เปิดสาเหตุน้ำท่วม ‘เชียงใหม่’ ฝนตกหนัก มวลอากาศเย็น ‘ปะทะ’ ลมมรสุม
“ทีมกรุ๊ป” เผยสาเหตุฝนตกหนักช่วงวันที่ 3-6 ต.ค.ที่ผ่านมา เกิดจากมวลอากาศเย็นจากจีนพัดมาปะทะลมมรสุมจากฝั่งอันดามัน
สถานการณ์น้ำท่วม จ.เชียงใหม่ ที่เกิดขึ้นทำให้มีการเฝ้าระวังแม่น้ำปิงเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังแม่น้ำปิง ในช่วงวันที่ 3-6 ต.ค.2567 เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงและแม่น้ำสาขาเพิ่มสูงขึ้นมีแนวโน้มล้นตลิ่ง
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประเมินว่า ระดับน้ำแม่น้ำปิง จะเข้าสู่ตลิ่ง ในช่วงวันที่ 8-9 ต.ค.2567
นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทีมกรุ๊ป กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า โดยลักษณะอากาศที่ปกติในตอนนี้ภาคเหนือจะเกิดฝนไล่ช้างตกอยู่ประมาณ 20 มิลลิเมตร โดยปกติแล้วจะหายไป
แต่ในตอนนี้สถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่เข้าขั้นวิกฤตเนื่องจากมีน้ำระรอกใหม่เข้ามาและน้ำเก่าที่ยังระบายไม่หมด โดยระดับน้ำไม่น่าสูงมากกว่า 5.30 เมตร
ทั้งนี้ข้อมูลจากสถานีวัดน้ำระบุว่าน้ำจาก แม่น้ำแม่แตง แม่น้ำกึดแม่น้ำปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว ที่รวมกันก่อนจะเข้าตัวเมืองมีระดับที่ลดลงแต่ยังไม่ได้ดูในตลิ่ง ซึ่งระดับน้ำยังอยู่ในระดับ 1 เมตรกว่า อย่างน้อยต้องใช้เวลา 2-3 วันจึงจะลดลง ระดับน้ำฝนที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่น้อยลงเมื่อเทียบจากวันที่ 4 ต.ค. ผ่านมา ในเมืองเชียงใหม่ตกไม่ถึง 10 มิลลิเมตร
สำหรับน้ำที่ไหลเข้ามาท่วมนั้น เกิดจากน้ำจากฝนตกนอกเมืองเชียงใหม่ทางตอนเหนือของจังหวัด มาจากต้นน้ำ ในแม่น้ำแม่แตง แม่น้ำกึด แม่น้ำปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าวที่ไหลลงมารวมกัน
ส่วนฝนที่ตกมานั้นเกิดจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนกดลงมาเป็นความเย็นลงมาปะทะมรสุมความชื้น ซึ่งมาปะทะในจังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร ตลอดจนถึงพระนครศรีอยุธยา
สถานการณ์ดังกล่าวเกิดการปะทะในลักษณะแนวตั้ง มาปะทะมรสุมความชื้นที่อยู่ในฝั่งอันดามันในประเทศเมียนมาที่พัดมาไทย ซึ่งที่มีมรสุมความแรงแรงพอๆ กัน ทำให้เกิดฝนตกหนักในช่วง 2 วันที่ผ่านมา
"ปกติถ้ามวลอากาศที่มีกำลังต่างกันมาปะทะกันจะเกิดการฮุบแล้วหายไปในที่สุด จะทำให้เกิดฝนตกนิดเดียวในลักษณะที่อากาศปกติ" นายชวลิต กล่าว
นอกจากนี้น้ำที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่นั้นจะถูกกักเก็บในเขื่อนภูมิพลทั้งหมดจะไม่ไหลลงมาในภาคกลางอย่างแน่นอนส่วนในอนาคตยังต้องจับตา ฝนตกหนักและมรสุมในภาคกลางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต