตัวเล็กลงอย่างมาก ไม่มีอีกแล้วเนินหิมะสีขาวสุดลูกหูตา เหลือเพียงแต่เนินหินสีเทา และทะเลสาบสีเขียวอันกว้างใหญ่
  • นับตั้งแต่ปี 2543 สวิตเซอร์แลนด์ได้สูญเสียปริมาณธารน้ำแข็งไปแล้วหนึ่งในสาม และ 10% ได้หายไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 
  • ภาวะโลกร้อนจะทำให้ธารน้ำแข็งเกือบทั้งหมดที่อยู่ในเขตละติจูดต่ำ ยุโรปกลาง ภูมิภาคคอเคซัส ฝั่งตะวันตกของแคนาดาและสหรัฐ เอเชียเหนือ สแกนดิเนเวีย และนิวซีแลนด์หายไปภายในศตวรรษข้างหน้า

นักท่องเที่ยวรายหนึ่งโพสต์ภาพถ่ายอันน่าตะลึงและเศร้า ของเทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์ที่ตอนนี้แทบไม่เหลือธารน้ำแข็งและหิมะปกคลุมอยู่เลย ทั้งที่เมื่อ 15 ปีที่แล้วยังเต็มไปด้วยหิมะสีขาวเต็มภูเขา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” กำลังทำลายธรรมชาติอย่างรวดเร็ว

ดันแคน พอร์เตอร์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จากบริสตอล โพสต์ภาพถ่ายที่ถ่ายที่จุดเดียวกันบนธารน้ำแข็งโรน เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 และสิงหาคม 2567 ซึ่งมองดูเผิน ๆ คงไม่มีใครคิดว่าเป็นที่เดียวกันเพราะ สถานที่ในรูปทั้งสองแตกต่างกันมาก โดยในปัจจุบันธารน้ำแข็งโรนหดตัวเล็กลงอย่างมาก ไม่มีอีกแล้วเนินหิมะสีขาวสุดลูกหูตา เหลือเพียงแต่เนินหินสีเทา และทะเลสาบสีเขียวอันกว้างใหญ่

“ภาพถ่ายเหล่านี้ถ่ายห่างกัน 15 ปี ขาดไป 1 วัน ถ่ายที่ธารน้ําแข็งโรนในสวิตเซอร์แลนด์วันนี้ ผมจะไม่โกหก มันทําให้ผมร้องไห้” พอร์เตอร์ โพสต์รูปดังกล่าวลงใน X ส่วนตัว ซึ่งได้กลายเป็นไวรัลในเวลาไม่นาน

ภาพถ่าย 15 ปี ชี้ ‘โลกร้อน’ คุกคามธรรมชาติ ‘ธารน้ำแข็ง’ ในสวิสหายเกือบหมดภูเขา

ภาพดังกล่าวซึ่งถูกโพสต์ซ้ำมากกว่า 10,000 ครั้ง และมีผู้ชมมากกว่า 4.4 ล้านคน แสดงให้เห็นการลดลงอย่างรวดเร็วของธารน้ำแข็งในโลกที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อ 15 ปีก่อน พอร์เตอร์และภรรยาของเขาถ่ายภาพจากจุดชมวิวของโรงแรม ที่สามารถมองเห็นวิวธารน้ำแข็งโรนได้อย่างชัดเจน และได้แขวนภาพนี้ไว้ในห้องครัวตลอดมา และ 15 ปีให้หลังพอร์เตอร์และครอบครัวได้เดินทางข้าวทวีปยุโรป เพื่อมาถ่ายรูปที่ธารน้ำแข็งแห่งนี้อีกครั้ง

“แต่เห็นได้ชัดว่าภาพถ่าย 2 ใบนี้แตกต่างกันอย่างมาก” พอร์เตอร์กล่าว และเฮเลน พอร์เตอร์ ผู้เป็นภรรยากล่าวเสริมว่า “ฉันไม่อยากจะเชื่อเลยจริง ๆ” 

สวิตเซอร์แลนด์กำลังสูญเสียธารน้ำแข็งอย่างรวดเร็ว

ธารน้ำแข็งโรน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของสวิตเซอร์แลนด์ โดยเป็นที่ตั้งของถ้ำน้ำแข็ง ที่มีลักษณะเป็นอุโมงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ละปีถ้ำน้ำแข็งจะมีความยาวแตกต่างกันออกไป ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูร้อนใน ถ้ำจะมีความยาวมากกว่า 100 เมตร แต่เมื่อฤดูร้อนผ่านพ้นไป ความยาวถ้ำจะสั้นลงเหลือประมาณ 70 เมตร

