SX2024 ส่งเสริม (เพศ) หลากหลายอย่างมีความสุข

SX2024 ส่งเสริม (เพศ) หลากหลายอย่างมีความสุข

หนึ่งในไฮไลท์ของงาน SX2024 มหกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน คือการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมสำหรับชุมชน LGBTQ+ สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลายประเทศมองไทยเป็นต้นแบบ โดยเฉพาะตลาดศัลยกรรมผ่าตัดเปลี่ยนเพศ

Sustainability Expo 2024 (SX2024) งานเอ็กซ์โปเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เป็นพื้นที่สำหรับทุกน มาร่วมมือกันสร้างความยั่งยืน ผ่านแนวทาง “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) เพื่อสร้างสมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า (Good Balance, Better World)โดยจัดตั้งแต่ 27 กันยายน - 6 ตุลาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก้าวหน้าอย่างมากในการยอมรับและสนับสนุนชุมชน LGBTQ+ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วในปี 2024 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเท่าเทียมและการยอมรับในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม การยอมรับนี้ยังคงต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมในด้านการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับความต้องการเฉพาะของชุมชน LGBTQ+

ดังนั้น หนึ่งในไฮไลท์ของงาน Sustainability Expo 2024 (SX 2024) คือการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมสำหรับชุมชน LGBTQ+ ในประเทศไทย โดยเน้นที่การสร้างความภาคภูมิใจในตัว และความปลอดภัยในการใช้ฮอร์โมน การแปลงเพศ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีการกล่าวถึงบทบาทของคลินิกเฉพาะทางอย่างเช่น คลินิกสุขภาพเพศ หรือ Gender Health Clinic ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

โดยมี “รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ” หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ทางเพศ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นผู้นำทีมขึ้นเวที SX2024 วันที่ 5 ตุลาคม 2567 ในหัวข้อ “Healthy Pride (เพศ) หลากหลายอย่างมีความสุข” ร่วมกับทีมแพทย์และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะและบรรยายตามหัวข้อต่าง ๆ ประมาณ 7 ท่าน เช่น ดร.พญ.นิตยา ภานุภาค พูดถึงเรื่องการดูแลสุขภาพคนข้ามเพศในประเทศไทย และเรื่องของคลินิกชุมชนที่เกิดขึ้นมานาน ผศ.พญ. พูนพิศมัย สุวะโจ มาพูดถึงเรื่องการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ และผศ.นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ มาพูดถึงการกินยาคุมและฮอร์โมน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีอาจารย์หมอที่ดูแลเรื่องสุขภาพของเด็กและวัยรุ่น และการผ่าตัดเปลี่ยนเพศในเด็กมาร่วมด้วย

“รศ.นพ.กระเษียร” กล่าวว่า ชั่วโมงแรกจะเป็นการนำเสนอของแพทย์ และตามด้วยเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์คลินิกสุขภาพเพศ ซึ่งจะขึ้นเวที 7 คน โดยเป็นนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางท่านเป็นบุคคลข้ามเพศ และหนึ่งในนั้นเคยได้ตำแหน่งรองมิสทิฟฟานี่ ซึ่งตอนนี้นิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดยนิสิตจะร่วมพูดคุยพร้อมกับตอบคำถามของประชาชนในงาน เกี่ยวกับประเด็ยสำคัญ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม การดูแลลูกที่เป็นบุคคลข้ามเพศ การดูแลจิตใจพ่อแม่เมื่อมาทราบทีหลังว่าลูกเป็นบุคคลข้ามเพศ เป็นต้น นิสิตเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่และประชาชน ที่จะมาร่วมแบ่งปันเรื่องราวชีวิตจริงที่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ต้องผ่านประสบการณ์อะไรบ้าง

SX2024 ส่งเสริม (เพศ) หลากหลายอย่างมีความสุข

คลินิกสุขภาพ เพื่อเพศหลากหลาย

โรงพยาบาลจุฬาฯเปิดคลินิกสุขภาพเพศแบบครบวงจรเป็นแห่งแรก ๆ โดยเปิดเมื่อประมาณ 6 ที่ปีแล้ว ให้บริการเรื่องการดูแลสุขภาพของกลุ่ม LGBTQ+ นอกจากนั้น ยังดูแลเกี่ยวกับเรื่องปัญหาทางเพศ เช่น ปัญหาเพศสัมพันธ์ เป็นต้น และดูแลสตรีทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มสูงอายุที่มีปัญหาเรื่องของสุขภาพทางช่องคลอด มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขา เช่น เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ความเชี่ยวชาญในการใช้ฮอร์โมน และมีกลุ่มที่เป็นอาจารย์ทางจิตเวชจิตเวชและนักจิตบำบัด

