‘ฝรั่งเศส’ เจอพิษ ‘อากาศสุดขั้ว’ เก็บองุ่นได้น้อย กระทบอุตสาหกรรม ‘ไวน์’
ปี 2024 เป็นหนึ่งในปีที่มีสภาพอากาศแปรปรวนมากที่สุด ซึ่ง “ยุโรป” ที่เจออากาศหลากหลายประเภททั้งภัยแล้ง คลื่นความร้อน พายุฝน และน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อ “ไร่องุ่น” ในฝรั่งเศส อาจมีผลทำให้ปริมาณและคุณภาพของ “ไวน์” ลดลง
KEY
POINTS
- ฝรั่งเศสเจอน้ำค้างแข็งถล่ม พายุลูกเห็บ 2 ลูก และฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้ไร่องุ่นได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังเกิดโรคเชื้อราอีกด้วย
- ในปี 2024 จะมีไวน์ราว 39.3 ล้านเฮกโตลิตร ต่ำกว่าในปี 2023 ถึง 18% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ 11%
- ปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งจะเกิดขึ้นได้บ่อยขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปี 2024 เป็นหนึ่งในปีที่มีสภาพอากาศแปรปรวนมากที่สุด ซึ่ง “ยุโรป” ที่เจออากาศหลากหลายประเภททั้งภัยแล้ง คลื่นความร้อน พายุฝน และน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อ “ไร่องุ่น” ใน ฝรั่งเศส อาจมีผลทำให้ปริมาณและคุณภาพของ “ไวน์” ลดลง
สภาพอากาศเลวร้าย ที่ไม่สามารถคาดเดาได้เกิดขึ้นตลอดปี 2024 มีทั้งน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ รวมถึงเชื้อราอันตรายที่แพร่กระจายไปทั่ว ทำให้ไร่องุ่น Domaine Roland Lavantureux เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียง 9 วัน ซึ่งน้อยกว่าปกติถึงครึ่งหนึ่ง
“ผมทำงานมาตั้งแต่ปี 2010 นี่คือปีที่ยากลำบากที่สุดสำหรับผม และคนรุ่นเก่าทุกคนพูดเหมือนกันว่าปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากมากเพราะสภาพอากาศคาดเดาไม่ได้ เราไม่หนีมันได้เลย”
เดวิด ลาวองตูรูซ์ ผู้ผลิตไวน์รุ่นสองของแบรนด์ Lavantureux กล่าว
หายนะทั้งหมดเริ่มขึ้นในเดือนเมษายนที่เกิดเหตุการณ์น้ำค้างแข็งถล่ม จากนั้นในเดือนพฤษภาคมต้องเจอกับพายุลูกเห็บ 2 ลูก ตามด้วยฝนตกหนักต่อเนื่องจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ทำให้ไร่องุ่นประมาณ 6,250 ไร่ ในเขตชาบลีส์ได้รับผลกระทบ และความชื้นที่มากเกินไปทำให้เชื้อราที่ทำลายล้างเจริญเติบโตได้ ตามข้อมูลของสหพันธ์ไวน์เบอร์กันดี
เชื้อราและอากาศสุดขั้วทำร้าย “องุ่น”
โรคเชื้อรา จะทำให้พืชผลเสียหายจำนวนมาก และยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพไวน์อีกด้วย เดวิดต่อสู้อย่างหนักเพื่อควบคุมเชื้อราด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่ได้ผล เพราะสูญเสียผลผลิตไปราว 60-65%
ผลกระทบจากสภาพอากาศไม่ได้หยุดอยู่แค่ไร่องุ่น Lavantureux เท่านั้น โรคราน้ำค้าง (Downy mildew) ร่วมกับน้ำค้างแข็งและลูกเห็บ ทำให้ผลผลิตโดยรวมลดลง กระทรวงเกษตรของฝรั่งเศสประเมินว่า ในปี 2024 จะมีไวน์ราว 39.3 ล้านเฮกโตลิตร ต่ำกว่าในปี 2023 ถึง 18% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ 11%
ภูมิภาคบูร์กอญที่ตั้งของไร่องุ่นของชาบลีส์ มีสภาพอากาศที่เหมาะสมแก่การปลูกองุ่น เพราะมีฤดูหนาวที่หนาวเย็น ฤดูร้อนที่ร้อนอบอ้าว และปริมาณน้ำฝนประจำปีระหว่าง 650-700 มิลลิเมตร แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป มีอากาศอบอุ่นผิดฤดู ฝนตกมากขึ้น และน้ำค้างแข็งในฤดูใบไม้ผลิที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพลดลง บางส่วนก็ยังมีความเป็นกรดมากขึ้น และยังสุกไม่ได้ที่
คุณภาพผลผลิตที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดความท้าทายในการผลิตไวน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป้าหมายของ Lavantureux ยังคงเป็นการทำไวน์เพื่อให้สมดุลสมบูรณ์แบบที่สุดในที่สุด แม้สุดท้ายแล้วจะมีไวน์ออกจำหน่ายน้อยกว่าปรกติก็ตาม โดยเฉพาะ “Millésime” แชมเปญที่ผลิตด้วยองุ่นในปีเดียวกันถึง 85% และต้องผลิตในปีเดียวกัน
หาทางสู้กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
น้ำค้างแข็งเกิดขึ้นบ่อยในฝรั่งเศสในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้แก่ไร่องุ่น ทั้งในแง่ผลผลิตและรายได้จำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งจะเกิดขึ้นได้บ่อยขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“เราเคยคิดว่าถ้าโลกร้อนขึ้น ชาบลีส์ก็จะปลอดภัยจากน้ำค้างแข็ง แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะน้ำค้างแข็งกลับมาอีกและรุนแรงกว่าเดิม” ลาวองตูรูซ์กล่าว
ผู้ผลิตไวน์พยายามปรับตัวหาวิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์มาใช้ในการปรับตัว เช่น การตัดแต่งองุ่นในภายหลังจากเก็บเกี่ยว ซึ่งจะช่วยชะลอการแตกหน่อของต้นองุ่น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำค้างแข็งในช่วงปลายฤดู รวมถึงปลูกองุ่นให้ใบที่อยู่เหนือผลองุ่นใหญ่ขึ้น เพื่อช่วยปกป้ององุ่นจากแสงแดดที่แผดเผาในช่วงฤดูร้อน
ในช่วงที่เกิดน้ำค้างแข็ง เกษตรกรให้ความอบอุ่นแก่องุ่น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น การจุดเทียน และติดตั้งไฟฟ้า รวมถึงฉีดน้ำบนตาดอก เพื่อสร้างชั้นน้ำแข็งบาง ๆ ช่วยให้ดอกไม้มีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณจุดเยือกแข็ง แต่ไม่ลดลงต่ำกว่านี้มากนัก
นอกจากนี้ยังมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันลูกเห็บทั่วทั้งภูมิภาคเบอร์กันดี เพื่อลดความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ลาวองตูรูซ์กล่าวว่า “อุปกรณ์นี้ช่วยลดความเสี่ยงได้ แต่ไม่สามารถป้องกันได้ 100% ปีนี้เราเจอพายุลูกเห็บหลายครั้ง และมีสองครั้งที่รุนแรงเป็นพิเศษ”
ที่มา: AP News, BBC, Independent