"วัน แบงค็อก" ใช้ใจสร้างเมืองกลางใจ เปลี่ยนวันนี้เพื่ออนาคต

"วัน แบงค็อก" ใช้ใจสร้างเมืองกลางใจ เปลี่ยนวันนี้เพื่ออนาคต

การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนต้องการความร่วมมือจากภาคเอกชน รัฐบาล และชุมชน เพื่อทำเมืองเป็นที่อยู่อาศัยที่มีความยืดหยุ่น เท่าเทียม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เวทีเสวนา SX2024 จึงมีหัวข้อ Time to CHANGE: Shaping Bangkok’s Future เปลี่ยนวันนี้ เพื่ออนาคตกรุงเทพฯ ที่ยั่งยืน

การขยายตัวของเมืองยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปี 2567 มีประชากรประมาณ 37.8 ล้านคนอาศัยอยู่ในเขตเมืองของประเทศไทย คิดเป็นประมาณ 52.8% ของประชากรทั้งหมด และตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้การผลักดันให้เมืองยั่งยืนจึงมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเมืองยั่งยืนสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การปกป้องสิ่งแวดล้อม และความเท่าเทียมทางสังคม อย่างไรก็ตาม การบรรลุสมดุลนี้มาพร้อมกับความท้าทายที่สำคัญ

ด้วยเหตุนี้ Sustainability Expo 2024 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน จึงจัดให้มีหัวข้อ Time to CHANGE: Shaping Bangkok’s Future เปลี่ยนวันนี้ เพื่ออนาคตกรุงเทพฯ ที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดย “วัน แบงค็อก” (One Bangkok) โครงการอสังหาริมทรัพย์ต้นแบบกรีนสมาร์ทซิตี้ใจกลางกรุงเทพฯ พัฒนาโดย บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นเวที

เพื่อเผยเส้นทางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งสู่ “The Heart of Bangkok” หรือ “เมืองกลางใจ” ที่ใช้ใจสร้าง พัฒนาพื้นที่สีเขียวในโครงการเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น และมอบประสบการณ์ใหม่ของการใช้ชีวิต สร้างแรงบันดาลใจด้วยงานศิลปะ และวัฒนธรรมให้กับทุกคน รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยหนึ่งในวิสัยทัศน์หลัก คือ การใส่ใจและคำนึงถึงผู้คนเป็นหลัก (People Centric) พร้อมมุ่งมั่นรังสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนอย่างยั่งยืน

โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย วรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการวัน แบงค็อก, ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) และ รศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการเสวนาโดย ดร. พร้อม อุดมเดช  ผู้อํานวยการสํานักงานบริหารหลักสูตรสถาปัตยกรรมสหวิทยาการนานาชาติ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL)

กรีนสมาร์ทซิตี้ สู้โลกร้อน

“วรวรรต ศรีสอ้าน” กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของผู้คน วัน แบงค็อกจึงมุ่งมั่นสร้างมาตรฐานใหม่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองต้นแบบแห่งอนาคต “กรีนสมาร์ทซิตี้” เมืองที่เพียบพร้อมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อสุขอนามัยที่ดี ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในทุกมิติ

Better Living แบบองค์รวม

One Bangkok นำเสนอแนวคิด Better Quality of Life in One Bangkok มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตแบบองค์รวมด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในโครงการที่ครอบคลุมใน 3 มิติ

1. Physical Vitality : มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับทุกคน อาทิ การออกแบบทางเดินเท้าที่สามารถเดินทั่วทั้งโครงการภายใน 15 นาที ด้วยระยะทางเดินยาวต่อเนื่อง 5 กิโลเมตร โอบล้อมด้วยต้นไม้หลากหลายพันธุ์เรียงรายยาว 2.6 กิโลเมตร​ อาคารต่าง ๆ ภายในโครงการเปิดรับแสงธรรมชาติเต็มที่ พร้อมระบบปรับแสงสว่างอัตโนมัติ รวมถึงระบบกรองอากาศและฆ่าเชื้อประสิทธิภาพสูงเพื่ออากาศที่สะอาดสดชื่น ตลอดจนระบบตัดเสียงรบกวนจากภายนอกโครงการ 

2. Mental & Social Rejuvenation : เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีด้านสังคมและจิตใจ ด้วยพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะเปิดโล่งทั่วทั้งโครงการรวมกันกว่า 50 ไร่ อาทิ ในบริเวณ One Bangkok Park รวมถึง Parade Park และ Wireless Park เป็นต้น เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์กิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ทางสังคมและชุมชน นอกจากนี้ยังเสริมสร้างแรงบันดาลใจ และสุนทรียภาพแห่งการใช้ชีวิต ด้วย Art Loop ศูนย์รวมผลงานและโปรแกรมทางศิลปะและวัฒนธรรมระดับโลกรอบโครงการความยาวกว่า 2 กิโลเมตร เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์สำหรับทุกคน

3. Safe & Secure Environment : ใส่ใจดูแลความสะดวกสบายและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการและผู้พักอาศัยภายในโครงการตลอด 24 ชั่วโมงด้วย District Command Center ศูนย์บัญชาการกลางที่ควบคุมบริหารจัดการระบบต่าง ๆ และดูแลความปลอดภัยภายในโครงการ ด้วยเซ็นเซอร์อัจฉริยะกว่า 250,000 ตัว เพิ่มความมั่นใจและความปลอดภัยสูงสุด นอกจากนั้นยังออกแบบพื้นที่ตามมาตรฐานสากล (Universal Design) ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการใช้รถเข็น หรือการปูทางเท้าสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น หรือพิการทางสายตา รวมถึงการออกแบบป้ายและสัญลักษณ์นำทางที่เข้าใจง่ายทั่วโครงการ  

"ล่าสุด วัน แบงค็อก เป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองโดยมาตรฐาน LEED for Neighborhood Development ระดับแพลตตินัม รวมถึงมาตรฐาน WiredScore และ SmartScore ในระดับแพลตตินัมเช่นเดียวกัน ทั้งยังมุ่งสู่การรับรองโดยมาตรฐานรับรองอาคาร WELL เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ความสะดวกสบาย และความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้บริการ"

ปรับปรุงกฎหมายและการวางแผน

“วรวรรต” อธิบายเพิ่มเติมว่า การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว การวางแผนและนโยบายที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นตั้งแต่การเชื่อมต่อกับระบบการเดินทาง การรีไซเคิลวัสดุในระบบการก่อสร้างอาคาร เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน และการจัดพื้นที่สีเขียวให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอาจต้องปรับปรุงกฎหมายอาคาร เนื่องจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังเป็นกฎหมายตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งในเวลานั้นตึกที่สูงสุดของกรุงเทพฯ คือ ประมาณ 90 เมตร แต่ปัจจุบันตึกที่สูงที่สุดของกรุงเทพฯ มีความสูงถึง 320 เมตร แต่ยังใช้กฎหมายเดียวกันในการควบคุม

ที่จอดรถต้นทุนสูง ทำรายได้ให้น้อย

“วรวรรต”กล่าวด้วยว่า ผลกระทบของกฎหมายที่ไม่ปรับปรุง เช่น โครงการ One Bangkok มีพื้นที่การก่อสร้างรวม 1.8 ล้านตารางเมตร เมื่อถูกควบคุมโดยกฎหมายปี 2522 จึงต้องสร้างพื้นที่จอดรถ 12,000 คัน โดยพื้นที่ต่อคัน 156 ตาราเมตร รวมพื้นที่จอดรถคือ 4.2 แสนตารางเมตร

"เมื่อเปรียบเทียบกับ The Hudson Yards ในนิวยอร์ก โครงการขนาดพอ ๆ กับ One Bangkok มีพื้นที่จอดรถเพียง 45,500 ตารางเมตร และ Roppongi Hills ในโตเกียว มีพื้นที่จอดรถ 2,700 คัน ซึ่งในมุมมองเศรษฐศาสตร์ การสร้างที่จอดรถในกรุงเทพฯ ที่จอดรถสัดส่วนของโครงการที่ทำรายได้ให้น้อยที่สุด แต่ใช้ต้นทุนไม่ต่ำกว่าการสร้างอาคาร การปรับปรุงกฎหมายอาคารให้ทันสมัยและการวางแผนที่ดีจะช่วยให้การพัฒนาเมืองเป็นไปอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม"

การเปลี่ยนแปลงสู่เมืองเดินได้

"รศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล" กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าไปสู่การเป็น “เมืองเดินได้” หรือ “เมืองเดินดี” ซึ่งหมายถึงเมืองที่ผู้คนสามารถเดินไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย แนวโน้มนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่มีการสร้างทางเดินและทางจักรยานที่ปลอดภัยและสะดวกสบาย

"การที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เดินไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก ซึ่งการเดินเป็นการออกกำลังกายที่ดีและง่ายที่สุด แต่เมื่อการเดินเท้าเป็นเรื่องยากลำบาก ผู้คนจึงหันไปใช้รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์แทน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน นอกจากนั้นเมื่อการเดินเท้าเป็นเรื่องยาก ผู้คนจึงมีโอกาสน้อยที่จะพบปะและสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเหงาและความเครียด"

เทคโนโลยีกับความยั่งยืน

"ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา" กล่าวว่า ในการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืน เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และเพิ่มความสะดวกสบาย

"One Bangkok พื้นที่ที่ผู้คนสามารถอยู่อาศัย ช็อปปิ้ง และทำงานได้โดยไม่ต้องเดินทางมากมาย เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการใช้ชีวิตในเมือง โดยแนวทางการรวมนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและส่งเสริมวิถีชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งการพัฒนา One Bangkok ยังรวมถึงสร้างพื้นที่สีเขียวและตัวเลือกการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและการวางผังเมืองที่รอบคอบ วัน แบงค็อก กำลังปูทางไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าการใช้ชีวิตในยุคใหม่สามารถเป็นทั้งสะดวกสบายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เป็นต้นแบบสำหรับเมืองอื่น ๆ ที่จะปฏิบัติตาม"