มลพิษจาก “ก๊าซคาร์บอน” ที่ถูกปล่อยออกมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการทำลายธรรมชาติโดยฝีมือของมนุษย์ ทำให้โลกร้อนขึ้น 1.3 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งยุโรปได้กลายเป็นทวีปที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ขึ้นชื่อว่าเป็น “ทวีปที่ร้อนเร็วที่สุดโดยร้อนเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 2 เท่า 

ฤดูร้อนที่ร้อนขึ้นทำให้ธารน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วกกว่าที่เคย ตามข้อมูลจาก สถาบันวิทยาศาสตร์สวิส  (SCNAT) และ หน่วยงานติดตามธารน้ำแข็งสวิตเซอร์แลนด์ (GLAMOS) พบว่า นับตั้งแต่ปี 2543 สวิตเซอร์แลนด์ได้สูญเสียปริมาณธารน้ำแข็งไปแล้วหนึ่งในสาม และ 10% ได้หายไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากฤดูร้อนที่รุนแรงและฤดูหนาวที่ร้อนผิดปรกติ ทำให้ปริมาณหิมะต่ำมากในปี 2565 และ 2566

การวิเคราะห์โดย SCNAT ยังพบว่า 4% ของปริมาณธารน้ำแข็งทั้งหมดของสวิตเซอร์แลนด์หายไปในปี 2566 

แม้ว่าในภาพรวมแล้วธารน้ำแข็งโรนจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าธารน้ำแข็งอื่น ๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ แต่จากภาพถ่ายของพอร์เตอร์ก็แสดงให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลาเพียง 15 ปี ธารน้ำแข็งแห่งนี้หดตัวลงประมาณหนึ่งในสี่ 

ภาพถ่าย 15 ปี ชี้ ‘โลกร้อน’ คุกคามธรรมชาติ ‘ธารน้ำแข็ง’ ในสวิสหายเกือบหมดภูเขา

ธารน้ำแข็งโรนในปี 2566

เมื่อต้นปี 2567 แดเนียล ฟารินอตติ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ธารน้ำแข็งชั้นนำของยุโรป ที่ศึกษาธารน้ำแข็งโรน เปิดเผยกับ New York Times ว่า ธารน้ำแข็งโรนได้ละลายหายไปแล้วประมาณครึ่งกิโลเมตรนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา และได้เกิดทะเลสาบธารน้ำแข็งอยู่บริเวณธารน้ำแข็งอีกด้วย

ฟารินอตติ ยังกล่าวอีกว่า “ยิ่งพื้นผิวมืดเท่าไร แสงแดดก็จะดูดซับได้มากขึ้น และเกิดการละลายมากขึ้นเท่านั้น”

ขณะที่ โซเนีย เซเนวิราตเน นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศชาวสวิสและผู้ร่วมเขียนรายงานของ IPCC ผู้เคยไปเยือนธารน้ำแข็งแห่งนี้เมื่อยังเป็นวัยรุ่น กล่าวว่า “มันเป็นธารน้ำแข็งที่สวยงามมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่ต้องเห็นภาพเหล่านั้น เพราะคุณรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมันใหญ่โตเพียงใด” 

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) พบว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้ธารน้ำแข็งเกือบทั้งหมดที่อยู่ในเขตละติจูดต่ำ ยุโรปกลาง ภูมิภาคคอเคซัส ฝั่งตะวันตกของแคนาดาและสหรัฐ เอเชียเหนือ สแกนดิเนเวีย และนิวซีแลนด์หายไปภายในศตวรรษข้างหน้า

ในฐานะที่พอร์เตอร์เป็นสมาชิกกลุ่มปฏิบัติการด้านสภาพอากาศในท้องถิ่นที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ เขาระบุว่าคนธรรมดาก็สามารถทำอะไรเพื่อช่วยโลกได้เช่นกัน 

“เมื่อคนส่วนใหญ่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นตรง พวกเขาจะทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ต้องทำอย่างไร แต่ความจริงแล้ว พวกเขาสามารถทำอะไรได้มากมาย” 

พอร์เตอร์ระบุว่า การเข้าร่วมโครงการชุมชนท้องถิ่น เป็นหนึ่งในวิธีที่คนธรรมดาสามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ ควบคู่ไปกับการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบผ่านการเลือกตั้ง และการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แต่เขาก็ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วเกินไป “สิ่งเหล่านี้ควรจะต้องใช้เวลานานมากกว่าที่มันจะเกิดขึ้น ผู้คนควรตระหนักว่า ตอนนี้การเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นเร็วมาก”


ที่มา: Euro NewsIndependentMashableThe Guardian

ภาพถ่าย 15 ปี ชี้ ‘โลกร้อน’ คุกคามธรรมชาติ ‘ธารน้ำแข็ง’ ในสวิสหายเกือบหมดภูเขา