คลินิกสุขภาพเพศของโรงพยาบาลจุฬาฯเป็นไปตาม The World Professional Association for Transgender Health (WPATH) อีกทั้งองค์การอนามัยโลก ยังได้กำหนดว่าภายในปี 2030 ผู้คนทั่วโลกกำลังดำเนินการไปสู่เป้าหมายโลกที่สะท้อนความยุติธรรมสากลสู่ความเสมอภาคด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน บนความหลากหลายทางเพศ โดยจะไม่มีใครต้องต้องเผชิญกับภาวะสุขกายและจิตอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป

“รศ.นพ.กระเษียร” กล่าวด้วยว่า การผ่าตัดแปลงเพศในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2518 สำหรับการเตรียมตัวผ่าตัดในส่วนอวัยวะเพศ ต้องได้รับฮอร์โมนอย่างน้อย 6 เดือน และต้องใช้ชีวิตแบบที่ต้องการจะเป็นตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือนติดต่อกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าหากผ่าตัดแล้วจะไม่รู้สึกเปลี่ยนใจ เสียใจ ในภายหลัง เพราะไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาได้ การดูแลก่อนผ่าตัด ต้องหยุดการใช้ฮอร์โมน เพราะการผ่าตัดใช้เวลานาน อาจมีภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ หยุดสูบบุหรี่ การจะผ่าตัดยืนยันเพศสภาพต้องมีความพร้อม เพราะเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอวัยวะเพศที่ไม่สามารถเปลี่ยนกลับได้ การผ่าตัดนี้พบว่าคนไข้มีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ความเข้าใจโรค การผ่าตัด การดูแลตนเอง เป็นการเตรียมพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัดที่ดี ทำให้สามารถผ่านการยืนยันเพศสภาพและการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย

ปัจจุบันมีคนมาใช้บริการที่คลินิกสุขภาพเพศของโรงพยาบาลจุฬาฯมากกว่า 300 คนต่อเดือน และตอนนี้การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพ (การแปลงเพศ) อาจต้องใช้เวลารอคิวประมาณ 9 เดือนถึงหนึ่งปี ซึ่งไทยถือว่าเป็นต้นแบบ และเป็น Hub ของการดูแลสุขภาพของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

ซึ่งหลาย ๆ ประเทศมองไทยเป็นต้นแบบ โดยเฉพาะตลาดศัลยกรรมผ่าตัดเปลี่ยนเพศจากชายเป็นหญิง จนยุโรปนำรูปแบบของเราไปใช้ และเรียกว่า ไทยเทคนิค 

นอกจากนั้น ปัจจุบันคณะแพทย์ในไทยของหลาย ๆ มหาวิทยาลัย เริ่มเปิดคลินิกสุขภาพเพศ หรืออาจใช้ชื่ออื่น ๆ ที่ต่างไป เช่น รามาศิริราช ธรรมศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลานครินทร์

SX2024 ส่งเสริม (เพศ) หลากหลายอย่างมีความสุข

ความหลากหลายไม่ใช่ความผิดปกติ

รสนิยมทางเพศความรู้สึกนึกคิดเพศสภาพที่อาจจะสอดคล้องกับจิตใจหรือไม่สอดคล้องอย่างไรก็ตามสิ่งนี้ถือเป็นความหลากหลายไม่ใช่ความผิดปกติจาก ข้อมูลในอดีตพบว่าการบำบัดแก้เพศวิถีหรือ Conversion Therapy การเปลี่ยนรสนิยมหรืออัตลักษณ์บุคคลให้ตรงกับร่างกายไม่ประสบความสำเร็จทำไปแล้วยิ่งสร้างความเครียดปัจจุบันจึงมีแนวคิด Gender Affirming Care คือเปลี่ยนร่างกายให้ตรงกับจิตใจและพบว่าหลังจากทำมาระยะนึงกลุ่มคนเพศหลากหลายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้นแต่ทุกคนไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทุกขั้นตอนเพื่อเป็นคนข้ามเพศที่สมบูรณ์ทุกคนครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้วกระบวนการจากแพทย์คือการทำให้เราได้เป็นเราในเวอร์ชั่นที่เราพอใจและเหมาะสมการเปลี่ยนแปลงมีหลายวิธีทั้งทางภายนอกและภายในต้องทำอย่างถูกวิธีเพื่อไม่เกิดผลเสียกับร่างกายจึงต้องมีการปรึกษากับแพทย์

กินยาคุมไม่เท่ากับเพิ่มฮอร์โมน

“ผศ.นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ” คลินิกสุขภาพเพศครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า หลายคนอาจไปซื้อยาคุมกำเนิดตามร้านขายยามาใช้ เพราะมีความเชื่อในการช่วยปรับฮอร์โมนเรื่องเพศ ซึ่งจริง ๆ ไม่ควรใช้ในการข้ามเพศ เพราะมีความเสี่ยงในการเป็นหลอดเลือดอุดตันถึง 20 เท่า

“เราควรใช้ฮอร์โมน Natural Estrogen คือฮอร์โมนที่เกิดจากธรรมชาติดีที่สุด และสิ่งสำคัญก่อนการใช้ฮอร์โมน แนะนำควรเก็บเซลล์สืบพันธุ์ไว้ก่อนทุกกรณี เพราะถ้าเราใช้ฮอร์โมนแล้วจะส่งผลเสียต่อเซลล์สืบพันธุ์ และถ้าเป็นในกลุ่มเด็กจะไม่ใช้ฮอร์โมนแต่ใช้การดูแลและความเข้าใจจากครอบครัว โรงเรียน ถ้าในกลุ่มวัยรุ่นจะเริ่มใช้ยาฉีดเพื่อไปกดการพัฒนาของหน้าอก และอัณฑะ และสำหรับวัยผู้ใหญ่ ต้องดูว่าร่างกายเรามีข้อห้ามหรือไม่ เช่น เป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็งบางอย่าง จะไม่สามารถใช้ฮอร์โมนได้ ซึ่งทุกคนไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมน หรือผ่าตัด ทุกคนสามารถเป็น Transgender ได้ สามารถเข้าไปปรึกษาได้ที่คลินิกสุขภาพเพศเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง”

LGBTQ+ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ได้รับการรับรองโดยสหประชาชาติในปี 2015 มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาระดับโลก เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายในปี 2030 เป้าหมายทั้ง 17 ข้อนี้ถูกออกแบบมาให้ครอบคลุมทุกคน รวมถึงกลุ่มบุคคล LGBTQ+ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

บุคคล LGBTQ+ มักเผชิญกับอุปสรรคสำคัญในการบรรลุคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกับบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์และเพศสภาพอื่น มีอุปสรรค์ด้านกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ การตีตราทางสังคม และการถูกกีดกันจากโอกาสทางเศรษฐกิจ สามารถนำไปสู่อัตราความยากจนที่สูงขึ้น ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่แย่ลง และการเข้าถึงการศึกษาและการจ้างงานที่จำกัด การแก้ไขปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการบรรลุ SDGs เนื่องจากการพัฒนาที่ยั่งยืนที่แท้จริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีการรวมกลุ่มที่ถูกกีดกันทั้งหมด

กลุ่ม LGBTQ+ สามารถเป็นเสียงที่สำคัญของเป้าหมายที่ 3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) เพราะในหลายประเทศความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในชุมชน LGBTQ+ รวมถึงอัตราปัญหาสุขภาพจิตที่สูงขึ้น การติดเชื้อ HIV/AIDS และอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ นโยบายและบริการสุขภาพที่ครอบคลุมเป็นสิ่งจำเป็นในการปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพสำหรับบุคคล LGBTQ+

นอกจากนั้น เป้าหมายที่ 4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) ก็เป็นประเด็นที่สำคัญมาก และเกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQ+ บ่อยครั้ง เพราะการกลั่นแกล้งและการเลือกปฏิบัติในสถานศึกษาเนื่องจากเพศที่แตกต่างอาจขัดขวางผลการเรียนและสุขภาพจิตของนักเรียน LGBTQ+ การส่งเสริมนโยบายการศึกษาที่ครอบคลุมและสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จของพวกเขา

เป้าหมายที่ 5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) ความเท่าเทียมทางเพศไม่สามารถบรรลุได้หากไม่แก้ไขสิทธิของบุคคลข้ามเพศและบุคคลที่ไม่ระบุเพศ การยอมรับทางกฎหมายและการคุ้มครองจากความรุนแรงทางเพศเป็นองค์ประกอบสำคัญของเป้าหมายนี้

และเป้าหมายที่ 10 (ลดความไม่เท่าเทียม) การลดความไม่เท่าเทียมเกี่ยวข้องกับการแก้ไขการเลือกปฏิบัติตามรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ นโยบายที่ส่งเสริมการรวมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าโอกาสที่เท่าเทียมสำหรับบุคคล LGBTQ+

เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ รัฐบาล องค์กร และชุมชนต้องดำเนินการเฉพาะเพื่อรวมบุคคล LGBTQ+ ในความพยายามพัฒนา เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่เท่าเทียมและยั่งยืนสำหรับทุกคน และทำให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง